คงไม่ต้องรอถึง 'เวิลด์คัพ 2022' เบลเยียม น่าจะสิ้นสุด 'โกลเด้น เจเนเรชั่น' เอาไว้แค่ 'ยูโร 2020' นี่แหละ
นับตั้งแต่ฟุตบอลโลก 1986 ที่จบอันดับ 4 เบลเยียม ไม่เคยประสบความสำเร็จในรายการใหญ่มาหลายทัวร์นาเมนต์
ยูโร 1988 ไม่ผ่านรอบคัดเลือก
ฟุตบอลโลก 1990 ตกรอบ 16 ทีมสุดท้าย
ยูโร 1992 ไม่ผ่านรอบคัดเลือก
ฟุตบอลโลก 1994 ตกรอบ 16 ทีมสุดท้าย
ยูโร 1996 ไม่ผ่านรอบคัดเลือก
ฟุตบอลโลก 1998 ตกรอบแรก
ยูโร 2000 ตกรอบแรก
ฟุตบอลโลก 2002 ตกรอบ 16 ทีมสุดท้าย
หลังจากนั้นนะเหรอ? เบลเยียม ไม่ผ่านรอบคัดเลือกเลยถึง 5 ทัวร์นาเมนต์ใหญ่ ยูโร 2004, ฟุตบอลโลก 2006, ยูโร 2008, ฟุตบอลโลก 2010, ยูโร 2012
จนกระทั่ง มาร์ก วิลมอตส์ เข้ามาคุมทีมในยุคทองที่มีนักเตะอย่าง เอแดน อาซาร์, โรเมลู ลูกากู, เควิน เดอ บรอยน์, ดรีส เมอร์เทนส์, แว็งซ็องต์ ก็องปานี, ยาน แฟร์ทองเก้น, โทบี้ อัลเดอร์แวเรลด์ เป็นต้น
วิลมอตส์ ปั้น เบลเยียม ไปได้ไกลถึงรอบ 8 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก 2014 จบด้วยการแพ้ อาร์เจนตินา และในยูโร 2016 ก็จอดป้ายในรอบเดียวกันด้วยน้ำมือ เวลส์ ทีมที่ถูกมองว่าเป็นรองกว่าพวกเขาเยอะ
จากนั้น เบลเยียม ก็เปลี่ยนมือจาก วิลมอตส์ มาเป็น โรเบร์โต้ มาร์ติเนซ และเปลี่ยนระบบการเล่นจาก 4-2-3-1 มาเป็น 3-4-3 หรือจะเรียก 3-4-2-1 ก็ตามแต่
ปัญหาที่เห็นได้จากยุคของ วิลมอตส์ คือ เบลเยียม ไม่มีฟูลแบ็กฝีเท้าดีเป็นตัวเลือก ต้องถ่างเซนเตอร์แบ็ก โทบี้ อัลเดอร์แวเรลด์ ออกไปเยือนแบ็กขวา, ยาน แฟร์ทองเก้น ออกไปยืนแบ็กซ้าย
จนมาถึงยุค มาร์ติเนซ ปัญหานี้ก็ยังคงอยู่ แต่เมื่อมีการปรับระบบการเล่น วิงแบ็กฝั่งซ้ายจึงเป็นการจับปีกหรือกองกลางตัวรุกมาเล่นแบบแก้ขัดแก้เขิน
ยานนิก การ์ราสโก้, นาเซอร์ ชาดลี่, ธอร์กาน อาซาร์ พวกนี้เคยถูกจับยืนวิงแบ็กมาทั้งหมด เกมรุกไหลลื่นดีไม่มีปัญหา แต่เกมรับคือสิ่งที่ มาร์ติเนซ ต้องแก้ไขอยู่ตลอด
ฟุตบอลโลก 2018 เบลเยียม ถูกมองว่าเป็นทีมที่มีเกมรุกสดมากๆ ด้วยวัยที่ไล่เลี่ยกันของบรรดาซูเปอร์สตาร์แนวรุก เอแดน อาซาร์ (27), เควิน เดอ บรอยน์ (26), โรเมลู ลูกากู (25)
แต่น่าเสียดายที่ต้องจอดรอบรองชนะเลิศ จากการแพ้ ฝรั่งเศส คู่แข่งที่ก้าวไปถึงแชมป์โลก 0-1
ดังนั้น หากมองกันตามขั้นบันได จากรอบ 8 ทีมสุดท้าย รอบรองชนะเลิศ มาถึง ยูโร 2020 เบลเยียม ก็คงต้องหวังถึงรอบชิงชนะเลิศแล้วแหละ
ซึ่งครั้งเดียวที่ เบลเยียม เข้าถึงรอบชิงชนะเลิศได้คือ ยูโร 1980 ที่แพ้ เยอรมันตะวันตก
สามปีผ่านไป จากฟุตบอลโลก 2018 สามตัวรุกเสริมความแข็งแกร่งเรื่องประสบการณ์มากขึ้น อาซาร์ (30), เดอ บรอยน์ (29-30), ลูกากู (28)
แต่ปัญหาคือแผงหลังสามคนนี่แหละ อัลเดอร์แวเรลด์ (32), แฟร์ทองเก้น (34), แฟร์มาเล่น (35) หมายความว่า ยูโร 2020 อาจเป็นทัวร์นาเมนต์สุดท้ายของบางคน แม้ฟุตบอลโลก 2022 กำลังจะมาถึงในอีกปีครึ่งก็ตาม
จากการจอดรอบ 8 ทีมสุดท้ายอีกครั้งของ เบลเยียม ต่อ อิตาลี 1-2 ในยูโร 2020 จากรายชื่อสิบเอ็ดตัวจริงของ มาร์ติเนซ มีเพียงสองคนเท่านั้นที่อายุต่ำกว่า 28 นั่นคือ ยูริ ตีเลมันส์ (24) กับ เจเรมี่ โดกู (19)
แม้ ลูกากู ซัลโวต่อเนื่องเป็นประตูที่ 4 ของทัวร์นาเมนต์ แต่โชคร้ายที่ เดอ บรอยน์ มีปัญหาก่อนเกมและถูกเข็นลงสนาม และ อาซาร์ ที่พลาดลงเล่นแน่นอน เป็นผลพวงมาจากสภาพร่างกายที่ย่ำแย่จากอาการบาดเจ็บบ่อยครั้งนับตั้งแต่เปลี่ยนชุดสโมสรจาก เชลซี ไปเป็น เรอัล มาดริด
สัญญาของ มาร์ติเนซ กับสหพันธ์ฟุตบอลเบลเยียม ยังคงมีไปจนถึงฟุตบอลโลก 2022 ที่แข่งขันกันระหว่างเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม และไม่น่าจะมีการยกเลิกสัญญาเกิดขึ้น เพราะเป็นช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับรอบคัดเลือก ฟุตบอลโลก ที่เริ่มต้นไป จากโปรแกรมการแข่งขันที่ล่าช้าออกไปด้วยเหตุผลโควิด-19
แต่อนาคตของนักเตะหลายคนที่น่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงหลังจบยูโร 2020 อาทิ ยาน แฟร์ทองเก้น (34), โธมัส แฟร์มาเล่น (35), อักเซิล วิตเซิล (32), ดรีส เมอร์เทนส์ (34), นาเซอร์ ชาดลี่ (31) เป็นต้น
มาร์ติเนซ จึงต้องสร้างทีมชุดใหม่ขึ้นมา แม้จะเปลี่ยนแปลงไม่ได้มากมายนัก แต่ เบลเยียม อาจไปได้ไกลและสวยกว่านี้หากทิ้งระบบการเล่น 3-4-3 แล้วกลับมาใช้งานหลังสี่
4-2-3-1 หรือ 4-3-3 น่าจะทำให้ เบลเยียม มีมิติในแดนกลางและการสร้างสรรค์เกมรุกที่หลากหลายขึ้น ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของทีมอยู่แล้ว ดีกว่าที่จะไปเปลืองโควต้าใช้สามเซนเตอร์แบ็กเหมือนอย่างที่ มาร์ติเนซ ยึดมาตั้งแต่ฟุตบอลโลก 2018
เชื่อว่าการค้นหาฟูลแบ็กฝีเท้าดี โดยเฉพาะแบ็กซ้ายที่ขาดแคลนอยู่ คงไม่ใช่เรื่องที่เกินกำลังของ มาร์ติเนซ และทีมงาน ยังมีเวลาให้ปรับเปลี่ยนระบบการเล่นก่อนถึงฟุตบอลโลก 2022 ที่น่าจะเป็นทัวร์นาเมนต์ 'สุดท้าย' ของเฮดโค้ชชาวสเปน