:::     :::

ทำไมต้อง...ผู้อำนวยการฟุตบอล

วันเสาร์ที่ 22 ธันวาคม 2561 คอลัมน์ Football Therapy โดย บี้ เดอะสปา
5,482
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ผู้อำนวยการฟุตบอล ทำไมตำแหน่งนี้ถึงเป็นที่ต้องการของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา

นับตั้งแต่ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ประกาศวางมือในปี 2013 แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็ดูจะสูญเสียการควบคุม เพราะไม่เพียงแค่การขาดผู้จัดการทีมชั้นยอดแล้ว ยังขาดผู้อำนวยการฟุตบอลไปในตัวด้วย

เซอร์ อเล็กซ์ จัดการดูแลทุกอย่าง ตั้งแต่เรื่องในสนาม ไปจนถึงนอกสนาม ทั้งซื้อ ขาย ต่อสัญญา ผลักดันดาวรุ่ง และอื่นๆ อีกมากมาย
นั่นคือสิ่งที่ไม่มีใครสามารถทดแทนได้ ตั้งแต่ เดวิด มอยส์, หลุยส์ ฟาน กัล มาจนถึง โชเซ่ มูรินโญ่
ฟาน กัล ใช้จ่ายไป 44.8 ล้านปอนด์ ซื้อ ดาเลย์ บลินด์ กับ เมมฟิส เดอปาย เข้าสู่สโมสร แต่ก็ถูกขายทิ้งแบบขาดทุนโดย มูรินโญ่ ที่ไปซื้อ อเล็กซิส ซานเชซ มานั่งรับค่าเหนื่อย 350,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ รวมถึงสองเซนเตอร์แบ็กที่ไม่อยากใช้งานแล้วทั้ง เอริค ไบยี่ 30 ล้านปอนด์ และ วิคตอร์ ลินเดอเลิฟ 31 ล้านปอนด์
เห็นได้ชัดว่าการเสริมทัพในช่วงที่ผ่านมา ล้วนเป็นความต้องการของผู้จัดการทีมแต่ละคนแทบทั้งสิ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องดีสำหรับการสร้างทีมในแบบฉบับของตัวเอง แต่บางครั้งก็เป็นการเสริมทัพที่ไม่เหมาะสมกับแนวทางของสโมสร
ฤดูกาลที่แล้ว อันโตนิโอ คอนเต้ มักบ่นออกสื่อหลายครั้ง เรื่องไม่สามารถซื้อนักเตะที่ต้องการได้ เพราะเป็นหน้าที่ของผู้อำนวยการฟุตบอลเป็นคนจัดการ อย่างมากที่สุดทำได้เพียงแค่บอกว่า อยากได้นักเตะตำแหน่งไหน
นี่จึงเป็นข้อดี และข้อเสียของการมีผู้อำนวยการฟุตบอล
ในลีกอังกฤษ หลายสโมสรปรับโครงสร้างการบริหารทีมมาเป็น ผู้อำนวยการฟุตบอล กับ เฮดโค้ช แล้ว แต่ส่วนใหญ่ยังยึดติดรูปแบบเดิมที่ใช้กันมาอย่างยาวนาน นั่นคือ ผู้จัดการทีม ที่ควบคุมดูแลทุกอย่าง
บทบาทหน้าที่คร่าวๆ ของผู้อำนวยการฟุตบอล ดูแลเรื่องการสรรหานักเตะใหม่ เจรจาซื้อขาย ต่อสัญญา มองดูผลผลิตจากทีมเยาวชนที่พร้อมผลักดันสู่ทีมชุดใหญ่ ซึ่งล้วนเป็นหน้าที่ของผู้จัดการทีมแทบทั้งสิ้น
ส่วนผู้อำนวยการเทคนิคแตกต่างกันตรงที่ไม่มีบทบาทในเรื่องเสริมทัพ หรือเจรจาสัญญาต่างๆ
"คนที่จะคอยบอก โชเซ่ มูรินโญ่ ว่านักเตะคนนั้นคนนี้น่าหรือไม่น่าจะเซ็นสัญญาได้ ผมมองไม่เห็นใครเลยในสโมสรที่มีคุณสมบัติพอที่จะทำเรื่องนั้น" แกรี่ เนวิลล์ ย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์ที่ มูรินโญ่ พลาดซื้อเซนเตอร์แบ็กในวันสุดท้ายของตลาดซื้อขายช่วงซัมเมอร์ที่ผ่านมา
ปี 2012 แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เริ่มปรับโครงสร้างใหม่ ด้วยการแต่งตั้ง ชิกี เบกิริสไตน์ นั่งเก้าอี้ตัวใหม่ ผู้อำนวยการฟุตบอล เป็นการปูทางสำหรับอนาคตที่มีแผนอยากได้ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า มาเป็นเฮดโค้ช และทุกอย่างก็ราบรื่นในอีก 4 ปีต่อมา หลังจากทั้งคู่เคยร่วมงานกันและประสบความสำเร็จที่ บาร์เซโลน่า มาแล้ว
