:::     :::

ที่มา, ปรัชญา และเรื่องราวหลังจากนี้

วันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน 2564 คอลัมน์ ผีตัวที่ 13 โดย โกสุ่ย
2,094
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
แฟนบอล แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กำลังเนื้อเต้นกับข่าว ราล์ฟ รังนิก ที่ถูกสื่อระดับชั้นอ๋องยืนยันว่า 'ใกล้' จะลงเอยตำแหน่งกุนซือคนใหม่

กระแสดังกล่าวสร้างแรงกระเพื่อมได้อย่างมาก ไม่เพียงแค่สื่อที่โหมข่าวอย่างต่อเนื่อง เพาะบรรดากุนซือคนอื่นๆ และคนในวงการฟุตบอลต่างหล่นความเห็นเรื่อง รังนิก กำลังจะรับเผือกร้อนที่ โอลด์ แทรฟฟอร์ด 

สำหรับแฟนบอลบุนเดสลีกาหรือคนที่ติดตามลูกหนังเยอรมนีมาอย่างต่อเนื่องคงรู้จักมักคุ้นเทรนเนอร์วัย 63 ปีรายนี้เป็นอย่างดี เพราะเขาคือหนึ่งในบุคคลที่ปฏิวัติวงการลูกหนังเมืองเบียร์ยุคใหม่ด้วยแผนการเล่นที่ดุดัน, น่าดูชม และโคตรมัน ซึ่งสร้างความบรรเทิงใจไม่ใช่เพียงแค่ทีมที่เขาคุมแต่รวมไปถึงสโมสรต่างๆ ที่พยามยามเอาอย่าง

แม้เส้นทางสายกุนซือของเขาจะถูกบางคนค่อนแคะว่าไม่ได้ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมมากนัก (ในส่วนของถ้วยแชป์) แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือการวางรากฐาน วางระบบ รวมไปถึงการสร้างรูปแบบในสโมสรที่เขาเข้าไปทำงาน

โดยเฉพาะ ฮอฟเฟ่นไฮม์ ซึ่งเป็นตัวอย่างชัดเจนที่สุด เพราะจากสโมสรที่มีวรรณะเพียงแค่ทีมในระดับดิวิชั่น 3 (ลีกา 3) แต่หลังจาก รังนิก เข้าไปปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพร้อมปูรากฐาน มาวันนี้ เทเอสเก คือหนึ่งในสโมสรที่ยืนตระหง่านบนเวทีบุนเดสลีกา และผลิดนักเตะมากมายเพื่อป้อนสู่ตลาด มีหลายคนได้ย้ายทีมพร้อมกลายไปเป็นดาวดังและคว้าแชมป์มาประดับบารมีมากมาย

หรือการเข้าไปพัฒนา แอร์เบ ไลป์ซิก ไม่ว่าจะรูปแบบการเล่น การดึงนักเตะมาปลุกปั้น การทำงานไม่ว่าเบื้องหลังและเบื้องหน้า เขาได้ช่วยยกระดับทีมที่ก่อตั้งมาได้ไม่นานให้กลายเป็นสโมสรชั้นนำของประเทศ

สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้มากจากเรื่องของโชค แต่มันเกิดขึ้นจากความมุ่งมั่นตั้งใจ ผ่านอุปสรรคและเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง รังนิกได้ละทิ้งความทะนงหันหลับมาพิจารณาตนเองพร้อมปรับตัวให้เป็นฟองน้ำเพื่อซึมซับสิ่งต่างๆ ก่อนจะบิดเกลียวมันออกมาเป็นตัวตนของเขาจนถึงทุกวันนี้






จุดเปลี่ยนสำคัญ - วันที่อากาศหนาวในเดือนกุมภาพันธ์ 1983


"ผมเคยทำหน้าที่ผู้เล่น-ผู้จัดการทีมให้ เอฟเซ วิคโทเรีย บัคนัง ในระดับดิวิชั่น 6" รังนิก ย้อนความหลัง 

"พวกเราไม่ได้เป็นทีมที่ดีมากนัก แต่พวกเราโชคดีสุดๆ ในหน้าหนาวเดือนกุมภาพันธ์ปี 1983 พวกเราได้พบเจอกับอัจฉริยะโดยบังเอิญ"

มันคือจุดเริ่มต้น จุดเปลี่ยน และเหตุการณ์ที่ทำให้ รังนิก ได้เปิดกะลาของตนเองมองเห็นโลกใบนี้ว่าช่างกว้างใหญ่และมีเรื่องราวให้เรียนรู้อีกมากมาย

คนที่ทำให้เขาได้พบเส้นทางที่ตามหาคือชายที่ชื่อว่า วาเลรี่ โลบานอฟสกี้ ตำนานโค้ช ดินาโม เคียฟ ที่พาทีมไปเก็บตัวใกล้กับสโมสรของ รังนิก ในตอนนั้น

จะว่าเป็นเรื่องบังเอิญก็ใช่ จะว่าเป็นโชคชะตาก็แล้วแต่มุมมองของแต่ละคน แต่เกมอุ่นเครื่องนัดดังกล่าวได้เปลี่ยนความคิดในเรื่องการทำทีมฟุตบอลของ รังนิก ไปโดยสิ้นเชิง

"ดินาโม เคียฟ ทีมของโค้ชระดับตำนาน วาเลรี่ โลบานอฟสกี้ พักอยู่ใกล้ๆ กับศูนย์ฝึกและพวกเขาอยากลงอุ่นเครื่องกับทีมที่ง่ายๆ ไม่กี่นาทีหลังจากบอลออกข้างสนามเป็นลูกทุ่ม ผมต้องหยุดดูและนับผู้เล่นของพวกเขา ว่าพวกเขามีนักเตะในสนาม 13 หรือ 14 คนหรือเปล่านะ?

"ผมเคยดวลกับทีมชั้นนำมาก่อนหลายครั้ง แน่นอนว่าพวกเราแพ้พวกเขาเป็นประจำ แต่อย่างน้อยทีมที่ว่ามาก็จะมอบช่วงเวลาให้คุณได้พักหายใจบ้าง แต่ เคียฟ เป็นทีมแรกที่ทำให้ผมเจอกับระบบการเล่นเพรสซิ่งลูกบอลแบบนั้น

"ผมตระหนักในทันทีว่านั่นคือฟุตบอลของผม ผมเข้าใจเลยว่านี่คือวิธีการเล่นที่แตกต่างออกไป"

นั่นคือเหตุการณ์ที่ทำให้ รังนิก ทราบทันทีว่าฟุตบอลมีรูปแบบที่หลากหลายแตกต่างกันไป แต่สำหรับเขาแล้ว ได้ตกหลุมรักวิธีการเล่น 'เพรสซิ่ง' แบบหนักหน่วงแสบถึงลำไส้ ซึ่งมันจะกลายมาเป็นสิ่งที่พลิกชะตาของเขาหลังจากนี้






ปรัชญา 'Gegenpressing'


Gegenpressing ถูกนำกลับมาพูดถึงอย่างมากในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งคือการที่ รังนิก ถูกโยงว่าใกล้ที่จะรับงานคุมทัพปิศาจแดง

Gegenpressing หรือ Counter pressing เป็นการเล่นที่ขึ้นชื่อลือชาตั้งแต่สมัยที่ เยอร์เกน คล็อปป์ ทำทีม โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ซึ่งกุนซือลิเวอร์พูลคนปัจจุบันเคยนิยามว่ามันคือ 'Heavy Metal Football' 

คำอธิบายดังกล่าวคงเป็นคำที่ทำให้เห็นเป็นรูปเป็นร่างมากที่สุด เพราะการเล่นของลูกทีม 'เจเค' จะพยายามบีบฝ่ายตรงข้ามในพื้นที่สูงตั้งแต่แดนคู่แข่งเพื่อให้เกิดความผิดพลาดและฉวยโอกาสทำประตู

เรื่องดังกล่าวมีหลักฐานชัดเจนเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งเป็นเกมที่สาวกปิศาจแดงไม่อยากจำ เพราะนอกจากสกอร์ที่โดนถล่มขาดลอย พวกเขายังถูก หงส์แดง สอนเชิงอย่างเจ็บแสบ

การบีบพื้นที่ อาศัยความผิดพลาดของฝ่ายตรงข้าม หลังจากนั้นการต่อบอลเพียงแค่ไม่กี่จังหวะหรือการแทงทะลุช่องหนเดียวก็นำมาซึ่งโอกาสทำประตูของพวกเขา

"Gegenpressing ทำให้คุณแย่งบอลกลับมาในพื้นที่ใกล้ๆ ประตู มันเป็นการสร้างโอกาสที่ดีจริงๆ จากการผ่านบอลเพียงจังหวะเดียวเท่านั้น ไม่มีเพลย์เมกเกอร์ในโลกคนไหนที่ดีเทียบเท่ากับสถานการณ์การเล่นแบบ Gegenpressing นั่นคือเหตุผลว่าทำไมมันถึงสำคัญ"

จากปากคำของ คล็อปป์ ข้างต้นสะท้อนให้เห็นการเล่นของ ลิเวอร์พูล อย่างชัดเจน เพราะจากทีมที่ได้ลุ้นแค่ ท็อป 4 ก่อนหน้านี้ พวกเขากลายสภาพมาเป็นหนึ่งในสโมสรฟุตบอลที่ดีที่สุดของโลกในยุคนี้ พร้อมกับอัตลักษณ์ที่ชัดเจน






ศิษย์-อาจารย์


เมื่อลองสืบคอนกลับไปถึงเส้นทาง Gegenpressing หลายคนยกย่องให้ รังนิก เป็นหนึ่งในกุนซือที่ปฏิวัติวงการฟุตบอลเยอรมนี ซึ่งยังถูกเชิดชูว่าได้ส่งต่อแนวคิดไปยังเทรนเนอร์รุ่นใหม่ อาทิ คล็อปป์, โธมัส ทูเคิ่ล และ ยูเลียน นาเกลส์มันน์ ไม่มากก็น้อย

กระนั้นกุนซือที่กล่าวมาข้างต้นได้ให้ความเคารพ รังนิก เป็นอย่างมากและไม่ปิดบังว่ามีอิทธิพลต่อรูปแบบและปรัชญาการทำทีมองพวกเขา

ในส่วน รังนิก นั้น หลังจากเจอแสงสว่างและจุดหมายในการพัฒนาตนเอง เขานำบทเรียนที่ได้รับจาก ดินาโม เคียฟ ในวันนั้นมาปรับปรุงเปลี่นนแปลงพร้อมค่อยๆ สร้างการเล่นตามแบบฉบับของตนเองขึ้นมา

"ไม่มีตำรา ไม่มีแบบฝึกหัด พวกเราไม่มีแม้แต่คำศัพท์เพื่ออธิบายของสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสนาม" รังนิก กล่าว

"แต่เราทราบว่านี่คืออนาคต และเราต้องค่อยๆ ทำความเข้าใจไปทีละขั้น"

อย่างที่เรียนไปแล้วว่าเส้นทางที่ผ่านมาไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ มีบ้างที่โดนสงสัย มีบ้างที่โดนค่อนแคะ แต่มันคือสิ่งที่ รังนิก ยึดมั่นก่อนจะทำให้คนอื่นๆ ได้เห็นและยอมรับในเวลาต่อมา

แทบทุกสโมสรในตอนนี้ปรับความเร็วในการเล่นให้เพิ่มมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน นักเตะแต่ละคนมีหน้าที่ของตนเอง แต่สิ่งที่สำคัญคือการบีบพื้นที่อย่างมีรูปแบบเพื่อกดดันให้ฝ่ายตรงข้ามเสียการครองบอลให้เร็วที่สุด

"ถ้าคุณต้องการเพิ่มความเร็วในเกมของคุณ คุณก็ต้องพัฒนาความคิดให้เร็วกว่าเท้าของคุณ" กุนซือวัย 63 ปีระบุ

"ที่ แอร์เบ พวกเราทำงานในการเพิ่มการจดจำพื้นที่และจัดการในส่วนของจังหวะความเร็ว ยกตัวอย่าง พวกเรานำนักตะเข้าสู่โปรแกรม Soccerbot ซึ่งเป็นเครื่องมือในการจำลองเกมที่ผ่านๆ มา และทำให้นักเตะตระหนักถึงช่วงเวลาสำคัญในเกมเหล่านั้น

"มันเป็นฟุตบอลแบบ PlayStation แต่คุณเล่นด้วยเท้าของตัวเอง บรรดานักเตะสนุกกับมันมาก และทำให้พวกเราเจอกับช่วงเวลายากลำบากในการหยุดไม่ให้พวกเขาทำมันเยอะจนเกินไป"

อีกหนึ่งจุดที่สำคัญนอกเหนือการสร้างระบบให้กับสโมสร สิ่งที่ รังนิก เน้นเป็นพิเศษคือการใช้งานนักเตะในแบบฉบับของตนเอง หรือการดึงผู้เล่นที่ถูกมองว่าจะเข้ากับปรัชญาของเขา

นี่เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมา รังนิก ได้ค้นพบเพชรเม็ดงามมากมายทั่วโลก หลายคนในตอนนี้กลายไปเป็นดาวดังประดับวงการฟุตบอลให้กับลีกชั้นนำต่างๆ 

ปัจจัยการเลือกนักเตะของ รังนิก ไม่ได้ขึ้นอยู่ว่าใครคนนั้นจะเด่นดังหรือมีชื่อเสียงฝีเท้าดีมากมายเพียงใด แต่มันคือการดึงคนที่ 'ใช่' เข้ามาเพื่อให้ระบบของเขาแสดงประสิทธิภาพที่ดีที่สุดออกมาให้เห็นในสนาม

"เขาจะดึงนักเตะที่เหมาะกับระบบการเล่นของเขาเข้ามาร่วมทีมเท่านั้น" เฮลมุต กรอสส์ หนึ่งในคนที่ถูกยกว่าเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาด้านลูกหนังคนสำคัญของ รังนิก เผยกับ ดิ แอธเลติก

"ส่วนใหญ่พวกเขายังหนุ่มแน่น อายุต่ำกว่า 23 ปี เป็นพวกเปิดใจ สภาพร่างกายแข็งแกร่ง และเรียนรู้ได้รวดเร็ว บ่อยครั้งที่บรรดานักเตะที่อายุมากมักจะชอบเล่นในความเร็วที่ช้าลงกว่าเดิม เพราะร่างกายและความคิดของพวกเขากำลังลดลง

"นักเตะต้องทำความเข้าใจ เตรียมการล่วงหน้า วิเคราะห์ จากนั้นลงมือทำให้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ศักยภาพในสมองคือสิ่งที่สำคัญที่เราไม่แม้แต่จะสามารถประเมินค่ามันได้

"มีนักวิจัยที่พัฒนาเกมคอมพิวเตอร์แบบพิเศษสำหรับนักฟุตบอลออกมาเพื่อพัฒนาทักษะทางความคิดเหล่านี้ ทุกๆ อย่างเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับพวกเราที่ แอร์เบ ท่ามกลางสิ่งอื่นๆ มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเรียนรู้ แต่สิ่งเหล่านี้มาจากพวกเราเช่นเดียวกัน"






สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลง ยูไนเต็ด?


หากไม่มีอะไรผิดพลาดในการแต่งตั้ง รังนิก หลังจากนี้กุนซือวัย 63 ปีจะได้โอกาสเข้ามาปฏิวัติการเล่นของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนกำลังจับตามอง

คำถามสำคัญคือระบบไหนที่ รังนิก ชื่นชอบ และจะนำเข้ามาใช้งานเพื่อเป็นพื้นฐานสร้างทีมผีแดง

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า รังนิก เป็นโค้ชที่ค่อนข้างยืดหยุ่นไม่ยึดติดกับแผนใดแผนหนึ่งมากนัก เขาสามารถปรับระบบการเล่นตามความเหมาะไม่ว่าจะเป็น 'แบ็กโฟร์' หรือ 'แบ็กทรี'

แต่สิ่งที่สำคัญนอกเหนือจาก Gegenpressing รังนิก จะเน้นไปที่การเล่นอย่างมีวินัยไม่ว่าจะเกมรุกหรือเกมรับที่ต้องทำตามแบบอย่างที่เขาวางไว้อย่างชัดเจน

โดยเฉพาะแนวรับซึ่งจะถูกดูแลเป็นพิเศษเพราะที่ผ่านมา ปิศาจแดง เสียประตูบ่อยและเสียง่ายอย่างมาก ซึ่งการมาของ รังนิก จะเข้าไปเพิ่มวินัย การสื่อสาร และรูปแบบการเช็กล้ำหน้าที่จะถูกเพิ่มเข้าไป เพราะมันคือหนึ่งในจุดเด่นการทำทีมของเทรนเนอร์รายนี้

