สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีแผนช่วยเหลือให้สโมสรในระดับ โตโยต้า ไทยลีก สามารถใช้เทคโนโลยี Video Assistant Referee หรือ VAR ต่อไปได้อีกอย่างน้อยสโมสรละ 2 นัด จนกระทั่งจบฤดูกาล 2018
ช่วงที่ผ่านมา ทางสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ และ บริษัท ไทยลีก จำกัด ได้นำเทคโนโลยี VAR รวมถึงการมีผู้ตัดสินที่ 5 และ 6 ทำหน้าที่หลังประตู (Additional Assistant Referee หรือ AAR) มาทดลองใช้เพื่อช่วยผู้ตัดสินในการทำหน้าที่ โดยตลอด 8 สัปดาห์ที่ผ่านมา ระบบ VAR ได้ถูกนำมาใช้ทั้งหมด 8 แมตช์ และ AAR ทั้งหมด 17 แมตช์
ซึ่งหลังจากที่สมาคมฯได้สิ้นสุดระยะเวลาทดลองเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา เพื่อรอประกาศใช้อย่างเป็นทางการจากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ก็ได้มีเสียงตอบรับจากสโมสรให้มีการใช้เทคโนโลยี VAR และ AAR ต่อไปจนจบฤดูกาล 2018
โดยทาง พล.ต.อ.ดร. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมฯ ก็มีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า "ในการประชุมร่วมกับตัวแทนสโมสรจาก เราก็ได้มีการพูดคุยหารือกันเพราะว่ายังมีข้อจำกัดในการใช้ เนื่องจากทรัพยากรยังมีจำกัด”
“ผู้ตัดสินในประเทศไทยมี 40 คนที่ผ่านการทดสอบร่างกาย และภาคทฤษฎี จนสามารถทำหน้าที่ VAR และ AAR ได้ ซึ่งการใช้ VAR แมตช์หนึ่ง เราต้องใช้ผู้ตัดสินเพิ่มอีกสองคน ถ้าหากต้องใช้ทั้งหมดทุกคู่ต่อสัปดาห์ แม้เราจะมีอุปกรณ์ครบ แต่เราก็ยังใช้ไม่ได้ เพราะจำนวนบุคลากรไม่พอ”
โดยผู้ตัดสินที่ทำหน้าที่ VAR จะเป็นผู้ตัดสินระดับเดียวกับผู้ตัดสินที่ 1 ที่ทำหน้าที่กลางสนาม เนื่องจากจะต้องให้สัญญาณแก่ผู้ตัดสินที่ 1 รับทราบถึงจังหวะปัญหา ทำให้จำนวนผู้ตัดสิน VAR ยังมีไม่เพียงพอ ขณะที่ AAR คือหนึ่งในทีมงานผู้ช่วยผู้ตัดสินเช่นเดียวกับผู้กำกับเส้น
และด้วยเหตุผลนี้เอง สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ จึงพยายามสนับสนุนผู้ตัดสินหน้าใหม่ที่มีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น
“นี่คือสิ่งที่สมาคมฯ ต้องเร่งดำเนินการ ในการอบรมผู้ตัดสิน และพยายามผลักดันผู้ตัดสินล่างๆขึ้นมา ทำหน้าที่ในระดับสูงสุด ซึ่งมันก็ต้องใช้เวลาในการสร้างประสบการณ์" พล.ต.อ. ดร. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง กล่าวเสริม
ส่วน กรวีร์ ปริศนานันทกุล รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดการแข่งขัน บริษัท ไทยลีก จำกัด กล่าวว่า "สำหรับระบบ VAR และ AAR เราได้ประกาศไปก่อนหน้านี้ว่าในวันที่ 1 เมษายน เป็นนัดสุดท้ายในการทดลองใช้ ซึ่งได้ข้อสรุปว่าทางสมาคมฯ จะมีนโยบายให้ทุกสโมสร ได้ใช้ในการเล่นเป็นทีมเหย้าสองครั้งหลังจากนี้จนจบฤดูกาล 2018 โดยทางไทยลีกเองก็จะจัดหาผู้ให้บริการเทคโนโลยี VAR มาให้ได้ตามที่ร้องขอ หลังจากในช่วงที่่ผ่านมาได้มีการทำหนังสือสอบถามกับทางสโมสรถึงจำนวนนัดที่จะใช้"
“ซึ่งหากสโมสรใดต้องการมากกว่าสองนัดก็ให้ทำหนังสือมายัง บริษัท ไทยลีก จำกัด โดยในส่วนของค่าใช้จ่าย ทางสมาคมฯก็จะมีการหักจากเงินสนับสนุนงวดสุดท้าย เพื่อให้ทุกสโมสรมีโอกาสใช้อย่างเท่าเทียมกัน"
"เรามีข้อจำกัดหลายเรื่องที่ใช้ไม่ได้ทุกคู่ ไม่ว่าจะเป็น อุปกรณ์ และ จำนวนผู้ตัดสิน เพราะการใช้ VAR ต้องมีผู้ตัดสินที่่ไปประจำในห้อง VAR ดังนั้นเราก็ต้องวางแผนเพื่อให้ทุกสโมสรได้ใช้อย่างเท่าเทียมกัน เพื่อยกระดับฟุตบอลอาชีพ ในประเทศไทย"
"ในส่วนของ AAR ทางสโมสรสามารถแสดงความจำนงเพื่อให้ทางสมาคมฯพิจารณา และจัดสรรตามที่สโมสรร้องขอมาต่อไป"
ส่วนทางด้านของ พาทิศ ศุภะพงษ์ รองเลขาธิการฝ่ายต่างประเทศและโฆษกสมาคมฯ กล่าวเสริมว่า "สำหรับ VAR หลังผ่านโตโยต้า ไทยลีก ไปแล้ว 8 สัปดาห์ เราใช้ไปแล้วทั้งหมด 8 คู่ และ AAR 17 คู่ ซึ่งหลังจากนี้ตามนโยบายเราจะหยุดใช้ทั้งสองเทคโนโลยีดังกล่าว และเตรียมปรับเป็นว่าหากสโมสรใด ต้องการจะใช้เทคโนโลยีดังกล่าว ให้แสดงความต้องการมา ซึ่งตอนนี้มี 29 แมตช์ที่ทำการร้องขอใช้เทคโนโลยี VAR ขณะที่ AAR มีที่ยื่นแสดงเจตจำนงมา 16 แมตช์ด้วยกัน"
"ในส่วนของทางสมาคมฯเองก็มีความสนใจที่จะใช้เทคโนโลยี VAR เพราะทำให้ทุกคนสบายใจมากขึ้น เนื่องจากมีหลักฐานในการตัดสิน และทำให้ผู้ตัดสินมีผู้ช่วยเพิ่มเติม"
"ทางสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือฟีฟ่า จะมีการประเมินว่าควรนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้หรือไม่หลังจบฟุตบอลโลก ซึ่งหากผ่านการพิจารณา ก็จะมีการระบุลงไปในหนังสือ Laws of the game จะมีการอัพเดตอย่างเป็นทางการในช่วงเดือนสิงหาคม และทางประเทศไทยก็จะนำมาใช้ในฤดูกาลถัดไป"