เบกิริสไตน์ พูดถึงบทบาทของตัวเองว่า "ผมต้องทำงานล่วงหน้าสำหรับอีกสองฤดูกาลข้างหน้า คุณต้องทราบแล้วว่านักเตะคนไหนอยากย้าย คนไหนอยากอยู่ต่อ และทีมกำลังเสี่ยงที่จะเสียนักเตะคนไหน"
"คุณต้องมองหานักเตะใหม่ฝีเท้าดีเข้ามาด้วย โดยพิจารณาจากแผนการทำทีม ปรัชญาการทำทีม แนวทางการทำงาน และแนวทางการเล่น"
ในมุมของผู้จัดการทีม ที่ต้องเปลี่ยนสถานะตัวเองมาเป็นเฮดโค้ช เบรนแดน ร็อดเจอร์ส พูดถึงประเด็นนี้เอาไว้ว่า "มันยุ่งยากเสมอกับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างแบบนี้ในอังกฤษ เพราะความคิดของที่นี่คือผู้จัดการทีมคนเดียวจัดการทุกอย่าง"
"สิ่งสำคัญคือแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างเฮดโค้ชกับผู้อำนวยการฟุตบอล มันขึ้นอยู่กับการแบ่งหน้าที่ ใครดูแลบทบาทไหน ถ้าคุณชัดเจนในเรื่องนั้นแล้ว ทุกอย่างก็ไม่มีปัญหาอะไร"
นั่นคือเหตุผลสำคัญที่ แมนฯ ซิตี้ ต้องวางรากฐานโดยการดึง เบกิริสไตน์ มารอรับ เป๊ป หรือ ท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์ ต้องดึง พอล มิทเชลล์ มาจาก เซาธ์แฮมป์ตัน เพื่อทำงานร่วมกับ เมาริซิโอ โปเช็ตติโน่ ต่อ
และว่ากันว่า พอล มิทเชลล์ นี่แหละ! ที่เป็นที่หมายปองของ แมนฯ ยูไนเต็ด เวลานี้
เพราะหากจะแต่งตั้งผู้อำนวยการฟุตบอล ก็ต้องเลือกช่วงเวลานี้เหมาะสมที่สุด ก่อนสรรหาผู้จัดการทีมถาวรคนใหม่ มิเช่นนั้น อาจเป็นเหมือนกรณีที่ มูรินโญ่ ไม่เห็นด้วยกับ เอ็ด วูดเวิร์ด รองประธานบริหาร ที่เสนอให้มีการแต่งตั้ง ผอ.ฟุตบอล
ปัจจุบัน มิทเชลล์ ทำงานอยู่กับ แอร์ไบ ไลป์ซิก ดูแลเรื่องการสรรหานักเตะใหม่เสริมทัพ ซึ่งตำแหน่งของสโมสรในบุนเดสลีกาแตกแขนงรายละเอียดออกไปเยอะมาก
ในอดีต ผอ.หนุ่มวัย 37 ปี ชาวเมืองแมนเชสเตอร์แท้ๆ อดีตกองกลางที่แขวนสตั๊ดตั้งแต่อายุ 29 เพราะบาดเจ็บเรื้อรัง มีส่วนสำคัญกับการเสริมทัพของ เซาธ์แฮมป์ตัน อาทิ ซาดิโอ มาเน่, ดูซาน ทาดิช และ กราเซียโน่ เปลเล่ ก่อนสร้างผลงานกับ สเปอร์ส ด้วยการคว้า เดเล่ อัลลี, คีแรน ทริปเปียร์ และ โทบี้ อัลเดอร์แวเรลด์
การประสบความสำเร็จกับ อัลลี ทำให้ โปเช็ตติโน่ ไว้วางใจการทำงานของ มิทเชลล์ มากทีเดียว และมีส่วนสำคัญในการเฟ้นหาดาวรุ่งฝีเท้าดีจากศูนย์ฝึกเยาวชน ผลักดันขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ต่อมาอีกหลายคน
อย่างไรก็ตาม สเปอร์ส มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างในเรื่องหน้าที่การทำงานอีกครั้ง ทำให้ มิทเชลล์ ตัดสินใจก้าวเท้าออกมา และย้ายไปพิสูจน์ฝีมือที่ ไลป์ซิก
กลับมาที่ แมนฯ ยูไนเต็ด ในอดีต เฟอร์กี้ เคยทำหน้าที่ดูแลทุกเรื่อง และทำงานใกล้ชิดกับ เดวิด กิลล์ ซีอีโอของสโมสร ในการเจรจาเสริมทัพทุกๆ ครั้ง แต่ปัจจุบัน การทำงานของผู้จัดการทีมทั้ง มอยส์, ฟาน กัล และ มูรินโญ่ ร่วมกับ เอ็ด วูดเวิร์ด รองประธานบริหาร ผลลัพธ์เรื่องการเสริมทัพที่ออกมาถือว่าล้มเหลว
นั่นคือสิ่งที่ แมนฯ ยูไนเต็ด จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง และหากเลือก พอล มิทเชลล์ นั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการฟุตบอลคนใหม่ ก็อาจเป็นการปูทางสำหรับ เมาริซิโอ โปเช็ตติโน่ ในอนาคตก็เป็นได้

คอลัมน์กีฬาบทความกีฬาต่างๆโดยนักวิเคราะห์ GURUชั้นนำของไทย มีให้ท่านได้เสพทุกวันที่เว็บไซต์ TH SPORT

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด