การเริ่มต้นงานโค้ชของ เวย์น รูนี่ย์ ที่ ดาร์บี้ เคาน์ตี้ ไม่ง่ายดายเหมือน แฟร้งค์ แลมพาร์ด สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยนอกสนามที่หลายคนมองไม่เห็น
สองฤดูกาลก่อน แลมพาร์ด เคยเริ่มต้นบทบาทผู้จัดการทีม หรือเฮดโค้ช กับ ดาร์บี้ เคาน์ตี้ ในเวทีแชมเปี้ยนชิพ ก้าวไปไกลถึงรอบเพลย์ออฟเลื่อนชั้นในฤดูกาลแรก และกระโดดข้ามไปคุมทีมใหญ่ เชลซี ที่ตนเองเป็นตำนานแห่ง สแตมฟอร์ด บริดจ์
รูนี่ย์ ก็หวังเดินตามรอยเท้ารุ่นพี่ในทีมชาติอังกฤษ หลังจากตัดสินใจรับภาระสำคัญ ผู้เล่น-โค้ชของ เดอะ แรมส์ แทนที่ ฟิลิป โคคู ที่ลงจากตำแหน่งในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน ซึ่งตอนนั้นผลงานของทีมอยู่อันดับ 24 หรือจมบ๊วย ห่างโซนปลอดภัยถึง 6 คะแนน และ 'รูน' ก็ตัดสินใจไม่ใส่ชื่อตัวเองอยู่ในทีมในฐานะนักเตะ
ผลงานของ รูนี่ย์ ในการคุม ดาร์บี้ อยู่ในระดับปานกลาง แต่ก็เพียงพอให้ เมล มอร์ริส เจ้าของสโมสร และดำรงตำแหน่งประธานสโมสรด้วย ตัดสินใจแต่งตั้ง อดีตศูนย์หน้าทีมชาติอังกฤษ เป็นผู้จัดการทีมถาวรในช่วงกลางเดือนมกราคม หลังจากสลัดพ้นโซนแดงขึ้นมาหายใจหายคอโล่ง
และ รูนี่ย์ ก็ตัดสินใจแขวนสตั๊ดอย่างเป็นทางการในตอนนั้น
ทุกอย่างดูเหมือนจะเป็นไปด้วยดี กลางเดือนกุมภาพันธ์ รูนี่ย์ พา ดาร์บี้ ขึ้นสู่อันดับ 18 ห่างจากโซนปลอดภัยถึง 8 คะแนน ตอนนั้นสถานการณ์ดูดีไปหมด ถึงขั้นมีชื่อเป็นหนึ่งในแคนดิเดทกุนซือใหม่ของ เซลติก
แต่พอเข้าสู่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา กลายเป็นฝันร้ายของ รูนี่ย์ อย่างแท้จริง ดาร์บี้ พบชัยชนะแค่เกมเดียวจาก 13 เกม ตั้งแต่แมตช์ที่ 32-44 หล่นไปอยู่อันดับ 21 ตั้งแต่กลางเดือนเมษายน
สาเหตุเดียวที่ทำให้ ดาร์บี้ ยังไม่หล่นไปอยู่ในโซนตกชั้น ก็เพราะทีมอันดับ 22 ร็อทเธอร์แฮม ผลงานแย่ไม่แพ้กัน และอันดับ 23, 24 เชฟฟิลด์ เว้นส์เดย์ กับ วีคอมบ์ วันเดอเรอร์ส มีแต้มตามห่างเกินไป
จากทีมที่ได้เพลย์ออฟเลื่อนชั้นสองฤดูกาลติดต่อกัน 2017-18 และ 2018-19 หล่นมาจบอันดับ 10 ฤดูกาลที่แล้ว และตอนนี้ รูนี่ย์ กำลังตกที่นั่งลำบากกับการพาทีมหนีตกชั้นตั้งแต่ซีซั่นแรกที่เริ่มต้นงานผู้จัดการทีม
รูนี่ย์ ถูกวิจารณ์เยอะเรื่องเกมรับที่ปวกเปียก และความอ่อนด้อยเรื่องแท็กติก แต่ก็มีอีกไม่น้อยที่มองว่า เป็นเรื่องจังหวะและช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม เพราะไม่ว่าใครที่มารับงานต่อจาก โคคู ก็คงต้องเจอปัญหาเหมือนกันหมด
อย่างไรก็ตาม นอกจากเรื่องผลงานในสนามแล้ว ยังมีเรื่องนอกสนามที่หลายคนอาจไม่รู้
ก่อนที่ รูนี่ย์ จะรับงานคุมทีมตั้งแต่ตอนทำหน้าที่ชั่วคราว จนมาถึงการรับบทบาทเฮดโค้ชถาวรนั้น มอร์ริส เจ้าของสโมสร เคยยืนยันหลายครั้งเรื่องการขายสโมสรที่กำลังเร่งดำเนินการอยู่ แต่ท้ายสุดแล้วการเจรจามูลค่า 60 ล้านปอนด์กับ ชีค คาเล็ด ที่กินเวลานานถึง 4 เดือน มีอันล้มเหลวไปเมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคม
รูนี่ย์ เจอปัญหาในตลาดซื้อขายเดือนมกราคมที่ มอร์ริส จำเป็นต้องขายนักเตะ ดูอาน โฮล์มส์, จอร์จ อีแวนส์, มอร์แกน วิทเทเกอร์ แม้จะเสริมทัพเข้ามาด้วยการยืมตัว อาทิ เทเดน เมนจี้, ลี เกรกอรี่, แพทริค โรเบิร์ตส์ ก็ตาม
ปัญหาทางการเงินของสโมสรในฤดูกาลนี้ รูนี่ย์ รับทราบและเข้าใจดี เพราะมีหลายครั้งที่ มอร์ริส หมุนเงินไม่ทัน และจ่ายค่าจ้างไม่ตรงเวลา แต่ก็เชื่อว่าสถานการณ์ต่างๆ กำลังค่อยๆ คลี่คลาย
เมล มอร์ริส (คนซ้าย)
ถึงตอนนี้ มอร์ริส ไม่มีปัญหาเรื่องค้างค่าจ้าง และจะจ่ายยอดเงินรวม 1.2 ล้านปอนด์ในเดือนเมษายน ขณะที่การเจรจาขายสโมสรครั้งใหม่ให้กับ เอริค อลอนโซ่ นักธุรกิจชาวสเปน ต้องชะลอออกไปอีก ซึ่ง มอร์ริส ไม่รับปากว่าจะหาเงินมาชำระค่าเหนื่อยในเดือนพฤษภาคมได้หรือไม่
ดังนั้น ปัญหาของ ดาร์บี้ เคาน์ตี้ และ รูนี่ย์ จึงไม่ใช่แค่ผลงานในสนามแล้ว และนั่นส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของนักเตะที่เต็มไปด้วยความกังวลเรื่องอนาคตที่ไม่มั่นคงของสโมสร
จากสถานการณ์ในตารางคะแนนตอนนี้ ดาร์บี้ มี 43 คะแนนจาก 44 เกม เหนือโซนตกชั้น 4 คะแนน แต่ ร็อทเธอร์แฮม ยังมีเกมตกค้างในมือหนึ่งนัด
เมื่อดูจากโปรแกรมสองเกมสุดท้ายที่ ดาร์บี้ ต้องบุกเยือน สวอนซี และเล่นในบ้านเกมสุดท้ายรับมือ เชฟฟิลด์ เว้นส์เดย์ ทีมในโซนตกชั้น จึงมีความเป็นไปได้กับการตกชั้นลงสู่ลีกวันในฤดูกาลหน้า
และหากเป็นเช่นนั้น เวย์น รูนี่ย์ คงต้องเลิกฝันเรื่องการเป็นผู้จัดการทีมพรีเมียร์ลีก และการกลับไปคุม แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในอนาคต แบบ โอเล่ กุนนาร์ โซลชา ไปได้เลย