:::     :::

สึนามิ'โควิด-19'

วันอังคารที่ 12 พฤษภาคม 2563 คอลัมน์ ลูกหนังนอกกรอบ โดย JOKE
1,213
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
เรอัล มาดริด ยักษ์ใหญ่ของลีกาได้รับผลกระทบรอบด้านทั้งทางตรงและทางอ้อมจากวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส'โควิด-19'

ฟุตบอลถูกระงับการแข่งขันไปนานกว่า 2 เดือนเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส'โควิด-19' จนเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้าทั้งสโมสรน้อยใหญ่ที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายต่อเนื่องโดยไม่มีรายได้เข้าทีม 

แหล่งรายได้ของสโมสรมาจากหลายทางโดยเฉพาะค่าตั๋วชมเกม, การขายสินค้าที่ระลึกและลิขสิทธิ์โทรทัศน์ที่ขาดหายไปในช่วงนี้เนื่องจากไม่มีเกมแข่งขัน ดังนั้นแต่ละทีมจึงหาทางลดค่าใช้จ่ายบางส่วนที่สามารถทำได้และหนึ่งในนั้นคือการลดค่าจ้างนักเตะ 

นับเฉพาะ 3 สโมสรยักษ์ใหญ่ของเมืองกระทิงอย่าง เรอัล มาดริด, บาร์เซโลน่า และ แอตเลติโก มาดริด ที่ต่างแบกรับภาระจ่ายค่าจ้างนักเตะจำนวนมากจึงมีความจำเป็นต้องใช้แนวทางดังกล่าวเพื่อรักษาสมดุลทางการเงินของสโมสรที่สูญเสียรายได้ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสและอีกหลายเดือนข้างหน้า แม้ว่าเกมลีกาจะกลับมารีสตาร์ทก็ตาม แต่ยังไม่มีรายได้จากค่าตั๋วเข้าชมเกมเนื่องจากจะเป็นการแข่งขันแบบปิดสนาม


แอตเลติโก มาดริด นำร่องด้วยการทำข้อตกลงกับนักเตะและสตาฟฟ์โค้ชยอมลดค่าจ้างจำนวนหนึ่ง ตามมาด้วย บาร์เซโลน่า ที่เจรจากับกลุ่มนักเตะในสังกัดก่อนนำมาซึ่งการทำข้อตกลงลดค่าจ้างมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากสโมสรแบกรับภาระจ่ายค่าเหนื่อยของนักเตะสูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์จากรายได้แต่ละปีของสโมสร

ส่วน เรอัล มาดริด สั่งลดค่าจ้างนักเตะ 10 เปอร์เซ็นต์ในช่วงฤดูกาล 2019-2020 แต่ด้วยผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤติไวรัสโคโรน่าแบบต่อเนื่อง ฝ่ายบริหารของทีมชุดขาวยังต้องการลดค่าเหนื่อยนักเตะอีก 30 เปอร์เซ็นต์ในช่วงฤดูกาลหน้าและมาตรการนี้จะใช้กับฝ่ายบริหารและพนักงานทุกคน แต่ไม่นับรวมเจ้าหน้าที่เสริมมากกว่า 800 คนที่ทำงานในสนาม'ซานติอาโก้ เบร์นาเบว'และในบางพื้นที่ของสโมสร

ทุกสโมสรของ ลา ลีกา และ คู่ค้าของพวกเขาทั่วยุโรปต่างถูกบังคับให้ตัดงบประมาณเนื่องจากวิกฤต'โควิด-19' ที่กินเข้าไปถึงเนื้อในของเศรษฐกิจของกีฬาทั้งด้านการตลาดและการขายสินค้าที่ระลึกที่สัมผัสได้ถึงการสูญเสียมากขึ้น 