นั่นคือสิ่งที่เชื่อว่า รังนิก จะเข้าไปปรับปรุงให้ดีขึ้นเป็นอย่างแรกเพราะมันคือรากฐานสำคัญของทีม นอกจากนั้น ใครที่ติดตามกุนซือรายนี้จะเห็นได้ว่าสมัยคุม ไลป์ซิก บรรดาแนวรับจะมีส่วนสำคัญในการพลิกเกมเพราะเมื่อตัดบอลได้การสวนกลับเร็วจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะทางริมเส้นหรือแทงทะลุช่องเพื่อเล่นงานฝ่ายตรงข้ามอย่างเจ็บแสบ นักเตะในทีมของเขาต้องเล่นบอลบนพื้นได้ดี ที่สำคัญคือการคิดวางแผนล่วงหน้าและใช้จังหวะให้น้อยที่สุดในการเล่นงานคู่แข่ง

อีกหนึ่งจุดที่น่าสนใจคือบรรดา ฟูลแบ็ก หรือ วิงแบ็ก ที่น่าจะได้โอกาสยกระดับฝีเท้าของตนเอง เพราะการเล่นของ รังนิก จะอาศัยเหล่าฟูลแบ็กฝีเท้าดีในการคอยเติมเกม ซึ่งจุดนี้เราเห็นหลักฐานได้ชัดเจนจาก ลิเวอร์พูล ที่แปลงสภาพให้ แอนดี้ โรเบิร์ตสัน กับ เทรนท์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ กลายมาเป็นผู้เล่นระดับโลกที่มีอาวุธติดตัวมากมาย

ทีนี้กลับไปยังคำถามที่ว่า รังนิก จะใช้แผนการเล่นแบบไหนหากเข้ามาทำงานใน โอลด์ แทรฟฟอร์ด?

ความเป็นไปได้มีทั้ง 4-3-3 เหมือนในสมัยที่คุม ฮอฟเฟ่นไฮม์ หรือ 4-2-2-2 ตอนทำทีม ไลป์ซิก แต่อย่างที่กล่าวไปว่าสำหรับ รังนิก ไม่ได้มีแผนการเล่นที่ตายตัวเพราะเขาคือกุนซือแนว 'Hybrid' ที่พร้อมปรับรูปแบบการเล่นตามความเหมาะสม บางนัดอาจจะผสมผสานและเห็นหลายรูปแบบที่เกิดขึ้นในสนาม

มีหลายครั้งที่ลงเล่นในระบบ 'แบ็กทรี' ไม่ว่าจะเป็น 3-5-2 หรือ 3-4-3 ซึ่งส่วนที่สำคัญกว่าระบบการเล่นคือนักเตะต้องเข้าใจถึงสิ่งที่โค้ชอยากให้เป็นไปในสนาม

"แท็กติก ความฟิต และกฎระเบียบ ทุกอย่างเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก ซึ่งมันเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้คุณประสบความสำเร็จ" กุนซือวัย 63 ปีกล่าวไว้เมื่อ 3 ปีก่อน

"งานของผมคือการพัฒนานักเตะ นักเตะติดตามคุณในฐานะผู้จัดการทีมถ้าพวกเขาคิดว่าคุณทำให้พวกเขาดีขึ้นกว่าเดิมได้ นั่นเป็นเรื่องที่ดีที่สุด แรงกระตุ้นที่แท้จริงอยู่ตรงนั้น"

ถึงตรงนี้ แฟนบอลแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กำลังตั้งตารอแถลงการณ์แต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากสโมสรเพื่อเข้าสู่ยุคใหม่

ยุคที่สาวกปิศาจแดงหวังว่าจะก้าวผ่านช่วงเวลาที่เลวร้ายไปสู่แสงสว่างที่พวกเขากำลังตามหา แต่ท้ายที่สุด รังนิก จะเป็นคนที่ใช่และเข้ามาเปลี่ยนแปลงสโมสรไปในทิศทางที่ดีหรือไม่ 

ผลงานในสนามจะเป็นตัวให้คำตอบได้ดีที่สุด



คอลัมน์กีฬาบทความกีฬาต่างๆโดยนักวิเคราะห์ GURUชั้นนำของไทย มีให้ท่านได้เสพทุกวันที่เว็บไซต์ TH SPORT

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด