:::     :::

เป็นผู้ชายก็เต้นได้

วันเสาร์ที่ 02 กุมภาพันธ์ 2562 คอลัมน์ Stars & Stripes โดย เจ.บาร์ท
1,168
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ลืมภาพจำเกี่ยวกับเชียร์ลีดเดอร์สาวสวย-หุ่นดี ที่เราคุ้นตาในกีฬา อเมริกันฟุตบอล เอ็นเอฟแอล ไปให้หมด เพราะกับซูเปอร์ โบวล์ ครั้งที่ 53 เราจะได้เห็นบุรุษเพศโยกย้ายส่ายสะโพกครั้งแรกประวัติศาสตร์ในเกมสำคัญสุดซีซั่น

แมตช์ที่เมอร์เซเดส-เบนซ์ สเตเดี้ยม วันอาทิตย์ที่ 3 ก.พ.นี้ จะมี 2 หนุ่มขอร่วมสังฆกรรมด้วย แต่ไม่ใช่สวมเกราะ-หมวกกันน็อค ไล่บดบนสนามหญ้าเหมือนคนอื่น 

... พวกเขาฉีกกรอบจารีตที่มีมานานด้วยการเป็นนักเชียร์เพศชายคู่แรก ที่จะได้ร่วมปลุกเร้าแฟนๆ 'แกะเขาทอง' ให้ไล่ล่าวินซ์ ลอมบาร์ดี โทรฟี่ 

ควินตัน เพร่อน กับ นาโปเลี่ยน จินนี่ส์ คือชื่อของพวกเขา ซึ่งฝ่าฟันการคัดเลือกอย่างดุเดือด กินเวลาแรมเดือน 

การทดสอบตั้งแต่พื้นฐานร่างกาย, ตะโกนเรียกความสนใจจากผู้ชม, อ้อมกอดแห่งความยินดี หรือสายตาที่จับจ้องในทางชื่นชม หรือไม่เห็นด้วย, ความนับถือซึ่งมาพร้อมไม่เชื่อใจ กระทั่งได้เป็นส่วนหนึ่งฐานะรุคกี้ทีมเชียร์ลีดเดอร์ แรมส์ ซึ่งกำลังจะแสดงฝีมือในเกมที่ต้องโดนบันทึกมากกว่าใครจะเป็นแชมป์ 


ทั้งคู่ไปร่วมร่ายการข่าวช่อง 'เอบีซี นิวส์' 

"คุณเห็นรอยยิ้มเปื้อนหน้าผมไหม? เห็นหรือเปล่า" เพร่อน ซึ่งอยู่ระหว่างฝึกซ้อม ณ เมืองแอตแลนตา สถานที่จัดแข่งพูดจาอย่างคึกคัก 

จินนี่ส์ กับ เพร่อน คือบัดดี้ในทีมเต้น แรมส์ ที่มีสมาชิก 40 ราย โดยนอกจากพวกเขาเป็นผู้หญิงทั้งนั้น ก็ตะลอนกันทั่ว เหนือสุดถึง ชิคาโก, ล่องใต้จน นิว ออร์ลีนส์, ปีนเขาที่ไมล์ ไฮ หรือเกาะขอบมหาสมุทรที่ ซีแอตเทิ่ล อยู่ร่วมประสบการณ์ทุกชัยชนะหรือความผิดหวังของ แรมส์ ทุกย่างก้าว 

"นี่คือเรื่องราวการเดินทางอันน่าตื่นเต้นจริงๆ นับเป็นซีซั่นอันสมบูรณ์แบบ" จินนี่ส์ วัย 28 กะรัตเสริม 

ความจริงฤดูกาล 2018 เริ่มต้นไม่โสภาเลยสำหรับ...ใช้สรรพนามแทนว่าหล่อนละกัน 

ย้อนไปเมื่อสิงหาคม 2018 ระหว่างเกมอุ่นเครื่องพบ โอ้คแลนด์ เร้ดเดอร์ส มีกองเชียร์ไร้มารยาทบางรายทั้งฉีดสเปรย์พริกไทยใส่ พูดจากถากถาง หยามหยัน แต่เพื่อนๆในทีมเต้นก็ให้กำลังใจจนผ่านไปกระทั่งมาเจอกระวิจารณ์ทางโซเชี่ยล มีเดีย จากกลุ่มแอนตี้เพศที่ 3 

อย่างไรก็ตามความตั้งใจจริงของสองหนุ่มก็สามารถซื้อใจแฟนๆ ให้ยอมรับโดยไม่แคร์เรื่องเพศ พร้อมประกาศจุดยืนว่า ลอส แอนเจลีส คือเมืองที่ยอมรับความเป็นพหุสังคมและแตกต่าง  


นักเต้นบุรุษเพศของ แรมส์ (กลาง) ลีลาดีทีเดียว

"ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นระหว่างเกม เราก็ต้องรับมือกับมันให้ได้เพราะทราบว่าใครหนุนหลังอยู่ ทั้งครอบครัว, สาวๆร่วมทีม หรือชุมชน ลอส แอนเจลีส ทุกคนอยู่ข้างเรา" เพร่อน ในวัย 26 ปี กล่าวบ้าง 

ทุกครั้งหากมีเกมเหย้าแข่งขัน นักเต้นชายทั้งคู่จะแต่งตัวแบบจัดเต็มทั้งสวมกระโปรงบาน, รองเท้าบู้ท หรือพู่ปอมปอม ร่ายรำด้วยท่วงท่าแข็งแรงในแบบผู้ชายแต่ก็แฝงความอ้อนช้อยของสตรี 

งานดี ต้องมีคนเห็น คีลี่ ฟิมเบรอส์ ผู้อำนวยการฝ่ายเชียร์ลีดเดอร์ส และมัสค็อต ของแฟรนไชส์ออกปากชื่นชมสองหนุ่มว่าสร้างสีสันแก่ทีม 

"พวกเขาคือนักเต้นที่สุดยอดมาก หากคนเปิดใจชมสักหนจะเปลี่ยนทัศนคติแล้วหันมาติดใจ" ผอ.ช่วยโฆษณาชวนเชื่อ 


บรรยากาศในงาน ซูเปอร์ โบวล์ มีเดีย เดย์

วาสนา ก็เป็นอีกสิ่งที่ทำให้ทีมเต้น แรมส์ ได้ร่วมงานกับสองหนุ่มนี้เพราะเมื่อครั้งเปิดรับสมัครประจำซีซั่น 2018 เมื่อราวเดือนมีนาคม เพร่อน กับ จินนี่ส์ ได้ไอเดียลงทดสอบฝีมือแตกต่างกันไป 

เพร่อน คือนักเต้นอาชีพแต่แรก รวมถึงเป็นครูออกแบบท่าเต้น ซึ่งระหว่างสัปดาห์ก่อนมีคัดตัว เขาเข้าไปดูบาสฯเอ็นบีเอ เกมเหย้าของ แอลเอ เลเกอร์ส แล้วประทับใจสาวๆเชียร์ลีดเดอร์ส 'ม่วง-ทอง' 

"ผมมองจากบนอัฒจันทร์ไปดูยังน้องๆที่เต้นเบื้องล่าง แล้วก็ถามตัวเองว่า - ทำไมฉันไม่ลองทำแบบนั้นบ้าง -" เพร่อน พูดถึงแรงใจในการสมัครเข้าทีมเต้น 'แกะเขาทอง' 

ส่วน จินนี่ส์ ทำงานเป็นนักเต้นอาชีพ ควบคู่ช่างแต่งหน้า โดยได้ไอเดียสมัครจากเพื่อนสนิทที่เคยเต้นให้โชว์ของ ดิสนี่ย์ ด้วยกัน 

ตลอด 2 ซีซั่นก่อนนี้ที่ แรมส์ ย้ายแฟรนไชส์กลับมาเล่นที่ แอลเอ อีกครั้ง ไม่เคยมีบุรุษคนไหนมาสมัครเข้าทีมเต้นมาก่อน แม้จะไร้กฎห้ามก็ตาม 

พูดถึงบรรยากาศในวันรับสมัครมีนักล่าฝันกว่า 300 ชีวิต สนใจอยากร่วมทีมเต้นให้ แรมส์ กว่าจะผ่านแต่ละด่านทั้งสัมภาษณ์หรือดูทักษะการเต้น ก็เหนื่อยพอดูแต่ 2 หนุ่มฉลุย กระทั่งถึงจุดที่หัวหน้าทีมอย่าง ซาลาห์ เช้ด ต้องนำข่าวกับเลือกนักเต้นชายไปอนุญาตจากเจ้าของแฟรนไชส์ สแตน โครเอนเก้ เสียก่อน แม้จะกล้าๆกลัวๆว่าโดนปฏิเสธ 

แต่ผิดคาด...มิสเตอร์ โครเอนเก้ เซย์เยสอนุมัติทันที ส่วนบอร์ดคนอื่นๆล้วนไฟเขียว 

นับเป็นอีกวิสัยทัศน์หัวก้าวหน้าในองค์กร แรมส์ เพราะปี 1946 คัดเลือกผู้เล่นผิวดำ เคนนี่ วอชิงตัน เป็นทีมแรกประวัติศาสตร์ลีก เอ็นเอฟแอล หรืออย่างเมื่อดราฟท์ คลาส 2014 ยินดีให้โอกาส ไมเคิ่ล แซม ซึ่งยอมรับว่าตัวเองเป็นเกย์ มาร่วมฝึกซ้อม แม้ไม่ได้เซ็นสัญญาจ้าง 

  กลับมาที่เรื่องราวของ 2 เชียร์ลีดเดอร์สชายคู่แรกซึ่งเตรียมทำหน้าที่ในเกม ซูเปอร์ โบวล์ พวกเขาบอกว่าความภาคภูมิใจสูงสุดคือการทำให้โลกยอมรับสิ่งที่เราเป็น แถมครอบครัวก็ไม่รังเกียจ โดยหากเป็นไปได้หวังสร้างแรงบันดาลใจแก่เด็กรุ่นหลัง 


ตอบแทนสังคมและสร้างแรงบันดาลใจคือปณิธานของเชียร์ลีดเดอร์สหนุ่มใจสาว

"หากเราสามารถช่วยแรงบันดาลใจหรือผลักดันให้ใครสักคนมันคงคุ้มค่ามากๆ" คำกล่าวของ นาโปเลี่ยน จินนี่ส์ 

ขณะที่ เพร่อน บอกว่าความเข้าใจจากครอบครัวคือน้ำทิพย์ชั้นดี "เพิ่งได้ยินคุณพ่อพูดว่า - ฉันภูมิใจในตัวแกไอ้ลูกชาย - แค่นี้แหละครับที่ผมต้องการ" 

ณ ตอนนี้ภาพลักษณ์ของเชียร์ลีดเดอร์สชายไม่ใช่เรื่องต้องอับอายหรือปกปิด มีเด็กๆในชุมชนที่ แรมส์ ไปทำกิจกรรมสนใจอยากลองคัดตัวบ้างในฤดูกาล 2019 โดยมีตัวอย่างจากรุ่นพี่ชุดปัจจุบัน 

ใครมีโอกาสชมเกม ซูเปอร์ โบวล์ เช้าวันจันทร์ที่ 4 ก.พ. (ตามเวลาไทย) อย่าลืมกวาดสายตามองหาสองนักเต้นบุรุษเพศแห่งประวัติศาสตร์ด้วยล่ะ

คอลัมน์กีฬาบทความกีฬาต่างๆโดยนักวิเคราะห์ GURUชั้นนำของไทย มีให้ท่านได้เสพทุกวันที่เว็บไซต์ TH SPORT

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})