กรณีของ เรอัล มาดริด มีงบประมาณของสโมสรสำหรับฤดูกาลนี้จำนวน 822 ล้านยูโร แบ่งเป็น 161 ล้านยูโรจากตั๋วปีและการขายตั๋วแมตช์แข่งแต่ละครั้ง, 109 ล้านยูโรจากเกมกระชับมิตรและทัวร์นาเมนต์, 180 ล้านยูโรจากค่าลิขสิทธิ์ทีวี และ 372 ล้านยูโรจากค่าการตลาดต่างๆ จากการประเมินระบุว่าทีมชุดขาวจะสูญเสียรายได้ราว 20 เปอร์เซ็นต์หรือประมาณ 164 ล้านยูโรจากวิกฤต'โควิด-19'  

ขณะที่พวกเขามีรายจ่ายต่อปีราว 741 ล้านยูโร นั่นหมายความว่าสโมสรจะมีรายจ่ายเกินกว่ารายรับราว 83 ล้านยูโร ในกรณีที่ฤดูกาลนี้ไม่สามารถกลับมารีสตาร์ทได้อย่างที่คาดหวัง

เรอัล มาดริด แบกรับภาระค่าจ้างนักเตะทีมชุดใหญ่แต่ละปี 283 ล้านยูโร ซึ่งอาจรวมถึง เรอัล มาดริด กาสตีย่า และ ฝ่ายบริหารสโมสร ถ้าหากสโมสรลดค่าจ้าง 30 เปอร์เซ็นต์ในฤดูกาลหน้าจะช่วยเซฟเงินถึง 100 ล้านยูโรต่อปี 


ยกตัวอย่าง 2 ผู้เล่นที่รับค่าจ้างมากสุดของสโมสรอย่าง แกเร็ธ เบล กับ เซร์คิโอ รามอส ซึ่งคาดว่าทั้งคู่รับค่าจ้างปีละ 14.5 ล้านยูโร ถ้าหากสโมสรลดค่าเหนื่อยลง 30 เปอร์เซ็นต์ ทั้ง เบล กับ รามอส จะรับค่าจ้างเหลือเพียง 10 ล้านยูโรต่อปี ส่วนนักเตะที่เหลือจะรับค่าจ้างลดหลั่นกันไป 

การลดค่าจ้าง 30 เปอร์เซ็นต์สามารถช่วยบรรเทาปัญหาทางการเงินที่ เรอัล มาดริด กำลังเผชิญอยู่เนื่องจากการขาดรายจาก'แมตช์ เดย์', การปิดพิพิธภัณฑ์, การทัวร์สโมสรและร้านขายสินค้าที่ระลึก 

ปัจจุบัน เรอัล มาดริด มีสัญญากับ 14 บริษัทที่สนับสนุนพวกเขา แต่มีเพียง อาดิดาส กับ สายการบิน เอมิเรตส์ เท่านั้นที่เป็นสปอนเซอร์หลัก หลังทีมชุดขาวเซ็นสัญญาใหม่กับ อาดิดาส เมื่อปี 2019 ที่มีอายุจนถึงปี 2028 มูลค่า 100 ล้านยูโรต่อปี ซึ่งอาจรวมโบนัสที่มีมูลค่าถึง 50 ล้านยูโรต่อปี ขณะที่สายการบินของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มอบเงินสนับสนุนปีละ 70 ล้านยูโร 


ทว่าทั้ง อาดิอาส กับ สายการบินเอมิเรตส์ กำลังเผชิญวิกฤตไม่ต่างจาก เรอัล มาดริด เช่นกัน ทั้งสององค์กรกำลังได้รับผลกระทบทางการเงินแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเนื่องจากวิกฤตไวรัสโคโรน่า 

อาดิดาส ต้องกู้ยืมเงินจำนวน 2.4 พันล้านยูโรจากรัฐบาลเยอรมัน ขณะเดียวกันยังมีการพูดคุยถึงการระดมทุนอีก 600 ล้านยูโรด้วย ส่วนอุตสาหกรรมการบินกำลังเผชิญภาวะวิกฤตทั่วโลก จากการประเมินของ'ไฟแนนเชียล ไทม์ส'คาดการณ์ว่าสายการบินทั่วโลกจะขาดทุนในปีนี้รวมกันไม่น้อยกว่า 289 พันล้านยูโร 

แม้กระทั่งสายการบินยักษ์ใหญ่อย่าง'เอมิเรตส์'ก็ไม่มีข้อยกเว้นทำให้บริษัทจำเป็นต้องปรับลดเงินเดือนของพนักงานกว่า 105,000 คนถึง 50 เปอร์เซ็นต์ 


อีกหนึ่งบริษัทที่ไม่ใช่ผู้สนับสนุนหลักของ เรอัล มาดริด แต่กลุ่ม โฟล์คสวาเก้น ซึ่งเป็นเจ้าของ 'ออดี้' สปอนเซอร์ของทีมชุดขาวก็กำลังเผชิญกับการปรับตัวอย่างรุนแรง ซึ่งมีการปรับลดกำลังการผลิตลง 25 เปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกับ ฮานกุ้ก บริษัทผลิตยางรถยนต์ของเกาหลีใต้ และ เตกาเต้ บริษัทผลิตเหล้าของเม็กซิโก 

ส่วน ซานีตาส ผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพของสเปนที่มีกิจกรรมลดลง 80 เปอร์เซ็นต์ และ กลุ่มโรงแรม ปายาเดียม กรุ๊ป ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนทีมบาสเกตบอลของ เรอัล มาดริด ปีละ 7 ล้านยูโรต่างได้รับผลกระทบไม่น้อยเช่นกัน 

จากสถานการณ์เกี่ยวกับผู้สนับสนุนรายใหญ่และรายย่อยของสโมสรกำลังได้รับผลกระทบจากวิกฤต'โควิด-19' ทำให้ฝ่ายบริหารของ เรอัล มาดริด แสดงความกังวลว่า 'หากไม่มีฟุตบอลในเร็ววันนี้ บรรดาสปอนเซอร์อาจหามองเรียกเงินบางส่วนกลับคืนหรือทำการปรับเปลี่ยนสัญญาของพวกเขา' 


วิกฤต'โควิด-19'ยังส่งผลกระทบต่อแผนการทำทีมสำหรับซีซั่น 2020-2021 ของ ซีเนดีน ซีดาน แบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากทีมชุดขาวคงไม่ลงทุนซื้อนักเตะที่มีค่าตัวแพงกระฉูดเหมือนที่เคยทำตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา 

ก่อนนำมาซึ่งข่าวการถอนความสนใจในการเซ็นสัญญากับ ปอล ป็อกบา จาก แมนฯยูไนเต็ด แม้ว่านักเตะจะตกเป็นเป้าหมายของ ซีดาน มาเป็นเวลานานก็ตาม แต่ ฟลอเรนตีโน่ เปเรซ ประธานทีมชุดขาวไม่มีงบประมาณมากพอสำหรับการจ่ายค่าตัวและค่าจ้างนักเตะ 

เรอัล มาดริด ยังยกเลิกแผนการเซ็นสัญญาถาวรกับ อัลฟงส์ อาเรโอล่า นายทวารชาวฝรั่งเศสที่ย้ายมาจาก ปารีส แซงต์ แชร์กแมง ด้วยสัญญายืมตัวด้วย แม้ว่า ซีดาน จะชื่นชอบผลงานของผู้รักษาประตูวัย 27 ปี ฐานะแบ็คอัพของ ติโบต์ กูร์กตัวส์ ก็ตาม พร้อมปรับแผนด้วยการเตรียมดึง อันเดรย์ ลูนิน นายทวารดาวรุ่งชาวยูเครเนียนกลับมาจาก เรอัล โอเบียโด้ เพื่อกลับมาเป็นมือสองในซีซั่นหน้า


แน่นอนว่าแผนการลดภาระค่าใช้จ่ายลำดับต่อไปคือการปล่อยนักเตะที่อยู่นอกเหนือแผนการทำทีมของเทรนเนอร์ชาวฝรั่งเศส ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกันเนื่องจากทุกสโมสรต่างประสบปัญหาเรื่องเงินในช่วงเวลานี้ทั้งสิ้น โดยเฉพาะพวกที่กำลังเข้าสู่ปีสุดท้ายของสัญญาอย่าง ฮาเมส โรดรีเกซ กับ ลูกัส บาซเกซ 

ฮาเมส เพลย์เมกเกอร์ทีมชาติโคลอมเบียวัย 28 ปี ไม่ประสบความสำเร็จในฐานะนักเตะของ เรอัล มาดริด นับตั้งแต่ย้ายมาจาก โมนาโก ในช่วงซัมเมอร์ปี 2014 เขาถูกปล่อยไปเล่นกับ บาเยิร์น มิวนิค ด้วยสัญญายืมตัว 2 ปีก่อนหน้านี้ แต่ทีมเสือใต้ไม่ใช้เงื่อนไขเซ็นสัญญาถาวรก่อนปล่อยนักเตะกลับต้นสังกัดในซีซั่นนี้ 

อย่างไรก็ตาม เรอัล มาดริด คงไม่สามารถเรียกค่าตัวนักเตะอย่างที่ต้องการเนื่องจาก ฮาเมส เหลือสัญญาจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2021 เท่านั้น หากพวกเขาปล่อยให้เวลายืดเยื้อก็อาจจะเสียนักเตะแบบไม่มีค่าตัวจึงต้องรีบขายในช่วงซัมเมอร์นี้เพื่อลดภาระค่าจ้างนักเตะและยังได้เงินค่าตัวมาช่วยบรรเทาปัญหาของสโมสรในระดับหนึ่ง 


เช่นเดียวกับ ลูกัส บาซเกซ ปีกวัย 28 ปีที่มีบทบาทในทีมของเทรนเนอร์ชาวฝรั่งเศสไม่มากนัก นอกจากนี้ เรอัล มาดริด คงต้องยอมขาดทุนเพื่อปล่อย มาเรียโน่ ดีอาซ กองหน้าตัวสำรองออกจากถิ่น'ซานติอาโก้ เบร์นาเบว'เช่นกัน หลังจ่ายเงิน 23 ล้านยูโรดึงกลับมาจาก ลียง ในช่วงซัมเมอร์ปี 2018 แต่นักเตะมีโอกาสลงเล่นรวมกันเพียง 37 เกมตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา 

ขณะที่สถานการณ์ของ แกเร็ธ เบล ยังไม่แตกต่างไปจากเดิม แม้ทัพ'โลส บลังโกส'อยากจะปลดล็อกค่าจ้างจำนวนมหาศาลของแนวรุกชาวเวลส์มากแค่ไหนก็ตาม แต่นักเตะยืนยันชัดเจนว่าต้องการอยู่จนครบสัญญาจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2022 


ทัพ'โลส บลังโกส'ยังต้องปล่อยนักเตะในสังกัดออกจากทีมอีกหลายคน อาทิ นาโช่ เฟร์นานเดซ กับ บราอิม ดีอาซ รวมถึงพวกที่ปล่อยย้ายมาเล่นกับสโมสรอื่นด้วยสัญญายืมตัวอย่าง ดาเนียล เซบายอส, เซร์คิโอ เรกีลอน, อัลบาโร่ โอดรีโอโซล่า หรือ อาชราฟ ฮาคิมี่ อาจรวมถึง ลูก้า โยวิช กองหน้าชาวเซิร์บที่พวกเขาทุ่มเงิน 60 ล้านยูโรดึงมาจาก แฟร้งค์เฟิร์ต ในช่วงซัมเมอร์ปีก่อนด้วย 

จากวิกฤต'โควิด-19'ที่กลายเป็นสึนามิเล่นงานระบบเศรษฐกิจของวงการฟุตบอลทั้งทางตรงและทางอ้อมทำให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องพยายามดิ้นรนให้ฤดูกาลกลับมารีสตาร์ทอีกครั้งเพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจของวงการลูกหนังแม้ว่ามันอาจจะสุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัยของชีวิตผู้คนโดยเฉพาะนักเตะ, สตาฟฟ์เทรนเนอร์และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องก็ตาม


คอลัมน์กีฬาบทความกีฬาต่างๆโดยนักวิเคราะห์ GURUชั้นนำของไทย มีให้ท่านได้เสพทุกวันที่เว็บไซต์ TH SPORT

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด