ยกระดับ วาน-บิสซาก้า
นับเฉพาะปี 2020 ที่ผ่านมา สถิติการแท็กเกิลของ วาน-บิสซาก้า อาจจะตกลงไป แต่จำนวน 96 ครั้งยังทำให้เขาครองความเป็นเบอร์ 1 ในเรื่องนี้ของลีกสูงสุดแดนผู้ดี (99 ครั้งในปี 2018 และ 133 ครั้งในปี 2019)
นั่นคือจุดแข็งของแบ็กขวาวัย 23 ปีที่ทำให้เขายึดตำแหน่งตัวจริงในทีมปิศาจแดง และยากจะมีใครมาแย่งพื้นที่ตรงนี้ด้วยผลงานอันคงเส้นคงวาตลอดปีครึ่งที่ผ่านมา
นอกจากนั้น วาน-บิสซาก้า ค่อยๆ พัฒนาการเล่นของตนเองให้หลากหลายยิ่งขึ้น ก่อนหน้านี้จุดอ่อนของอดีตฟูลแบ็กคริสตัล พาเลซ คือการเติมเกมรุกและผ่านบอลจากริมเส้น
ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจจะทำให้ 'AWB' ถูก แกเร็ธ เซาธ์เกต หมางเมินจากทีมชาติอังกฤษ เพราะหากนำผลงานในการช่วยเกมรุกของแข้งปิศาจแดงรายนี้ไปเทียบกับคนอื่นๆ อาทิ คีแรน ทริปเปียร์, เทรนท์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ หรือ รีซ เจมส์ บรรดานักเตะ 3 รายที่ว่ามาต่างมีทีเด็ดในจังหวะเติมเกมรุกและลูกครอสจากริมเส้นที่พร้อมสร้างโอกาสให้กับทีมได้เสมอ
สิ่งนี้คือจุดที่ วาน-บิสซาก้า ต้องพัฒนาให้ดีขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาเราได้เห็นสัญญาณที่ดีจากนักเตะ เขาพยายามในการเติมเกมมากขึ้น มีลูกครอสให้เห็นมากกว่าเดิม แม้ว่ายังไม่เด็ดขาดหรือได้เสียวเหมือนคนอื่นๆ แต่นั่นอยู่ในช่วงพัฒนาที่กำลังดำเนินไปด้วยดี แถมยังได้รับการสนับสนุนจาก โอเล่ กุนนาร์ โซลชา ที่เปิดไฟเขียวให้เติมเกมได้เต็มกำลัง
หลักฐานสำคัญคือนัดล่าสุดที่เขาทำประตูจากการเติมเกมเข้าเขตโทษ มันคือการประสานงานของสองฟูลแบ็กปิศาจแดงที่เกิดขึ้นในรอบหลายสิบเกม
ยิ่งฟุตบอลยุคปัจจุบันให้ความสำคัญกับตำแหน่งฟูลแบ็กอย่างมาก ดูได้จากทีมที่ประสบความสำเร็จในพรีเมียร์ลีกช่วงหลัง ซึ่งทีมเหล่านั้นต่างที่มีฟูลแบ็กเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ
ไม่ต้องไปไกล ดูได้จากสถิติฤดูกาลล่าสุดของทั้ง เทรนท์ และ แอนดี้ โรเบิร์ตสัน ซึ่งออกมายอดเยี่ยม และปฏิเสธไม่ได้ว่าสองฟูลแบ็กของ ลิเวอร์พูล คือหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ หงส์แดง ปลดแอกคว้าแชมป์ลีกในรอบ 30 ปี
ตัวเลขชัดเจนของสองฟูลแบ็กจากถิ่น แอนฟิลด์ อ่านได้ว่า 4 ประตู และ 13 แอสซิสต์ ของ เทรนท์ และ 2 ประตู 12 แอสซิสต์ ของฟูลแบ็กชาวสกอตแลนด์ ที่ทำได้ในพรีเมียร์ลีก
หรือย้อนกลับไปในฤดูกาลก่อนหน้านั้นที่ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ บดบี้กับ หงส์แดง ก่อน ซิตี้ จะฟาดแชมป์มาครอง บรรดาฟูลแบ็กของ เรือใบสีฟ้า ก็เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนทีมให้ประสบความสำเร็จ
แม้ว่าจำนวนแอสซิสต์หรือการทำประตูจะเป็นรองฟูลแบ็ก ลิเวอร์พูล แต่การเล่นของฟูลแบ็ก แมนฯ ซิตี้ กลายมาเป็นตัวช่วยในเรื่องทางเลือกของการเดินเกมริมเส้น และยังมอบ 'ออปชั่น' ให้กับ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ในการเล่นงานฝ่ายตรงข้าม
นี่เป็นอีกจุดหนึ่งที่ แมนฯ ยูไนเต็ด เร่งพัฒนา ซึ่งตอนนี้ดูเหมือนว่า ลุค ชอว์ กำลังไปได้ดีกับตำแหน่งแบ็กซ้าย เพราะผลงานในซีซั่นนี้คือฟอร์มการเล่นที่ดีที่สุดนับตั้งแต่ที่เขาย้ายมาสวมชุดปิศาจแดง
จากนักเตะตัวความหวังอนาคตไกล แต่ต้องเจอกับอาการบาดเจ็บเล่นงานจนเกือบจะถอดใจไปแล้ว แต่ฤดูกาลนี้ ชอว์ พลิกสภาพกลายมาเป็นแบ็กซ้ายลำดับต้นๆ ของลีกสูงสุดเมืองผู้ดี
ปัจจัยสำคัญคือการมาของ อเล็กซ์ เตลลิส เมื่อหน้าร้อนปีที่แล้ว แบ็กจอมบุกชาวบราซิลกลายมาเป็นคู่แข่งในการแย่งตำแหน่งแบ็กซ้าย ซึ่งมันส่งผลให้นักเตะเก่าในทีมต้องเร่งพัฒนาและมันส่งผลดีเกินคาด
เราจะเห็นได้ว่าพัฒนาการของ ชอว์ ก้าวกระโดดอย่างมาก การเติมเกม การครอสบอล หรือสอดประสานกับตัวริมเส้นที่ดีขึ้น นั่นจึงกลายมาเป็นอีกหนึ่งอาวุธสำคัญของทีม
จึงไม่แปลกใจที่มีข่าวว่า โซลชา กำลังเล็งดึงแบ็กขวารายใหม่มาร่วมทีมซึ่งน่าจะเป็นช่วงซัมเมอร์นี้ เพราะอยากให้มีการแข่งขันในทุกๆ ตำแหน่ง
แน่นอนว่า อารอน มีผลงานที่คงเส้นคงวา แต่สิ่งที่จะทำให้คนๆ หนึ่งพัฒนามากกว่าเดิมโดยเฉพาะในวงการกีฬาคือการทำให้นักเตะมีการแข่งขันภายใน ทำให้เขาคนนั้นมีแรงกระตุ้นเพื่อรักษาผลงานและพัฒนาให้ดีกว่าเดิม
วาน-บิสซาก้า อาจจะพัฒนาผลงานในแนวรุกได้ดีขึ้น แต่สิ่งนั้นถูกมองว่ายังสามารถผลักดันต่อไปได้ ซึ่งส่วนสำคัญที่สุดคือการแข่งขันที่ต้องเพิ่มความเข้มข้นให้มากกว่านี้
ตลอดหนึ่งปีกว่าที่ผ่านมาหรือนับตั้งแต่ย้ายมาเล่นใน โอลด์ แทรฟฟอร์ด กองหลังวัย 23 ปีรายนี้แทบจะไม่ต้องกังวลกับตำแหน่งตัวจริงในทีม เพราะส่วนหนึ่งมาจากผลงานอันยอดเยี่ยมจนหาใครสอดแทรก และหากไม่เจ็บป่วยหรือติดโทษแบน รายชื่อ 11 คนแรกต้องมี วาน-บิสซาก้า อยู่เสมอ
แต่อย่างที่เรียนไปข้างต้น ถึงตรงนี้ โซลชา และทีมงานคงต้องมองหาวิธีการดึงศักยภาพของ วาน-บิสซาก้า ออกมาให้ได้มากกว่านี้ ซึ่งหนึ่งในเรื่องที่สำคัญคือหาคนที่จะมาแย่งตำแหน่งกับเขา
สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในทีม ยูไนเต็ด เพราะสมัยที่ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน คุมทีม ยอดกุนซือรายนี้มักจะดึงนักเตะชั้นนำเข้ามาร่วมทีมอยู่ตลอดเวลา โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญคือการให้นักเตะใหม่เข้ามากระตุ้นนักเตะชุดเดิม พร้อมทั้งเข้ามาแย่งตำแหน่งกับแกนหลักในทีม มันจึงเกิดการแข่งขันภายใน และยังเป็นการวัดทัศนคติของนักเตะด้วยว่ามีความพยายามในการรักษาตำแหน่งหรือพัฒนาตนเองหรือไม่
มันคือการผลักดันและส่งสัญญาณไปยังนักเตะโดยตรงว่า 'หากนายเฉยชาหรือชะล่าใจ นายอาจจะหลุดจากตำแหน่ง'
สำหรับ วาน-บิสซาก้า นี่คือช่วงเวลาในการยกระดับตนเองให้ไปยังจุดที่สูงกว่าเดิม การป้องกันของเขาถือว่าสุดยอดจนทำให้ปีกชั้นนำหลายๆ รายแทบหมดพิษสง แต่สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้นคือการเพิ่มอาวุธให้ตนเอง และหากเขาสามารถยกระดับในเรื่องที่ขาดหายไปได้ ก็ยิ่งจะทำให้แบ็กรายนี้ครบเครื่องมากกว่าเดิม
คอลัมน์กีฬาบทความกีฬาต่างๆโดยนักวิเคราะห์ GURUชั้นนำของไทย มีให้ท่านได้เสพทุกวันที่เว็บไซต์ TH SPORT