ทำไม อังกฤษ ถึงต้องการต่อสัญญากับ แกเร็ธ เซาธ์เกต? เอฟเอ พอใจกับผลงานที่เกิดขึ้นในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมางั้นเหรอ?
อันดับ 4 ฟุตบอลโลก 2018 อาจเป็นผลงานที่น่าทึ่ง หลังจากความผิดหวังใน 4 ปีก่อนหน้านั้นที่จอดรอบแบ่งกลุ่ม และ ยูโร 2016 ตกรอบ 16 ทีมสุดท้ายด้วยฝีมือของ รอย ฮ็อดจ์สัน ทั้งสองครั้ง
อังกฤษ มีโอกาสดีที่สุดที่จะปลดล็อก ได้สัมผัสโทรฟี่หรือความสำเร็จเสียที แต่ก็ยังคงจอดรอบรองชนะเลิศ ยูฟ่า เนชั่นส์ ลีก ซีซั่น 2018-19 และอีกครั้งใน ยูโร 2020 ที่ไปจนสุดทาง แต่ก็ยังจบด้วยความผิดหวังซ้ำซาก
หากดูจากพัฒนาการของ เซาธ์เกต เมื่อเทียบกับ ฮ็อดจ์สัน แน่นอนเป็นผลงานที่น่าชื่นชม และน่าภาคภูมิใจ
แต่ถ้าพิจารณาจากคุณภาพของทีมที่มีนักเตะเจเนเรชั่นใหม่ก้าวขึ้นมาครอบคลุมทุกตำแหน่ง จนถูกมองว่าเหนือกว่าชาติอื่นๆ ของยุโรปไปแล้วด้วยซ้ำ การพลาดแชมป์ถึงสามทัวร์นาเมนต์ติดๆ กัน เอฟเอ อาจต้องมองถึงการเปลี่ยนแปลงได้แล้ว
แน่นอน เซาธ์เกต ยังคงมีฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ให้แก้มืออีกครั้ง เพราะสัญญากับ เอฟเอ ที่มีอายุถึงเดือนธันวาคมปีหน้า หากผลงานดีขึ้นกว่าเดิมในแง่ของรายละเอียดต่างๆ ในเกมสำคัญโดยเฉพาะรอบลึกๆ ถึงตอนนี้ค่อยมาคุยเรื่องต่อสัญญากันก็ได้
แต่นี่เท่ากับว่า เอฟเอ พอใจที่จะเห็น อังกฤษ ในรูปแบบเดิมๆ ไปจนถึงศึกยูโร 2024 ไม่เปิดประตูต้อนรับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเป็นการยกระดับทีมให้ดีขึ้นไปอีกก็ได้
ที่ผ่านมา มองว่า อังกฤษ มีผลการแข่งขันที่ดีเพราะนักเตะที่มีอยู่ในมือ (รวมถึงนักเตะบางคนที่ไม่ได้ถูกเรียกติดทีมในบางครั้งด้วย) เซาธ์เกต มีทรัพยากรที่มีคุณภาพครบทุกตำแหน่ง โดยเฉพาะแนวรุกที่ได้ แฮร์รี่ เคน ก้าวขึ้นมาถูกจังหวะพอดี
จากผลงานสามทัวร์นาเมนต์ที่ผ่านมา อังกฤษ อยู่ในสถานการณ์คล้ายๆ กัน คือได้ประตูนำเร็ว และควรรักษาความได้เปรียบที่มีอยู่ แต่กลับตกเป็นรองคู่แข่ง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเพราะแท็กติกของ เซาธ์เกต
รอบรองชนะเลิศ ฟุตบอลโลก 2018 อังกฤษ นำเร็วตั้งแต่ 5 นาทีแรกจากฟรีคิกของ คีแรน ทริปเปียร์ และเหนือกว่า โครเอเชีย ทั้งโอกาสเข้าทำและการครองบอลตลอดช่วงครึ่งเวลาแรก แต่พอพักครึ่งกลับมา ทุกอย่างเปลี่ยนไป
อังกฤษ ถูกสั่งให้เล่นดึงเวลาตั้งแต่เริ่มต้น เน้นการครองบอลมากกว่าที่จะพาบอลขึ้นหน้า ซึ่งเป็นจุดเด่นของทีมในครึ่งแรก ตั้งใจรักษาประตูเดียวที่มีอยู่ แต่พอโดน อีวาน เปริซิช ยิงตีเสมอนาที 68 รูปเกมก็พังไม่เป็นท่า
