ความบ้าคลั่งในการเสริมทัพของลีกฟุตบอลแห่งซาอุดิอาราเบีย แท้จริงแล้ว มันเป็นแผนการยกระดับความยิ่งใหญ่ของใครกันแน่?
ซาอุดิ โปรเฟสชันนอล ลีก หรือ ลีกสูงสุดของ ซาอุดิอาราเบีย วางแผนที่จะยกระดับลีกให้กลายเป็น 1 ใน 5 อันดับแรกของโลก หมายถึงการเป็นรองแค่ พรีเมียร์ลีก, ลาลีกา, กัลโช่ เซเรีย อา และ บุนเดสลีกา
การที่ อัล นาสเซอร์ ได้ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ไปร่วมทีมในช่วงต้นปี ทำให้พวกเขาคิดว่าจะได้ดาวดังคนอื่นๆ ตามมาอีกเพียบ เมื่อฟุตบอลยุโรปเข้าสู่ช่วงปิดฤดูกาล หรือช่วงเปิดทำการของตลาดซื้อขายซัมเมอร์
ทุกวันนี้ ซาอุดิ โปร ลีก ตกเป็นข่าวกับนักเตะชื่อดังเกือบทุกคนแล้ว เรียกได้ว่า แทบจะเปิดรายชื่อจิ้มเรียงคนกันเลยทีเดียว คงคิดว่ายื่นข้อเสนอไปสักร้อยคน ได้มาสัก 2-3 คนก็ยังดี
แต่ถ้าลองมองกันให้ดีๆ มีเพียงสามสโมสรหัวตารางอย่าง อัล อิตติฮัด, อัล นาสเซอร์, อัล ฮิลาล เท่านั้น ที่มีศักยภาพทางการเงินสูงพอที่จะกว้านซื้อใครก็ได้บนโลกใบนี้
นั่นเป็นเพราะสามสโมสรเหล่านี้ อัล อิตติฮัด, อัล นาสเซอร์, อัล ฮิลาล รวมถึง อัล อาห์ลี ที่เพิ่งเลื่อนชั้นกลับสู่ลีกสูงสุดในฤดูกาลหน้า มีเจ้าของสโมสรเดียวกันคือ...
พับลิก อินเวสต์เมนท์ ฟันด์ หรือ กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของ ซาอุดิอาราเบีย ภายใต้ความดูแลของ มกุฎราชกุมาร โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน
'พีไอเอฟ' ถูกยกให้เป็นหนึ่งในกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีสินทรัพย์รวมประมาณ 650,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ตีความให้เข้าใจง่ายขึ้น 'พีไอเอฟ' เป็นกองทุนสถาบันที่มีรัฐบาลเป็นเจ้าของ โดยรัฐบาลจะนำทุนสำรองหรือรายได้ของประเทศบางส่วนมาฝากไว้กับกองทุน เพื่อนำไปลงทุนและหาผลตอบแทนกลับสู่ประเทศ
การลงทุนมากกว่า 60 เปอร์เซนต์ เกิดขึ้นภายในประเทศ ส่วนนอกประเทศที่สร้างชื่อเสียงให้กับ 'พีไอเอฟ' มากที่สุดก็คือการเทกโอเวอร์สโมสร นิวคาสเซิ่ล ยูไนเต็ด แห่งศึกพรีเมียร์ลีก อังกฤษ
นั่นทำให้เราไม่ได้เห็นรายชื่อนักเตะของ เดอะ แม็กพายส์ อยู่ในลิสต์เสริมทัพของ ซาอุดิ โปร ลีก เลย
แล้วในเมื่อสามสโมสรหัวตารางของ ซาอุดิ โปร ลีก มีเจ้าของเดียวกัน ซึ่งก็เป็นกองทุนของภาครัฐจำนวน 75 เปอร์เซนต์ แล้วการแข่งขันฟุตบอลลีกจะมีความสนุกได้อย่างไร?
คำถามนั้น 'พีไอเอฟ' คงให้ความสนใจน้อยกว่าการยกระดับ ซาอุดิ โปร ลีก ให้มีชื่อเสียงภายในระยะเวลาอันสั้น
หลายคนเริ่มตั้งข้อสงสัยถึงความไม่ชอบมาพากล และพยายามเรียกร้องให้องค์กรใหญ่ทำอะไรสักอย่าง แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่า ฟีฟ่า เองก็คงทำได้แค่จับตามองสถานการณ์นี้อยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ
แล้วสโมสรฟุตบอลจะร่วมมือกันหยุดยั้งนักเตะชื่อดังไหลออกไปได้หรือไม่? คำตอบคือยาก
ยกตัวอย่าง เชลซี ที่ใช้เงินในการเสริมทัพไปมากกว่า 400 ล้านปอนด์ตลอดฤดูกาลที่แล้ว ต้องการรายรับเข้ามาเป็นการด่วนเพื่อให้เป็นไปตามกฏไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์
และเมื่อได้รับข้อเสนอในจำนวนที่สูงเกินจริง จึงไม่อาจปฏิเสธการปล่อยตัว คาลิดู คูลิบาลี่, ฮาคิม ซิเยค, เอดูอาร์ เมนดี้ ไปเล่นที่นั่น เช่นเดียวกับนักเตะที่จะได้รับค่าจ้างในจำนวนที่ไม่อาจหาได้จากที่ไหน
'พีไอเอฟ' เองก็บริหารจัดการร่วมกับ เชลซี ได้อย่างลงตัวครบทั้ง 4 สโมสรในกำมือ
อัล นาสเซอร์ ได้ ซิเยค
อัล ฮิลาล ได้ คูลิบาลี่
อัล อาห์ลี ได้ เมนดี้
และ อัล อิตติฮัด ก็ได้ เอ็นโกโล่ ก็องเต้ ที่หมดสัญญา
หรืออย่าง วูลฟ์แฮมป์ตัน วันเดอเรอร์ส ที่กำลังเจอปัญหา ไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์ อยู่เช่นกัน ก็พอใจที่จะตอบรับข้อเสนอขาย รูเบน เนเวส ไปให้ อัล ฮิลาล สูงถึง 47 ล้านปอนด์ ทั้งที่กองกลางทีมชาติโปรตุเกสเหลือสัญญาปีสุดท้าย และไม่น่าจะขายให้สโมสรอื่นในยุโรปได้ราคาสูงเท่านี้
นี่คือหนึ่งในการลงทุนด้านกีฬาของ ซาอุดิอาราเบีย ที่กำลังเร่งดำเนินอยู่ ก่อนหน้านี้พวกเขาลงทุนเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟอร์มูล่าวัน, ศึกมวยสากลชื่อดังระดับโลก และการก่อตั้ง แอลไอวี กอล์ฟ
ในมุมของฟุตบอล นอกจากการลงทุนยกระดับ ซาอุดิ โปร ลีก แล้ว พวกเขายังมีแผนการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพร่วมศึกฟุตบอลโลก 2030 แบบข้ามทวีปกับ อียิปต์ และ กรีซ แต่ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นการพิจารณาเท่านั้น
ถึงตอนนี้ เราคงทำความรู้จัก ซาอุดิ โปร ลีก และ พับลิก อินเวสต์เมนท์ ฟันด์ เจ้าของสโมสร นิวคาสเซิ่ล ได้ดียิ่งขึ้นแล้ว