ก้าวสำคัญของปืนใหญ่ในเวทียุโรป
เป็นก้าวใหญ่ก้าวสำคัญเพราะเป็นสิ่งที่สโมสรทำได้เป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปี
ในช่วง 14 ปีที่ผ่านมา อาร์เซน่อล ต้องพบความผิดหวังซ้ำซากด้วยการตกรอบ 16 ทีมสุดท้ายถึง 7 ครั้งติดต่อกัน
2011: แพ้ บาร์เซโลน่า
2012: แพ้ เอซี มิลาน
2013: แพ้ บาเยิร์น มิวนิค
2014: แพ้ บาเยิร์น มิวนิค
2015: แพ้ โมนาโก
2016: แพ้ บาร์เซโลน่า
2017: แพ้ บาเยิร์น มิวนิค
ปืนใหญ่ดีพอผ่านรอบแบ่งกลุ่มได้ แต่พอจับสลากเจอ บาเยิร์น มิวนิค หรือ บาร์เซโลน่า ในรอบน็อกเอาต์ก็ทำใจล่วงหน้ากันได้เลยว่า "ไม่รอด" หรือในบางปีที่คิดว่าโชคดีได้เจอกับ โมนาโก แต่บทสรุปเหมือนเดิมตกรอบตามเคย
รอบ 16 ทีมสุดท้ายแชมเปี้ยนส์ ลีก จึงเหมือนกำแพงสูงชันที่ อาร์เซน่อล ไม่เคยปีนข้ามได้ในช่วงหลัง และกลายเป็นฝันร้ายครั้งแล้วครั้งเล่า
จอร์จินโญ่ เจอการป้องกันแน่นหนา
ในการกลับมาเล่นถ้วยหูใหญ่อีกครั้งหลังห่างหายไปนาน 6 ปี อาร์เตต้า พาทีมผ่านรอบแบ่งกลุ่มไม่ยาก และได้เจอ ปอร์โต้ เป็นบททดสอบด่านอาถรรพ์
ความสุ่มเสี่ยงที่อาจตกรอบ 16 ทีมอีกครั้งมีความเป็นไปไม่น้อยหลังจบนัดแรกที่ ปอร์โต้ เป็นฝ่ายชนะได้ก่อน 1-0
อาร์เซน่อล ต้องชนะให้ได้สถานเดียวในการกลับมาเล่นในบ้านนัดสอง ไม่มีเงือนไขอื่นให้เลือก ขณะที่ ปอร์โต้ ขอเพียงแค่เสมอก็จะก้าวเท้าสู่รอบก่อนรองชนะเลิศ
ย้อนไปในนัดแรก อาร์เซน่อล ไม่สามารถกดดันหรือสร้างความอันตรายให้ ปอร์โต้ ลำบากใจมากนัก โดยตลอด 90 นาทีมีโอกาสลุ้นยิงเพียง 7 ครั้ง และ "ไม่เข้ากรอบ" แม้แต่ครั้งเดียว
เกมรับปอร์โต้แข็งแกร่งและยืนตำแหน่งกันดีมาก อาร์เซน่อล ต้องรอจนถึงนาที 33 ที่ได้โอกาสยิงครั้งแรก รูปเกมอึดอัด ไม่ลื่นไหล ต่างจากการเล่นในลีกที่รัวยิงคู่แข่งเป็นว่าเล่นจนชนะต่อเนื่อง
โจทย์ในนัดสองของ อาร์เซน่อล คือต้องโจมตีทีมเยือนจากโปรตุเกสให้ได้มากขึ้น ทะลายแนวรับของทีมที่เสียประตูน้อยสุดในลีกโปรตุเกสให้ได้
อาร์เตต้า เลือกให้ จอร์จินโญ่ เป็นตัวออกบอลตรงกลางซึ่งในนัดแรกที่อดีตแข้ง เชลซี เป็นแค่สำรอง อาร์เซน่อล ไม่มีบอลทะลุช่องหรือตักข้ามไลน์เลย ปอร์โต้ บีบให้ออกด้านข้างอย่างเดียวแล้วค่อยรุม บูคาโย่ ซาก้า และ กาเบรียล มาร์ติเนลลี่
ปอร์โต้ รู้ว่า อาร์เซน่อล จะใช้ จอร์จินโญ่ เจาะข้างในจึงแพ็คกองกลางมาแน่นยิ่งกว่าเดิม แล้วสลับกันเข้าบีบฟาวล์กองกลางทีมชาติอิตาลีไม่ให้ออกบอลได้ง่าย
ทรอสซาร์ ยิงได้เฉียบขาด
โอเดการ์ด แอสซิสต์ให้สุดยอดเช่นกัน
เกมนี้ จอร์จินโญ่ อยู่ในสนาม 74 นาที แต่ถูกทำฟาวล์ไป 4 ครั้ง เป็นรองแค่ บูคาโย่ ซาก้า (5 ครั้ง) ซึ่งเป็นเป้าหลักในการถูกคู่แข่งรุมอยู่แล้ว เพียงคนเดียว การเจาะตรงกลางจึงไม่ได้ดีขึ้นมากนักเมื่อเทียบกับนัดแรก
แต่จุดที่ทำได้ดีกว่าเดิมคือ "ด้านข้าง" ที่ ซาก้า และ เลอันโดร ทรอสซาร์ ซึ่งได้เล่นแทน มาร์ติเนลลี่ ที่เจ็บ มีโอกาสทั้งเลี้ยงไปยิงเองและเปิดให้เพื่อนได้ยิงรวมกันถึง 5 ครั้งในช่วง 15 นาทีแรก
ขณะที่ ปอร์โต้ รอจังหวะฉาบฉวยจากบอลยาว สลับกับการขึ้นเกมริมเส้นที่ผู้เล่นปีกมีความคล่องตัวสูงทั้ง กาเลโน่ คนยิงประตูชัยในนัดแรก และ ฟรานซิสโก้ คอนไซเซา ลูกชายของกุนซือ แซร์โจ้ คอนไซเซา
ประตูที่ อาร์เซน่อล รอคอยเกิดขึ้นในท้ายครึ่งแรกซึ่งต้องชม มาร์ติน โอเดการ์ด เป็นพิเศษกับการดึงหลอกถึงสองจังหวะจนเห็นช่องก่อนปล่อยบอลให้ เลอันโดร ทรอสซาร์ หลุดไปจับแล้วยิงได้เสียบเสาไกลได้สุดยอดไม่แพ้กัน
ปอร์โต้ ป้องกันพื้นที่ตรงนั้นได้ดีมากแล้ว ผู้เล่น 3-4 คนยืนซ้อนกันจนแทบไม่มีพื้นที่ว่าง แต่ที่ทำได้ดีกว่าคือการแอสซิสต์อันยอดเยี่ยมไร้ที่ติของ โอเดการ์ด ขณะที่ ทรอสซาร์ ก็วิ่งมาตามนัดโดยที่ปอร์โต้ไม่ได้ระวังมากนักเพราะคิดว่าน่าจะปิดช่องการจ่ายบอลของ โอเดการ์ด ได้
อาร์เซน่อล ได้ประตูในช่วงเวลาที่พอเหมาะพอดีก่อนหมดครึ่งแรกไม่กี่นาที ช่วงเวลาที่เหลือโดยเฉพาะตลอดครึ่งหลังคือการเดินหน้าบุกเอาประตูที่สองให้ได้เพื่อเป็นฝ่ายพลิกเข้ารอบด้วยประตูรวมที่ดีกว่า
ดาบิด ราย่า สวมบทฮีโร่เซฟ 2 จุดโทษในช่วงตัดสิน
แต่ด้วยการวางแผนการเล่นที่ดีของ ปอร์โต้ และนักเตะก็ "นิ่ง" มากพอ ไม่ตื่นตูมในเวลาโดนเพรสซิ่ง อีกทั้งกล้าครองบอล คลึงเล่น ดึงหลอกแบบมั่นใจ ทำให้ไม่โดน อาร์เซน่อล กดจนอยู่ในสถานการณ์หลังพิงฝา ขณะที่การเก็บกวาดคนสุดท้ายโดย เปเป้ ปราการหลังจอมเก๋าวัย 41 ปี ก็ทำได้ยอดเยี่ยมอีกครั้ง
ปืนใหญ่จึงไม่สามารถบวกประตูเพิ่มตามที่ต้องการได้ ขณะที่ผู้มาเยือนจากแดนฝอยทองก็หาจังหวะตอบโต้เป็นระยะจนท้ายที่สุดสกอร์ไม่ได้ขยับไปจาก 1-0 จึงต้องสู้กันต่ออีก 30 นาทีที่ต่างฝ่ายต่างเกร็งจนแทบไม่มีโอกาสลุ้นจะแจ้ง การดวลจุดโทษจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
นานมากแล้วที่แชมเปี้ยนส์ ลีก รอบน็อกเอาต์ ไม่ได้ตัดสินหาผู้ชนะกันด้วยจุดโทษ ครั้งสุดท้ายต้องย้อนกลับไปถึงนัดชิงชนะเลิศในปี 2016 ที่ เรอัล มาดริด ฝากรอยแผลให้คู่ปรับร่วมเมือง แอตเลติโก มาดริด
อาร์เซน่อล เตรียมตัวมาอยู่แล้วว่าอาจต้องลงเอยด้วยการยิงจุดโทษ อาร์เตต้า เปิดเผยว่าเขาเซตสถานการณ์ทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ทั้งการต่อเวลา บรรยากาศที่น่าจะเกิดขึ้น การเปลี่ยนตัว รวมไปถึงต้องกินต้องดื่มอะไรซึ่งสิ่งที่ยากคือทำให้ได้เมื่ออยู่ในสถานการณ์จริง
ในหลายครั้ง การดวลจุดโทษก็เหมือนซื้อลอตเตอรี่ มันมีเรื่องของ "ดวง" มาเกี่ยวข้อง แต่หากเตรียมตัวดีก็มีโอกาสที่จะสมหวังมากกว่าผิดหวัง
วินาทีแห่งการเป็น 1 ใน 8 ทีมดีสุดของยุโรป
มือสังหาร 4 คนแรกไล่ตั้งแต่ มาร์ติน โอเดการ์ด, ไค ฮาแวร์ตซ์, บูคาโย่ ซาก้า และ เดแคลน ไรซ์ ทำหน้าที่ได้สมบูรณ์แบบ โดย ซาก้า เป็นคนเดียวที่ผู้รักษาประตูเดาทางถูก แต่ด้วยการยิงที่คมกริมพุ่งเบียดเสาเข้าก็ไม่มีทางที่จะเซฟได้
ขณะที่ความหวังสูงสุดในการดวลจุดโทษคือตำแหน่งผู้รักษาประตู ดาบิด ราย่า ก็สวมบทฮีโร่ป้องกันลูกยิงของผู้เล่น ปอร์โต้ ได้ถึง 2 คน และเกือบเป็น 3 ด้วยซ้ำ กลายเป็นผลงานที่ชี้ขาดชัยชนะให้ทีมได้อย่างแท้จริง
อาร์เซน่อล ก้าวผ่านช่วงเวลาบีบหัวใจได้สำเร็จ ฝันร้ายรอบ 16 ทีมสุดท้ายที่เคยหลอกหลอนมานานหลายปี จบสิ้นลงเสียที พวกเขากลายเป็น 1 ใน 8 ทีมที่ดีสุดของยุโรปในเวลานี้
การผ่านเข้ารอบก่อนรองฯ ได้ทำให้ อาร์เซน่อล คว้ารายได้จากแชมเปี้ยนส์ ลีก ปีนี้ไปแล้วไม่ต่ำกว่า 90 ล้านยูโรซึ่งมากสุดที่เคยได้ต่อฤดูกาลนับตั้งแต่เคยเล่นถ้วยยุโรป แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้เม็ดเงินคือ "ประสบการณ์"
นักเตะกว่าค่อนทีมไม่เคยเล่นแชมเปี้ยนส์ ลีก รอบน็อกเอาต์มาก่อน และในครั้งแรกกับประสบการณ์ตรงนี้ พวกเขาก็ต้องถูกทดสอบอย่างถึงที่สุด หัวใจเต้นรัวจนแทบหลุดออกมากับวินาทีของการดวลจุดโทษ
"มันเป็นอีกก้าวใหญ่โดยเฉพาะในฐานะสโมสร ในช่วงเจ็ดปีที่ผ่านมาเราไม่ได้อยู่ในการแข่งขันนี้ และใน 14 ปีเราก็ไม่ได้อยูในจุดที่เราทำได้ในวันนี้ นั่นคือความยากของมัน" อาร์เตต้า กล่าวถึงความสำเร็จที่รอคอยมานาน
"สิ่งดีสุดคือเราไม่ได้พอกับสิ่งที่เราทำได้ตอนนี้ เราต้องการมากกว่านี้ และแน่นอนว่าเราจะพยายามผ่านรอบต่อไปให้ได้"
ถึงตรงนี้ ทุกคนได้ทราบคู่แข่งในรอบ 8 ทีมกันไปแล้วกับการได้เจอ บาเยิร์น มิวนิค ยักษ์ใหญ่จากบุนเดสลีกาที่เป็นอีกหนึ่งฝันร้ายของปืนใหญ่ในเวทียุโรป
เล่นแชมเปี้ยนส์ ลีก ครั้งแรกรอบ 7 ปี...ทำได้แล้ว
เข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายครั้งแรกรอบ 14 ปี...ทำได้แล้ว
ภารกิจต่อไปคือ "ล้างแค้น" เสือใต้ให้สิ้นซาก!
คอลัมน์กีฬาบทความกีฬาต่างๆโดยนักวิเคราะห์ GURUชั้นนำของไทย มีให้ท่านได้เสพทุกวันที่เว็บไซต์ TH SPORT