โครเอเชีย ควบคุมทุกอย่างได้ดีกว่า และมายิงประตูชัยในช่วงต่อเวลาจาก มาริโอ มานชูคิช ผ่านเข้าชิงชนะเลิศกับ ฝรั่งเศส ทั้งที่ตำแหน่งนี้ควรจะเป็นของ อังกฤษ
หนึ่งปีต่อมา อังกฤษ ผ่านเข้าสู่ เนชั่นส์ ลีก ไฟนอล ฤดูกาล 2018-19 ด้วยฟอร์มในรอบแบ่งกลุ่มที่ดี ล้ม สเปน และแก้แค้น โครเอเชีย ในรอบแบ่งกลุ่ม เนชั่นส์ ลีก เอ
รอบรองชนะเลิศเจอกับ เนเธอร์แลนด์ส มาร์คัส แรชฟอร์ด สังหารจุดโทษให้ อังกฤษ นำในครึ่งแรก ภาพเดิมๆ จากเวิลด์คัพปีก่อนย้อนกลับมาเล่นงานในครึ่งหลัง พอ มัทไธส์ เดอ ลิกท์ ตีเสมอให้ อัศวินสีส้ม ในนาที 73 รูปเกมของ สิงโตคำราม ก็พังไม่เป็นท่าเหมือนเดิม เสียอีกสองประตูในช่วงต่อเวลา อดเข้าชิงชนะเลิศอีกตามเคย
อังกฤษ มีบทเรียนให้เห็นแล้ว แต่ เซาธ์เกต ไม่จดจำเอามาใช้ และยังคงเล่นแบบเดิมๆ ต้องการรักษาสกอร์ที่นำอยู่เพียงประตูเดียว แต่เวลาที่เหลืออยู่ มันยาวนานเกินกว่าที่จะเล่นแบบนั้น
และใน ยูโร 2020 เมื่อเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา ในรอบชิงชนะเลิศ จบลงแบบเดิม อังกฤษ นำเร็วจาก ลุค ชอว์ ตั้งแต่ 2 นาทีแรก หลังจากนั้นก็ไปเล่นรอคู่แข่งตีเสมอเหมือนเดิม โดย อิตาลี มาตีเสมอได้จาก เลโอนาร์โด้ โบนุชชี่ ในนาที 67 ก่อนยื้อกันไปจนถึงจุดโทษ และ สิงโตคำราม เป็นแค่พระรอง
จากสามทัวร์นาเมนต์ที่ผ่านมา อังกฤษ นำในครึ่งแรกเหมือนกันทุกครั้ง และมาโดนคู่แข่งตีเสมอในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน นาที 67-73
แสดงให้เห็นถึงการตัดสินใจของ เซาธ์เกต ทั้งเรื่องแนวทางการเล่น และแท็กติกต่างๆ ที่เรียกได้เต็มปากว่า 'สอบตก' เมื่อถึงเกมใหญ่ๆ หรือเกมสำคัญที่มีความหมาย
ฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ ควรจะเป็นทัวร์นาเมนต์สุดท้ายให้ เซาธ์เกต ได้แก้ตัวมากกว่า หลังจากนี้ เอฟเอ ควรพิจารณาโค้ชที่มีฝีมือมากกว่านี้ เพราะปัจจุบันโค้ชชาวอังกฤษก็เป็นตัวเลือกที่ดีหลายต่อหลายคน
อย่างน้อยๆ ก็มีประสบการณ์มากกว่า เซาธ์เกต ที่มีแค่การพา มิดเดิลสโบรช์ ตกชั้นจากพรีเมียร์ลีก และนำทีมชาติอังกฤษ ชุดยู-21 ล้มเหลวในศึกชิงแชมป์ยุโรปรุ่นอายุไม่เกิน 21 ปีแบบน่าขายขี้หน้า
แต่กลับกลายเป็นว่า แฟนๆ ทรี ไลออนส์ ต้องจมปลักอยู่กับ เซาธ์เกต ไปจนถึงศึกยูโร 2024 ร่วมกับนักเตะเจเนเรชั่นนี้ที่ถูกมองว่าดีที่สุดในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมา