:::     :::

ทศวรรษเปลี่ยน...ฟอร์มเปลี่ยน

วันเสาร์ที่ 27 เมษายน 2562 คอลัมน์ Football Therapy โดย บี้ เดอะสปา
2,549
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ตลอดทศวรรษเศษๆ ที่่ผ่านมา แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กับ เชลซี ต่างขับเคี่ยวกันแย่งแชมป์พรีเมียร์ลีก เช่นเดียวกับ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก แต่ปัจจุบัน...

ฤดูกาล 2007-08 แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ของ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน มีขุมกำลังที่จัดว่าเป็นหนึ่งในทีมชุดที่ดีที่สุดลำดับต้นๆ โดยเฉพาะแนวรุกที่ประกอบด้วย คริสเตียโน่ โรนัลโด้, คาร์ลอส เตเวซ, เวย์น รูนี่ย์, ไรอัน กิ๊กส์, นานี่, พาร์ค ชี-ซอง

ขณะที่ เชลซี มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงแรกที่ โชเซ่ มูรินโญ่ ถูกไล่ออกตั้งแต่เดือนกันยายน และให้ผู้ช่วยฯ อัฟราม แกรนท์ ขึ้นมาคุมทัพแทนจนจบฤดูกาล
ทีมชุดนั้นมีดาวดัง ดีดิเย่ร์ ดร็อกบา, แฟร้งค์ แลมพาร์ด, มิชาเอล บัลลัค, โจ โคล ที่ช่วยกันพลิกสถานการณ์พาทีมลุ้นแชมป์กับ ปีศาจแดง จนถึงบั้นปลาย แม้สุดท้ายแล้วกลายเป็นพระรองถึงสามรายการ
ในพรีเมียร์ลีก แมนฯ ยูไนเต็ด เข้าป้ายคว้าแชมป์ มี 87 คะแนน เหนือ เชลซี เพียง 2 คะแนน ขณะที่ แชมเปี้ยนส์ ลีก ทั้งสองทีมต่างกรุยทางเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศที่กรุงมอสโก
แชมป์น่าจะตกอยู่ในมือทีมดังกรุงลอนดอนอยู่แล้ว หาก จอห์น เทอร์รี่ ไม่ลื่นในจังหวะยิงจุดโทษคนที่ 5 และสุดท้ายโชคชะตาก็พัดพาแชมป์ให้อยู่ในเมืองแมนเชสเตอร์ หลังจาก นิโกล่าส์ อเนลก้า พลาดจุดโทษในการยิงคู่ที่ 7
หลังจากนั้น ซีซั่น 2009-10 เชลซี ยิงทะลุ 103 ประตู คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกเหนือ แมนฯ ยูไนเต็ด เพียงคะแนนเดียว ถัดมาหนึ่งซีซั่น ปีศาจแดง ตอบโต้คว้าแชมป์คืน ขณะที่ สิงโตน้ำเงิน จบอันดับสอง และนั่นคือซีซั่นสุดท้ายที่ทั้งสองทีมขับเคี่ยวกันอยู่บน 'ท็อปทู'
ตัดมาถึงภาพในปัจจุบัน แมนฯ ยูไนเต็ด กับ เชลซี กำลังแย่งกันจบ 4 อันดับแรก โดยสถานการณ์ก่อนเกมที่ โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด วันอาทิตย์นี้ ผีแดง มี 64 คะแนน จาก 35 นัด ตาม สิงห์น้ำเงิน 3 คะแนน ขณะที่เหลือ 3 เกมสุดท้ายเท่ากัน
มีหลายปัจจัยที่ทำให้ แมนฯ ยูไนเต็ด กับ เชลซี นัดกันตกต่ำดำดิ่งในช่วงเวลานี้
การขาดผู้นำทีมตัวจริง
นับตั้งแต่หมดยุคของ รอย คีน, แกรี่ เนวิลล์, พอล สโคลส์, เนมานย่า วีดิช, เวย์น รูนี่ย์ แมนฯ ยูไนเต็ด ดูเหมือนจะขาดผู้นำทีมอย่างแท้จริง เพราะปัจจุบัน ไม่ว่า แอชลี่ย์ ยัง, ดาบิด เด เคอา หรือ คริส สมอลลิ่ง ใครจะสวมปลอกแขนกัปตันทีมก็ดูเหมือนจะไม่สามารถปลุกเร้าทีม หรือมีอิทธิพลกับทีมได้มากนัก
เชลซี ก็ไม่ต่างกัน เพราะ เซซ่าร์ อัซปิลิกวยต้า ก็ดูจะไม่มีภาวะผู้นำทีมมากพอ แต่ก็ดูเหมือนจะไม่มีใครใกล้เคียงเลยในทีมชุดนี้ นับตั้งแต่หมดช่วงเวลาของ จอห์น เทอร์รี่, แฟร้งค์ แลมพาร์ด, ดีดีเย่ร์ ดร็อกบา
ดาวดังของทีมมีอนาคตที่ไม่แน่นอน
สถานการณ์ปัจจุบันถือว่าใกล้เคียงกัน แมนฯ ยูไนเต็ด กำลังสุ่มเสี่ยงที่จะเสีย ดาบิด เด เคอา ที่สัญญากำลังจะหมดในปี 2020 และ ปอล ป็อกบา ก็มีข่าวระหองระแหงอยากย้ายทีมอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีอีกหลายคนที่อนาคตไม่แน่นอน อาทิ โรเมลู ลูกากู, มาร์คัส แรชฟอร์ด
เชลซี ก็หนักไม่แพ้กัน เพราะอนาคตของ เอแดน อาซาร์ ดูเหมือนว่าจะหมดทางรั้งตัวเอาไว้แล้ว หลังจากยื้อหยุดฉุดรั้งให้อยู่ต่อมาอย่างน้อยสองฤดูกาลแล้ว และด้วยสัญญาที่เหลือถึงเพียงปี 2020 ทำให้ เดอะ บลูส์ อาจต้องยอมขายซัมเมอร์นี้
การเสริมทัพในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ล้มเหลว คือคำนิยามที่ดีที่สุดเรื่องการเสริมทัพของ แมนฯ ยูไนเต็ด เหตุผลหลักๆ คือสามผู้จัดการทีมก่อนหน้านี้ เดวิด มอยส์, หลุยส์ ฟาน กัล, โชเซ่ มูรินโญ่ ต่างอยากได้นักเตะในสไตล์ของตัวเอง โดยไม่คำนึงว่าเหมาะกับสไตล์ของทีมหรือไม่
และซีซั่นนี้เห็นได้ชัดเจนว่า เอ็ด วูดเวิร์ด รองประธานบริหาร มีส่วนสำคัญกับความล้มเหลวในการเสริมทัพทั้งช่วงซัมเมอร์ และวินเทอร์ จึงเป็นที่มาของการมองหาผู้อำนวยการฟุตบอลคนแรกของสโมสร
เชลซี อาจจะแตกต่างกันอยู่บ้าง เพราะแนวทางการเสริมทัพไม่ได้ขึ้นตรงกับเฮดโค้ช ไม่ว่าจะเป็น อันโตนิโอ คอนเต้ หรือ เมาริซิโอ ซาร์รี่ ดังนั้นจึงเข้านิยาม "คนซื้อไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ซื้อ"
และแม้รายล่าสุดอย่าง กอนซาโล่ อีกวาอิน จะตรงใจ ซาร์รี่ แต่ก็กลายเป็นว่าศูนย์หน้าอาร์เจนไตน์กำลังจะถูกส่งตัวกลับ ยูเวนตุส หลังหมดสัญญายืมตัว เพราะยังปรับตัวเข้ากับพรีเมียร์ลีกไม่ได้
  สุดท้ายคือ ผู้จัดการทีม หรือ เฮดโค้ช
โอเล่ กุนนาร์ โซลชา เข้ามาสร้างปรากฏการณ์อันเหลือเชื่อ ต่อจาก มูรินโญ่ ในช่วงเดือนธันวาคม โดยเริ่มต้นด้วยชัยชนะ 8 เกมรวดรวมทุกรายการ จนคว้ารางวัลผู้จัดการทีมยอดเยี่ยมเดือนมกราคม เป็นคนแรกที่ได้รางวัลนี้นับตั้งแต่หมดยุค เฟอร์กี้
เดิมที วูดเวิร์ด ยืนยันว่าจะมีการแต่งตั้งผู้จัดการทีมถาวรหลังจบซีซั่น แต่ด้วยกระแสเรียกร้องและกดดันให้รีบเปลี่ยนสัญญา โซลชา เป็นถาวร จนในที่สุดผู้บริหารแห่งถิ่น โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด ก็จัดให้ในช่วงปลายเดือนมีนาคม
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวกลายเป็นความกดดันโดยไม่รู้ตัว ผลงานของ โซลชา ตกต่ำลงสวนทางช่วงแรกๆ โดย 9 นัดหลังสุด แพ้ไปถึง 7 นัด
ขณะที่ เชลซี ออกสตาร์ตซีซั่นอย่างร้อนแรง แต่เล่นไปเล่นมาค่อยๆ ตกลง จนแฟนบอลเริ่มไม่ชอบใจ 'ซาร์รี่บอล' ที่เน้นการครองบอลเท้าต่อเท้า มากกว่าที่จะเสี่ยงเข้าทำ จนกลายเป็นว่าบางเกมครองบอลจนหมดเวลา ทั้งที่สกอร์ตามหลัง
แม้เพิ่งเป็นเพียงฤดูกาลแรก แต่เชื่อว่า โรมัน อบราโมวิช เจ้าของสโมสร อาจจะพิจารณาอนาคตของ ซาร์รี่ อย่างรอบคอบในช่วงจบซีซั่นนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไปไม่ถึงแชมป์ยูโรปาลีก
นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับ แมนฯ ยูไนเต็ด และ เชลซี ในยุคปัจจุบัน ถึงตอนนี้เป้าหมายสูงสุดของทั้งคู่ยังคงเป็นการแย่งอันดับ 4 เพราะเชื่อว่า สเปอร์ส ไม่น่าปล่อยอันดับสามหลุดมือง่ายๆ
แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่ ผีแดง กับ สิงโตน้ำเงิน อาจล้มเหลว ไปไม่ถึง 'ท็อปโฟร์' พร้อมๆ กัน

คอลัมน์กีฬาบทความกีฬาต่างๆโดยนักวิเคราะห์ GURUชั้นนำของไทย มีให้ท่านได้เสพทุกวันที่เว็บไซต์ TH SPORT

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด