'แอสซิสต์' เป็นหน้าที่ที่ถูกมองว่า 'ปิดทองหลังพระ' ไม่ค่อยมีใครเห็นความสำคัญเท่ายิงประตู แต่ถ้าคุณทำได้เป็นกอบเป็นกำ เมื่อนั้นทุกคนก็จะพูดถึงคุณเอง
การทำ 'แอสซิสต์' บางครั้งก็ไม่มีความยุติธรรมสักเท่าไหร่ เพราะหลายประตูเกิดขึ้นมาจากการผ่านบอลที่ไม่มีเจตนา หรือไม่ตั้งใจว่านี่จะกลายเป็น 'แอสซิสต์' ยกตัวอย่าง...
แอชลี่ย์ โคล หวดทิ้งตูมเดียวแบบไม่คิดชีวิต แต่ดันเข้าตีน เฟร์นานโด ตอร์เรส หลุดเดี่ยวเข้าไปยิง ในเกมที่ เชลซี บุกเสมอ บาร์เซโลน่า 2-2 ที่ คัมป์ นู
หรือจะเป็น ยาน แฟร์ทองเก้น แหย่เท้าสกัดบอลในเขตโทษตัวเองธรรมดาๆ แล้ว ซน ฮึง-มิน พาบอลควบตะบึงกว่า 80 หลาเข้าไปทำประตูที่ส่งเข้าประกวด ในเกมที่ ท็อตแน่ม ถล่ม เบิร์นลี่ย์ 5-0
ถูกนับเป็นหนึ่ง 'แอสซิสต์'
เฉกเช่นการผ่านบอลอย่างชาญฉลาด หรือถวายพานให้เพื่อนยิง อาทิ
บรูโน่ แฟร์นันเดส ยกบอลจากฟรีคิกข้ามกำแพงไปให้ อ็องโตนี่ มาร์กซิยาล ซัลโวในเกมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เอาชนะ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ 2-0
หรือจะเป็น เควิน เดอ บรอยน์ ที่กระชากลากลุยหลบหลายด่าน เข้าไปผ่านบอลขวางหน้าประตูไปให้ กาเบรียล เชซุส แปง่ายๆ ในเกม แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ชนะ เลสเตอร์ 3-1
แม้กระทั่งผู้รักษาประตูก็ทำ 'แอสซิสต์' ได้ อย่าง อาลีสซง เบ๊คเกอร์ ที่หวดยาวอย่างแม่นยำไปให้ โมฮาเหม็ด ซาลาห์ หลุดเดี่ยวจากครึ่งสนามแล้วไปยิงให้ ลิเวอร์พูล ฝัง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด
และไม่ว่าการ 'แอสซิสต์' จะเกิดขึ้นโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ผ่านบอลด้วยมันสมองหรือแค่เขี่ยๆ พ้นตัวให้เพื่อน ทุกประตูถูกจดบันทึกสถิติเอาไว้ให้จดจำเสมอ
แม้ในช่วงแรกของพรีเมียร์ลีก ไม่มีการให้ความสำคัญกับการเป็นดาวแอสซิสต์เหมือนอย่างดาวซัลโว จนกระทั่งผ่านไปกว่าหนึ่งทศวรรษ ถึงเริ่มจะมีข้อมูลปรากฏขึ้นมาในแต่ละฤดูกาล
แต่โชคดีของผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ ที่ทุกประตูที่มีการ 'แอสซิสต์' ถูกจดบันทึกเก็บไว้นับตั้งแต่ปี 1992 หรือปีแรกของพรีเมียร์ลีกเป็นต้นมา
1992-1997 เอริค ก็องโตน่า
ในยุคแรกของพรีเมียร์ลีก หากพูดถึงศูนย์หน้าดาวซัลโวพรีเมียร์ลีกก็จะต้องนึกถึง อลัน เชียเรอร์, แอนดี้ โคล, เท็ดดี้ เชอริงแฮม, เลส เฟอร์ดินานด์ หรือ ร็อบบี้ ฟาวเลอร์
แต่ถ้าพูดถึงศูนย์หน้าที่ครบเครื่อง ทั้งยิงเยอะ และแอสซิสต์เยอะด้วย ก็จะต้องเป็นกองหน้าสไตล์ตัวต่ำอย่าง แม็ทธิว เลอ ทิสซีเอร์ กับ เอริก ก็องโตน่า
'ก็องโต้' ย้ายจาก ลีดส์ ยูไนเต็ด มาอยู่กับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในช่วงที่ฤดูกาล 1992-93 เริ่มต้นไปแล้วหลายเดือน และจบซีซั่นด้วยการเป็นดาวแอสซิสต์ 16 ประตู
จากนั้นชื่อของศูนย์หน้าชาวฝรั่งเศสก็ติดท็อปชาร์ตอยู่เรื่อยมา จนกระทั่งแขวนสตั๊ดก่อนวัยในปี 1997 จบที่ตัวเลข 56 แอสซิสต์จาก 156 เกมพรีเมียร์ลีก ที่รับใช้ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด 143 นัด และ ลีดส์ 13 นัด ค่าเฉลี่ยสูงทีเดียว 0.36 ประตูต่อเกม
1997-2003 เดวิด เบ๊คแฮม
ด้วยจุดเด่น การวางบอลยาวที่แม่นยำราวจับวาง รับเหมาก่อสร้างลูกเตะมุม และลูกฟรีคิกทุกชนิด จึงไม่แปลกที่ได้เห็นชื่อ เดวิด เบ๊คแฮม อยู่ในลิสต์สุดยอดดาวแอสซิสต์แห่งวงการฟุตบอลพรีเมียร์ลีก
เบ๊คแฮม สืบทอดตำนานเบอร์ 7 ต่อจาก ก็องโตนี่ และยังสืบทอดการเป็น 'แอสซิสต์ คิง' ต่อด้วย ที่ได้เปรียบกว่า (ก็อย่างที่เกริ่นไป) เพราะหลายแอสซิสต์มาจากการเปิดลูกเตะมุมและฟรีคิกให้เพื่อนโหม่ง ขณะที่ 'ก็องโต้' มาจากจังหวะ 'โอเพน เพลย์' แทบทั้งสิ้น
แต่ที่เป็นจุดขายของ เบ๊คแฮม ที่อยู่ในความทรงจำหลายต่อหลายครั้ง ก็คือการตั้งป้อมครอสบอลจากริมเส้น (ฟากขวาเสียเป็นส่วนใหญ่) เข้าศีรษะศูนย์หน้าอย่าง แอนดี้ โคล, เท็ดดี้ เชอริงแฮม, โอเล่ กุนนาร์ โซลชา, ดไวท์ ยอร์ค, รุด ฟาน นิสเตลรอย เป็นต้น
ตลอด 265 เกมพรีเมียร์ลีก ก่อนย้ายไป เรอัล มาดริด ในปี 2003 เบ๊คแฮม จัดการกดแอสซิสต์ไปถึง 80 ประตู ค่าเฉลี่ยไม่สูง 0.30 ประตูต่อเกม เพราะเอามาหารกับการลงสนามที่สูงมาก
2003-2007 เธียร์รี่ อองรี
เข้าสู่ยุคกลางของพรีเมียร์ลีก ตำนานดาวยิงในช่วงเวลานี้คือ เธียร์รี่ อองรี ที่ไม่เพียงแค่ซัลโวกระจายจนติดท็อปชาร์ต และยังเป็นตัวสร้างสรรค์เกมรุก เพราะเริ่มต้นมาจากการเล่นตำแหน่งปีก แต่ยังเป็นจอมแอสซิสต์ด้วย
อองรี ครองตำแหน่งเจ้าของสถิติดาวแอสซิสต์มากที่สุด 20 ประตูในหนึ่งฤดูกาล ซึ่งเกิดขึ้นในซีซั่น 2002-03 ปีที่ซัลโวไปถึง 24 ประตู เป็นรอง รุด ฟาน นิสเตลรอย ของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เพียงคนเดียว
จาก 258 เกมพรีเมียร์ลีกที่ลงเล่นให้ อาร์เซน่อล ในสองช่วงเวลา (ช่วงหลังในฤดูกาล 2011-12 เล่น 4 นัด) อองรี กดไป 74 แอสซิสต์ ค่าเฉลี่ยเพียง 0.29 ประตูต่อเกม
แต่ต้องไม่ลืมค่าเฉลี่ยการยิงประตูของ อองรี สูงถึง 0.68 ประตูต่อเกม ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะมองหาศูนย์หน้าที่มีค่าเฉลี่ยทั้งการยิงประตูและแอสซิสต์มาพร้อมๆ กันแบบนี้ในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีก
2007-2011 เซส ฟาเบรกาส
ฟรานเซส หรือ เซส ฟาเบรกาส ได้รับโอกาสแรกในพรีเมียร์ลีกจาก อาร์แซน เวนเกอร์ ในฤดูกาล 2004-05 และเป็นโอกาสแรกที่มาถึงแบบจริงจังด้วย เพราะกลายเป็นตัวหลักแดนกลางคู่กับ ปาทริค วิเอร่า เหนือตัวเลือกอย่าง จิลแบร์โต้ ซิลวา กับ เอดู
จากการเริ่มต้นบทบาทกองกลางที่ยืนต่ำ ค่อยๆ ขยับสูงขึ้นทีละนิด จนมีฤดูกาลที่โดดเด่นเตะตาที่สุดกับ อาร์เซน่อล คือซีซั่น 2009-10 ที่ยิงแหลก 15 ประตูจาก 27 เกมพรีเมียร์ลีก ก่อนย้ายกลับ บาร์เซโลน่า ในปี 2011 ไปรับบทกองกลางตัวสูง ก่อนกลับคืนเวทีพรีเมียร์ลีก ร่วมทัพ เชลซี ในอีกสามปีต่อมา
บทสรุป 350 เกมพรีเมียร์ลีกทั้งในชุด อาร์เซน่อล และ เชลซี กองกลางชาวสเปนทำไปทั้งสิ้น 111 แอสซิสต์ ค่าเฉลี่ยไม่เบาทีเดียว 0.32 ประตูต่อเกม
แม้เข้าสู่ทีมชุดใหญ่ เดอะ กันเนอร์ส ไม่ทันชุดแชมป์พรีเมียร์ลีกไร้พ่าย แต่ ฟาเบรกาส ก็ได้สัมผัสแชมป์พรีเมียร์ลีกถึงสองสมัยกับ เชลซี ซีซั่น 2014-15 และ 2016-17
2011-2013: ดาบิด ซิลบา
การย้ายมาสู่พรีเมียร์ลีกของ ดาบิด ซิลบา จากบทบาทปีกของ บาเลนเซีย ก็กลายเป็นจอมทัพที่ปั้นเกมรุกตรงกลางให้กับ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ จนกลายเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในยุคบุกเบิก เรือใบสีฟ้า ขึ้นเป็นยักษ์ใหญ่
ฤดูกาล 2011-12 คือปีที่พลิกหน้าประวัติศาสตร์ของสโมสร แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่ได้สัมผัสแชมป์ลีกสูงสุดของอังกฤษเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1968 โดยที่มีตัวหลักในการทำประตู เซร์คิโอ อเกวโร่ เป็นพระเอก เอดิน เชโก้ กับ มาริโอ บาโลเตลลี่ เป็นพระรอง และผู้สนับสนุนหลักในการทำประตู หรือจอมแอสซิสต์ ดาบิด ซิลบา
จนถึงเวลานี้ เข้าสู่ฤดูกาลที่ 10 และเป็นซีซั่นสุดท้ายของ ซิลบา กับ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ มิดฟิลด์ชาวสเปน ลงเล่นเกมพรีเมียร์ลีกไปแล้ว 301 นัด (ยังไม่สิ้นสุด) ทำไปถึง 90 แอสซิสต์ ค่าเฉลี่ยแตะหลัก 0.30 ประตูต่อเกม
2013-2017 เมซุต โอซิล
ค่าตัวระดับ 50 ล้านยูโรที่่ อาร์เซน่อล กล้าๆ จ่าย ในการดึง เมซุต โอซิล มาจาก เรอัล มาดริด เมื่อช่วงซัมเมอร์ปี 2013 ถูกมองว่าเป็นการการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะผลงานการสร้างสรรค์เกมรุก และแอสซิสต์ที่น่าจับตามองสุดๆ
ในช่วงเวลาที่พีคที่สุดของ ไม่มีใครสร้างสรรค์โอกาสให้เพื่อนทำประตูได้ดีไปกว่า โอซิล อีกแล้ว ทั้งการแอสซิสต์จากลูกเตะมุม ลูกฟรีคิก และจุดเด่น การลากตัดเข้าในแล้วแทงทะลุช่อง หรือถวายพานให้เพื่อนยิง
ซีซั่นที่ดีที่สุดของ โอซิล คือ 2015-16 ทำไป 19 แอสซิสต์ เป็นรองสถิติแอสซิสต์มากที่สุดต่อหนึ่งฤดูกาลของ เธียร์รี่ อองรี เพียงประตูเดียวเท่านั้น รวมผลงานจนถึงปัจจุบัน 54 แอสซิสต์จาก 184 เกมพรีเมียร์ลีก ค่าเฉลี่ย 0.29 ประตูต่อเกม
แม้ถูกมองว่าเป็นนักเตะสไตล์ ขี้เกียจวิ่ง กินแรงเพื่อน แต่ตราบใดที่ยังคงมีแอสซิสต์ให้เห็นเรื่อยๆ แฟนๆ เดอะ กันเนอร์ส ก็คงไม่แคร์อะไร
2017-ปัจจุบัน เควิน เดอ บรอยน์
หลังจาก เชลซี ไม่ค้นพบความงามในตัว เควิน เดอ บรอยน์ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ จึงได้เครดิตเต็มๆ กับการปลุกปั้นมิดฟิลด์เบลเยียมจนกลายเป็นสตาร์ของพรีเมียร์ลีก และกำลังจะก้าวเข้าสู่ระดับตำนานของสโมสรในไม่ช้า
เดอ บรอยน์ มีสไตล์การแอสซิสต์ที่หลากหลายมาก ทั้งลูกตั้งเตะทุกชนิด ลูกครอสที่เต็มไปด้วยพิษสงจากริมเส้นทั้งสองฝั่ง แถมยังมีการทะลุทะลวงตรงกลาง มีแอสซิสต์จากการแทงทะลุช่อง และยังมีทีเด็ดในการทำประตูเองจากฟรีคิกและยิงไกลด้วย ครบเครื่องที่สุดในฐานะ 'จอมทัพ' หรือกองกลางตัวสร้างสรรค์เกมรุกของทีม
จากซีซั่นแรกนับตั้งแต่ย้ายจาก โวล์ฟสบวร์ก กลับพรีเมียร์ลีก 'เคดีบี' เริ่มต้นเบาๆ 9 แอสซิสต์ แล้วจึงขยับเป็นดาวแอสซิสต์ 18 ประตูในซีซั่นต่อมา 2016-17 จากนั้นก็ครองดาวแอสซิสต์อีก 16 ประตูในซีซั่น 2017-18 ก่อนจะหายไปจากระบบซีซั่นที่แล้ว และซีซั่นนี้ก็กลับมาระเบิดแอสซิสต์ใหม่ ทำไปแล้ว 16 ประตู (ยังไม่จบซีซั่น)
จาก 146 เกมพรีเมียร์ลีก เดอ บรอยน์ กระหน่ำแอสซิสต์ไปแล้วถึง 62 ประตู ค่าเฉลี่ยสูงกว่าใครเพื่อน 0.42 ประตูต่อเกม และหากไม่รีบย้ายไปเล่นกับยักษ์ใหญ่ลาลีกาเสียก่อน มีโอกาสได้เห็นการทำลายสถิติแอสซิสต์เกิดขึ้น
การจะเป็นราชาแอสซิสต์ได้ สำคัญที่สุดเลย คุณต้องมีศูนย์หน้าเพื่อนร่วมทีมที่เชื่อใจได้ เพราะต่อให้คุณปั้นเกมรุก สร้างสรรค์เกมรุก หรือเปิดบอลมาสวยงามแค่ไหน หากเพื่อนยิงนกตกปลา ที่ทำมา ก็หายหมด