สุดท้ายเป็นเพราะนักเตะ?
ย้อนกลับไปตั้งแต่สโมสรประกาศแต่งตั้ง ราล์ฟ รังนิก ทำหน้าที่รักษาการผู้จัดการทีม ณ ตอนนั้น 'ดูเหมือน' ว่าสิ่งต่างๆ จะดีขึ้น หลายคนมองโลกในแง่ดีว่า ปิศาจแดง จะพลิกสถานการณ์ให้กลับเข้ารูปเข้ารอย
มันก็ควรจะเป็นเช่นนั้น ผลงานของทีมกระเตื้องขึ้นมาหลังจากออกทะเลไปไกล ความหวังเริ่มทอประกายให้วิ่งไล่ตาม
กระนั้นวันเวลาผ่านไปเพียงเดือนเศษ บรรยากาศที่คุ้นเคยกลับมาอีกครั้งพร้อมคำถามที่โถมไปหา รังนิก ว่าเป็น 'คนที่ใช่' จริงๆ หรือไม่ เพราะผลงานของทีมกลับยังลุ่มๆ ดอนๆ และไม่เปลี่ยนไปอย่างที่ใครหลายคนคาดหวัง
เรื่องนี้หากให้ความเป็นธรรม (ไม่ได่มาทำหน้าที่ติ่งหรือนางแบก) กับเทรนเนอร์ชาวเยอรมันก็น่าเห็นใจ เพราะเดิมทีหากไม่มีเรื่องโควิด-19 เข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญให้ทีมต้องหยุดลงสนามและพลาดช่วงเวลาทองในการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ที่สำคัญคือการปรับตัวให้เข้ากับปรัชญาของ รังนิก 'บางที' ผลงานอาจจะดีกว่าที่เห็นก็ได้
เมื่อทีมต้องกักตัวไม่ได้ลงซ้อมตามโปรแกรมที่ รังนิก คาดหวังไว้ อะไรหลายๆ อย่างก็ต้องเลื่อนออกไปไม่ว่าจะเป็นแผนการซ้อม การพูดคุยภายในทีม หรือแม้แต่การลงลึกในเรื่องของการเล่นที่อยากให้เป็นไป
จะมองว่าเป็นคราวซวยก็ไม่แปลก เพราะหลังกลับมาจากการกักตัวเรื่องโควิด-19 แมนฯ ยูไนเต็ด มีผลงานกระท่อนกระแท่น ดูขาดๆ เกินๆ จนน่าหงุดหงิด แน่นอนว่าส่วนหนึ่งมาจากความฟิตของนักเตะที่ต้องหยุดลงสนามไปกว่า 2 สัปดาห์
เกมที่น่าจะชนะก็ต้องไล่ตามตีเสมออย่างกระเสือกกระสน เกมที่ต้องได้ 3 คะแนนต้องกลับกลายเป็นพ่ายคารังแถมยังเป็นรองทีมเยือนอย่างชัดเจน นั่นจึงเป็นที่มาของคำถามที่เกิดขึ้นในช่วงนี้
เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เมื่อทีมทำผลงานแย่หรือไม่มีพัฒนาการ หลายคนเพ่งเล็งไปที่ รังนิก ก่อนเลยและสงสัยว่าคือคนที่ใช่จริงๆ หรือไม่ มีบางคนสงสัยฝีมือซึ่งก็ไม่แปลกที่จะมีคนคิดเช่นนั้น
อย่างที่เรียนไปแล้วว่าบางสิ่งไม่ได้เข้าทาง รังนิก โดยเฉพาะระยะเวลาในการทำความคุ้นเคยกับนักเตะเพื่อให้คนในทีมได้ซึมซับรูปแบบ ปรับให้เข้ากับสิ่งที่เขาอยากให้เป็น สิ่งเหล่านั้นโดนโรคระบาดมาขัดขวางและมันส่งผลให้ออกมาเป็นเช่นนี้
แต่ลองมาพิจารณาอย่างละเอียดบรรดานักเตะก็ต้องมีส่วนที่ต้องรับผิดชอบเช่นกัน เพราะท้ายที่สุดแล้วการปรับเข้าหากันต้องเกิดจากทั้งสองฝ่าย หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ตอบรับหรือเพิกเฉยมันก็ยากที่จะเดินหน้า
แน่นอนว่านักเตะมีสิทธิ์สงสัยและตั้งคำถาม แต่การตั้งคำถามที่ว่ามันก็ต้องหลังจากลองลงมือปฏิบัติ แล้วค่อยมาพิจารณาอีกครั้งว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม
ช่วงเวลาผ่านไปเพียงเดือนเศษ คำถามมากมายพุ่งตรงมาที่ แมนฯ ยูไนเต็ด โดยเฉพาะ ราล์ฟ รังนิก ที่ถูกมองว่าเป็นคนแรกที่ต้องตอบคำถาม ซึ่งเขาก็พยายามหาคำอธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้น บรรยายถึงสิ่งที่เป็นไปในช่วงที่ผ่านมา
เรื่องราวที่เกิดขึ้นจึงไม่แปลกที่สื่อจะพยายามขุดคุ้ยหรือเสาะหาประเด็นเพื่อกะเทาะรอยร้าวที่เกิดขึ้น ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ดึงดูดความสนใจได้ดีไม่เพียงแค่แฟนบอลปิศาจแดงเท่านั้น
อย่าง มิร์เรอร์ ที่ออกมาแฉว่ามีนักเตะ 11 รายที่พยายามหาทางย้ายหนีสโมสร นั่นคือประเด็นที่ถูกเล่นมาตั้งแต่สมัย โอเล่ กุนนาร์ โซลชา คุมทีม เพราะขนาดสโมสรที่ใหญ่ มีนักเตะมากมายจึงมีบางคนไม่ได้ลงสนามเท่าที่ควร หรือบางคนที่โดนหว่านล้อมให้อยู่ต่อทั้งที่อยากออกไปหาโอกาสตั้งแต่ช่วงซัมเมอร์
ประเด็นนี้ถือว่าขายได้ตลอด โดยเฉพาะกับทีมที่ชื่อ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เพราะอย่างน้อยๆ ก็เรียกความสนใจให้คนเข้ามาอ่านหรือติดตามไม่ว่าจะกองเชียร์หรือกองแช่ง
บวกกับประเด็นของสื่อใหญ่อย่าง สกาย สปอร์ตส์ ที่ออกมาแฉสดๆ ร้อนๆ ว่ามีนักเตะบางรายที่เจอปัญหาในการปรับตัวให้เข้ากับแผนการเล่นของ รังนิก อย่างมาก และไม่ค่อยพอใจกับระบบของเทรนเนอร์ชาวเยอรมัน
สิ่งที่ สกาย ว่ามามีแฟนบอลต่างประเทศไม่น้อยที่เห็นด้วย เมื่อพิจารณาจากสีหน้าท่าทางหรือ 'ภาษากาย' ที่นักเตะแสดงออกมาในช่วงหลัง ถึงขั้นที่กองเชียร์บางรายจับผิดสีหน้าก่อนลงสนามดวลกับ วูล์ฟส์ ว่าเหมือนนักเตะไม่มีใจและหมดอาลัยตายอยาก
ประเด็นนั้นมันก็ยากที่จะฟันธงหรือว่าปักใจเชื่อได้เต็มร้อย เพราะการแสดงออกของแต่ละคนแตกต่างกันไป บางคนหน้านิ่ง บางคนหน้าขรึม บางคนยิ้มแย้มก่อนลงสนาม หรือเรียกได้ว่าการแสดงออกมันเป็นลักษณะนิสัยของแต่ละคน การมาตัดสินคนๆ หนึ่งจากท่าทางเช่นนั้นว่าต้องเป็นคนแบบนี้ดูจะเป็นการวัดคนแค่ภายนอกจนเกินไป
แต่สิ่งที่ชัดเจนและเห็นได้เต็มสองตาคือผลงานที่สวนทางกับความคาดหวัง การเล่นที่ดูเหมือนจะดีในทีแรกกลับกลายมาเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกอีกครั้ง โดยเฉพาะการผ่านบอลที่ไร้ความแม่นยำ ซึ่งถือเป็นพื้นฐานของนักเตะอาชีพที่ต้องรักษามาตรฐานตรงนี้ไว้ไม่ว่าจะเล่นให้ใครหรือรูปแบบไหนก็ตาม
กลายเป็นว่านักเตะก็โดนคำถามเช่นกันว่าท้ายที่สุดแล้วพวกเขาเล่นเพื่ออะไรกันแน่ เพื่อความสุขของตนเอง เพื่อสโมสร เพื่อแฟนบอล หรือแค่ความพึงพอใจที่ได้แสดงฝีเท้าโดยไม่สนว่าผลการแข่งขันจะออกมาเช่นไร
ในฐานะนักเตะการปรับตัวเพื่อเข้ากับระบบใหม่หรือปรับความคิดให้เข้ากับคนอื่นๆ คือสิ่งที่จำเป็น โดยเฉพาะฟุตบอลสมัยใหม่ที่เน้นแท็กติกแบบแผนมากขึ้น หากผู้เล่นไม่พยายามเปิดตัวเองและรับความคิดเข้ามาก็ยากที่จะเดินหน้าไปพร้อมกัน
ยิ่งไปเจอบทสัมภาษณ์ของ โธมัส ทูเคิ่ล หลังจบเกมชนะ สเปอร์ส เมื่อวันพุธที่ผ่านมาก็ยิ่งทำให้ต้องกลับมาตั้งคำถามถึงนักเตะ ปิศาจแดง อีกครั้ง เพราะมันแสดงให้เห็นถึงทัศนคติที่แตกต่างกันของผู้เล่น
แม้ทาง เชลซี จะมี 'ดราม่า' เกิดขึ้นแต่ทีมยังคงเดินหน้าต่อไปได้ แม้ว่า ทูเคิ่ล จะปรับระบบการเล่นแต่แข้ง สิงโตน้ำเงินคราม ก็ยังสามารถสร้างผลงานตามที่กุนซือต้องการได้
แล้วของ แมนฯ ยูไนเต็ด ล่ะ?
เข้าใจว่าทุกอย่างต้องใช้เวลาในการสร้างทีม เพราะส่วนตัวก็เชื่อเช่นกันว่าการก่อร่างสร้างอะไรสักอย่างขึ้นมาให้เป็นรูปเป็นร่างต้องใช้เวลา แต่ช่วงเวลาที่ผ่านมาโครงสร้างหรือพื้นฐานของสิ่งที่คาดหวังก็ควรถูกก่อขึ้นให้เห็นนบ้างไม่ใช่หรือ
แต่สิ่งที่เห็นตอนนี้กลับยังไม่เป็นทรงหรือไม่มีอะไรที่แสดงให้เห็นความชัดเจน กุนซือพยายามส่งต่อสิ่งต่างๆ ให้กับนักเตะ แต่ท้ายที่สุดภาพที่ รังนิก คิดไว้กลับไม่ฉายออกมาอย่างที่ต้องการ
ผ่านไปเดือนเศษกับเหตุการณ์ที่เหมือนจะวนมาแบบเดิม ลองพยายามมองในแง่ดีว่าหลังจากนี้ทีมยังมีเวลาให้ปรับตัวและจูนเข้าหากัน ซึ่งหวังว่าทุกฝ่ายจะหาจุดเชื่อมระหว่างกันได้ เพื่อให้ทีมเดินหน้าไปอย่างมั่นคง ไม่ใช่ติดๆ ดับๆ อย่างที่ผ่านมา
เพราะท้ายที่สุดเมื่อถึงเวลาที่ รังนิก หมดหน้าที่รักษาการและมีผู้จัดการทีมคนใหม่เข้ามารับไม้ต่อ หากตอนนั้นผลงานยังคงเป็นแบบวนลูปในวังวนที่แฟนบอลปิศาจแดงไม่อยากเห็น เป้าที่จะโดนโจมตีอย่างหนักหาใช่สโมสรแต่คงเป็นทัศนคติของนักเตะในทีมที่ไม่ยอมรับอะไรใหม่ๆ เข้ามา
คอลัมน์กีฬาบทความกีฬาต่างๆโดยนักวิเคราะห์ GURUชั้นนำของไทย มีให้ท่านได้เสพทุกวันที่เว็บไซต์ TH SPORT