แฟนบอลรุ่นเก่าคงรู้สึกใจหายที่เห็นการทำประตูจากลูกโหม่งน้อยลง ต้นเหตุก็มาจากการครอสบอลจากริมเส้นที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด
ไบรอัน ดีน ผู้ทำประตูแรกของพรีเมียร์ลีกซีซั่นแรก 1992-93 จากลูกโหม่งในชัยชนะของ เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด เหนือ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด 2-1 ให้นิยามการทำประตูด้วยศีรษะว่าเป็น 'ศิลปะของการทำประตู'
แต่สิ่งนั้นค่อยๆ ลดลง และอาจลดลงไปเรื่อยๆ
ฤดูกาล 1992-93 มีการทำประตูจากลูกโหม่งถึง 265 ประตู จากทั้งหมด 1,222 ประตู เทียบเป็นสัดส่วน 21.68 เปอร์เซนต์
ทุกสโมสรต่างมีศูนย์หน้าร่างใหญ่ หรือศูนย์หน้าหมายเลข 9 ประจำทีม โดยเฉพาะสโมสรเล็กๆ ที่ต้องใช้ลูกกลางอากาศเป็นอาวุธในการทำประตู
แต่พอยุคสมัยเปลี่ยนไป อะไรๆ ก็ย่อมเปลี่ยนแปลง
การทำประตูจากศีรษะเริ่มตกยุค โดยเฉพาะช่วงที่ สเปน และ บาร์เซโลน่า ประสบความสำเร็จกับ 'ตีกี ตากา'
และพรีเมียร์ลีกก็เริ่มซึบซับการเล่นฟุตบอลแบบเท้าต่อเท้า การขึ้นเกมด้วยบอลสั้นจากผู้รักษาประตู นับตั้งแต่ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า เข้ามาวางรากฐานที่ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในปี 2016
แน่นอน การเปลี่ยนแปลงไม่ง่าย แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ปีแรกของ เป๊ป ต้องจบซีซั่นแบบมือเปล่า แต่เมื่อมองถึงผลตอบแทนระยะยาว ก็คุ้มค่าที่จะลองเสี่ยง
การเล่นฟุตบอลแบบเท้าต่อเท้า และไม่ต้องการเสียการครอบครองบอล บางครั้งการขึ้นเกมรุกจากริมเส้นจึงถูกถ่ายบอลคืนไปเรื่อยๆ จนถึงผู้รักษาประตู มากกว่าที่จะครอสเข้าไปในกรอบเขตโทษ
และเมื่อเป็นเช่นนั้น ศูนย์หน้าหมายเลข 9 ก็ถูกลดบทบาท และค่อยๆ หายไปจากเกมพรีเมียร์ลีก
หลายปีก่อนหน้านี้ แซม อัลลาร์ไดซ์ กับ โทนี่ พูลิส ยังคงยึดมั่นแนวทางการเล่นลูกกลางอากาศ และการทำประตูจากศีรษะ แต่ปัจจุบันหลายทีมต้องการเล่นแบบ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ และ 'บิ๊กแซม' กับ พูลิส ก็ไม่เป็นที่ต้องการของพรีเมียร์ลีกอีกต่อไป
ซีซั่นนี้ หากจะคาดเดาว่าทีมใดทำประตูจากลูกโหม่งมากที่สุด อาจคิดถึงบอลหนีตายอย่าง เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด, เบิร์นลี่ย์ หรือ เอฟเวอร์ตัน
แต่กลับกลายเป็นว่า เชฟฯ ยูไนเต็ด เพิ่งทำประตูจากลูกโหม่งแค่ประตูเดียว, เบิร์นลี่ย์ มี 3 ประตู และ เอฟเวอร์ตัน มี 4 ประตู
นั่นเป็นเพราะทีมเล็กๆ ทีมที่หนีตกชั้น ต่างก็เล่นแบบเดียวกับทีมใหญ่ คือการต่อบอลสั้นจากผู้รักษาประตู แม้ฝีเท้าและความสามารถในการครองบอลของแนวรับเป็นรองก็ตาม
ในฐานะแฟนบอลรุ่นเก่า เมื่อมองเกมฟุตบอลปัจจุบันอาจรู้สึกหงุดหงิดที่จังหวะที่ต้องครอส แต่ไม่ครอส และถ่ายบอลกลับคืนหลัง สุดท้ายก็จบที่การเสียบอลโดยไม่ได้ลุ้นทำประตูใดๆ เลย
นั่นทำให้เราได้เห็นความแตกต่างระหว่างทีมใหญ่กับทีมเล็กมากขึ้น และเสน่ห์ของเกมฟุตบอลเริ่มลดลง
แต่ฟุตบอลไม่มีสูตรสำเร็จที่ตายตัว ใครจะรู้ อีกสิบปีข้างหน้า เราอาจได้เห็นเกมฟุตบอล 'Back to Basic' เมื่อทุกอย่างไปสู่จุดสูงสุด ก็สามารถคืนสู่สามัญได้