:::     :::

ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

วันพฤหัสบดีที่ 24 มกราคม 2562 คอลัมน์ ฟุตบอลข้างถนน โดย โกสุ่ย
4,220
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ทุกสิ่งย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นหรือแย่ลง

ชีวิตคนก็เช่นกัน ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อมและปัจจัยต่างๆของสังคม ถึงตนเอง (หรือผู้อื่น) อาจจะมองไม่เห็นหรือแสร้งทำไม่ยอมรับ แต่ทุกคนย่อมรู้แก่ใจว่าสิ่งเหล่านั้นย่อมไม่เหมือนเดิม

ไม่ต่างไปจากวงการฟุตบอลที่เปลี่ยนแปลงแทบทุกปี หลายสิ่งเข้ามา ช้าบาง เร็วบ้าง แต่ก็ต้องยอมรับว่าทุกสิ่งมีอิทธิพลกับวงการฟุตบอล

เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นนั่นไง บรรดาเทคโนโลยีต่างๆเข้ามามีบทบาทกับเกมในสนามไม่ว่าจะเป็น 'โกลไลน์' หรือ 'วีเออาร์' ที่ทีแรกมีคนต่อต้าน แต่พอมองดูจากผลที่อกมาทำให้หลายคนเปิดใจและเริ่มยอมรับ

ไหนจะมีเรื่องเอเย่นต์นักเตะที่เข้ามาเอี่ยว แม้เรื่องนี้จะเกิดขึ้นนานมากแล้ว แต่ต้องยอมรับว่าช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา บรรดาตัวแทนของนักเตะเข้ามามีบทบาทสำคัญชนิดที่สามรถกำหนดอนาคตของนักเตะ ซึ่งบางครั้งมีผลมากกว่าสโมสร เสียอีก

เราจึงได้รู้จักชื่อของเอเย่นต์ดังๆ อาทิ มิโน่ ไรโอล่า, จอร์จ เมนเดส, ปีนี่ ซาฮาวี่ หรือกลุ่ม มีเดีย สปอร์ตส์ อินเวสต์เมนท์ ของ เคีย ชูรับเชี่ยน (คนที่พา การ์ลอส เตเวซ และ ฮาเวียร์ มาสเคราโน่ ไป เวสต์แฮม) และอีกมากมาย ที่เข้ามาทำธุรกิจ ในวงการฟุตบอลอย่างเปิดเผยมากขึ้น

นอกจากนี้บรรดาคนดังทั้งอดีตนักเตะหรือคนในวงการบันเทิงก็หันมาจับธุรกิจนายหน้านักกีฬา ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นการทำธุรกิจที่ผลตอบแทนดีและทำกำไรได้สูง

หรือจะเป็นเรื่องที่บรรดาสโมสรต่างพึ่งบริการของ ผู้อำนวยการ ในการมาลดภาระและแบ่งเบาหน้าที่ของ ผู้จัดการทีม หรือ หัวหน้าโค้ชในทีม ที่จะได้เอาเวลาไปทุ่มเทกับการทำทีมอย่างเต็มกำลัง ไม่ต้องมาปวดหัวเรื่องนักเตะให้เสียเวลา เหมือนเมื่อก่อน



ชัดเจนที่สุดคือทุกวันนี้เราจะไม่ได้เห็น ผู้จัดการทีม หรือ เฮดโค้ช ลงมาเล่นในตลาดนักเตะ แต่จะกลายเป็นบรรดา ผู้อำนวยการต่างๆที่เข้าไปเล่นในสงครามยื้อแย่งนักเตะแทน

นั่นจึงเป็นโอกาสให้คนที่มีความสามารถพยายามพาตนเองไปเสนองานให้กับสโมสรใหญ่ๆ และต้องบอกเลยว่าพวกสโมสรชั้นนำเองก็พยายามเสาะหา 'ผอ.' มากฝีมือเพื่อให้เข้าไปวางแผนและยุทธวิธีในการเดินเกมในตลาดนักเตะ

อีกเช่นกัน เราจึงได้รู้จักชายที่ชื่อ มอนชี่ ที่โด่งดังมากับ เซบีย่า จากผลงานการดึงนักเตะโนเนมก่อนจะปั้นให้มาเป็นดาวของวงการ

แต่ละสโมสรก็มีทิศทางที่แตกต่างกันไป สำหรับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็กำลังเสาะหาคนๆนั้นเช่นกัน แม้ว่าช่วงที่ผ่านมาจะมี เอ็ด วู้ดเวิร์ด คอยทำหน้าที่ดังกล่าว แต่ก็ต้องยอมรับว่าบางครั้งก็ทำให้สาวกปิศาจแดงขัดใจ

ตัดสินใจช้าบ้างล่ะ, ไม่เด็ดขาด, ไม่เขี้ยวลากดิน และที่สำคัญคือการปล่อยให้สัญญานักเตะคนสำคัญใกล้จะหมด และต้องมาหัวหมุนในช่วงเวลาที่เร่งด่วน ... 



... ปัจจัยต่างๆ เหล่านั้นส่งผลโดยตรงต่อนักเตะ ทุกวันนี้บรรดาผู้เล่นต่างมีอำนาจต่อรองมากกว่าเมื่อก่อนด้วยเม็ดเงินค่าเหนื่อยที่เพิ่มสูง และความต้องการของแต่ละทีมที่พร้อมจะตัดขาคู่แข่งเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ดีที่สุด

การงัดข้อระหว่าง สโมสร, นักเตะ และ เอเย่นต์ มีให้เห็นอยู่ทุกปี และส่วนมากมันมักจะจบแบบไม่สวย

ยิ่งอำนาจการตัดสินใจของผู้จัดการทีมโดนลดทอนลงไป ทำให้ความเกรงใจ (หรือเกรงกลัว) ของนักเตะไม่มีอีกต่อไป เพราะพวกเขาพร้อมที่จะโบกมือลาไปยังสโมสรที่ดีกว่าได้เสมอ

ลองจินตนาการดูว่าหากเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นในยุคที่ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ยังคงนั่งในตำแหน่งนายใหญ่ของปิศาจแดง หากเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นมาเขาจะมีวิธีการจัดการที่เด็ดขาดและชัดเจน 

'ไม่มีใครใหญ่กว่าสโมสร'

และไม่ว่านักเตะคนนั้นจะวิเศษวิโสมากเพียงใดก็พร้อมที่จะโดน 'เฟอร์กี้' ตัดหางทิ้งออกจากทีมทันที (บางครั้งอาจจะเจรจากันก่อนแต่หากไม่ดีขึ้นบทลงเอยก็เป็นเช่นนั้น)

แต่ ... วิธีการดังกล่าวคงนำมาใช้ในปัจจุบันไม่ได้อีกต่อไป ก็อย่างที่เรียนไปนั่นแหละบทบาทของผู้จัดการทีมถูกลดทอนลงไปให้เหลือเพียงมีอำนาจในการจัดการทีมในสนามซ้อมและสนามแข่ง ส่วนการเดินเกมทางการตลาดจะเป็น 

หน้าที่ของบอร์ดบริหาร

นักเตะเองก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้สิ่งต่างๆออกมาเป็นเช่นนี้ เพราะพวกเขารู้สึกว่าฟุตบอลปัจจุบันต้องมีความอิสระและแบ่งปันความเห็นกัน ไม่เหมือนสมัยก่อนที่เมื่อพลาดแล้วคุณต้องโดนนายใหญ่ของทีมเอ็ดตะโรและตำหนิแบบตรงไปตรงมา



"ทุกวันนี้คุณไม่สามารถนำวิธีการแบบ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน มาใช้ได้อีกแล้ว และบางทีผมคิดว่านั่นเป็นปัญหาใหญ่ของ โชเซ่ มูรินโญ่ อีกด้วย"

คำพูดข้าวบนมาจากปากของ ฟิล เนวิลล์ ที่ตอนนี้รับบทบาทเป็นผู้จัดการทีมหญิงของทีมชาติอังกฤษ

"นักเตะในปัจจุบันมรอำนาจมากขึ้น พวกเขาได้รับเงินมากกว่าเดิม พวกเขามีชีวิตออกห่างจากฟุตบอลซึ่งพวกเขาเชื่อว่าอาจจะสำคัญกว่าฟุตบอล แต่สมัยเมื่อ 20 ปีก่อน มันเป็นเพียงฟุตบอล"

"ตอนนี้มีการจัดการที่มากขึ้น และนั่นอาจจะเป็นปัญหาสำคัญของ โชเซ่ ... นักเตะในตอนนี้ไม่ได้มีความคิดแบบเดิมในเรื่องของการเตรียมตัว, การใช้ชีวิต และ ประพฤติตัวแบบมืออาชีพ"

นั่นคือคำพูดของอดีตนักเตะในยุครุ่งเรืองของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่เปลี่ยนผ่านมาเป็นผู้จัดการทีม เขาเห็นอะไรมามากมาย และแน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมันก็แสดงออกมาอย่างชัดเจนจนนำมาเปรียบเทียบได้

สิ่งสำคัญอีกหนึ่งเรื่องคือการที่ 'โซเชียล มีเดีย' เข้ามามีส่วนสำคัญในการใช้ชีวิตของทุกคนบนโลกใบนี้ ทุกความเคลื่อนไหว หรือกิจกรรมนอกสนามของบรรดานักเตะชื่อดังต่างถูกตามติดและสอดส่องตลอด 24 ชั่วโมง


"มันไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นที่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เท่านั้น หลายสโมสรเจอปัญหานั้น ในช่วง 12-18 เดือนดูเหมือนว่านักเตะเบื่อกับผู้จัดการทีม และคุณได้ยินเรื่องราวที่นักเตะเดินไปหาประธานสโมสรและผู้อำนวยการกีฬา ซึ่งนั่นไม่เคย เกิดขึ้นในยุคของผม"

คงไม่เป็นการกล่าวเกินไปว่าเกือบทุกสโมสรต่างเจอกับเรื่องราวในทำนองดังกล่าว ทีนี้ก็ขึ้นอยู่ที่การจัดการของแต่ละสโมสรแล้วว่าจะใช้วิธีใดมาแก้ไขสถานการณ์

ทิศทางการจัดการและแนวทางของสโมสรในยุคสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยที่เพิ่มขึ้น มองในแง่ดีถือเป็นการวัดศักยภาพของสโมสรและบุคลากรว่ามีความสามารถมากน้อยเพียงใดให้ทีมเดินหน้าต่อไป

แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไป หลายสิ่งเปลี่ยนแปลงตาม แต่ฟุตบอลยังคงอยู่ ที่สำคัญคือการปรับตัวและเรียนรู้กับสิ่งใหม่ รวมไปถึงการผสมผสานสิ่งต่างๆให้เดินไปพร้อมกัน 



คอลัมน์กีฬาบทความกีฬาต่างๆโดยนักวิเคราะห์ GURUชั้นนำของไทย มีให้ท่านได้เสพทุกวันที่เว็บไซต์ TH SPORT

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด