เมื่อ 'พรีเมียร์ลีก' ไม่เล่นด้วย
สถานการณ์ใน พรีเมียร์ลีก ตอนนี้เริ่มขยับมาถึงเส้นชัยกันแล้วโดยโค้งสุดท้ายนี้มีให้ลุ้นทั้งเรื่องของ 'แชมป์' และทีมใดจะจบพื้นที่ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก
จะว่าไปแล้วโควคา 'ยูซีแอล' ถือเป็นพื้นที่ที่บรรดาสโมสรต่างๆพยายามแย่งชิงมาครอง เพราะไม่เพียงการจะได้โอกาสร่วมโม่แข้งชิงชัยในศึกสโมสรยุโรปที่ใหญ่ที่สุด มันยังรวมไปถึง 'เม็ดเงิน' มหาศาล ที่แต่ละทีมจะได้รับ
ไหนจะค่าโฆษณา, ลิขสิทธิ์ต่างๆ หรือตั๋วชมเกม และยังรวมไปถึงการสร้างงานรอบๆสนามให้กับคนในละแวกนั้นได้มีช่องทางทำกิน
เราจึงได้เห็นการแย่งชิงที่ดุเดือดและการแข่งขันที่ไม่มีใครยอมใครตลอดหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งรวมไปถึงผู้จัดอย่าง สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือ ยูฟ่า ที่พยายามจะจัดรูปแบบและวิธีการให้เข้ากับยุคสมัย
กระนั้นดูเหมือนว่ารูปแบบที่ท่านประธานยูฟ่าคนปัจจุบัน อเล็กซานเดอร์ เซเฟริน เคยเสนอมาก่อนหน้านี้จะไม่ได้รับการตอบรับที่ดีเพราะมันดันไปกระทบกับขนบธรรมเนียมฟุตบอลของแต่ละประเทศเข้าอย่างจัง
ย้อนกลับไปในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาในตอนที่ เซเฟริน ถูกเลือกให้นั่งประธานใหญ่ ยูฟ่า ต่ออีกสมัย เขาได้ลั่นวาจาไว้ว่าจะทำงานร่วมกับ สมาคมสโมสรฟุตบอลยุโรป หรือ อีซีเอ เพื่อจะออกแบบรูปแบบการแข่งขันในอนาคตของเวทียุโรป
หนึ่งในนั้นคือการคลอดรายการยุโรปลำดับ 3 ที่จะถูกนำมาร่วมวงชิงชัยควบคู่ไปกับ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก และ ยูโรปา ลีก ซึ่งคาดการณ์กันว่าจะเริ่มในฤดูกาล 2021/22
แต่สิ่งที่เป็นปัญหานั่นไม่ใช่เรื่องของรายการที่ว่ามา แต่มันเป็นเรื่องของแนวคิดจากทาง ยูฟ่า และ อีซีเอ ที่จะพยายามโยกเกมยุโรปที่ปกติลงหวดช่วงกลางสัปดาห์มาเล่นในช่วงสุดสัปดาห์ ซึ่งจะชนกับการถ่ายทอดสดฟุตบอลลีกต่างๆของยุโรป
หลังจากมีแนวคิดเช่นนี้ออกมา แน่นอนว่าเกิดแรงต้านทานจากบรรดาลีกชั้นนำของยุโรปซึ่งนำโดย อังกฤษ ที่เป็นโต้โผในการออกแถลงการณ์เรื่องนี้เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา
"วันนี้ 20 สโมสรจาก พรีเมียร์ลีก ได้มาหารือถึงความกังวลเกี่ยวกับรายงานเรื่องการจัดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและการคัดเลือกในการแข่งขันรายการสโมสรยุโรป ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในฤดูกาล 2024/25"
"ทุกๆสโมสรมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าไม่เห็นด้วยกับการที่คณะกรรมการของฟุตบอลยุโรปเริ่มสร้างแผนงานที่อาจจะส่งผลต่อโครงสร้าง, เวลาแข่งและการลงสนามของเกมฟุตบอลในประเทศ และเราจะทำงานร่วมกันเพื่อปกป้อง พรีเมียร์ลีก"
นั่นคือส่วนหนึ่งของแถลงการณ์จากสโมสรสมาชิกของ พรีเมียร์ลีก ซึ่งพวกเขามองว่าหาก ยูฟ่า ยังคงดึงดันและดำเนินการปรับเวลาลงสนามให้มาเล่นในช่วงสุดสัปดาห์เพื่อให้ชนกับเกมในประเทศก็จะส่งผลเสียหายอย่างมาก
แน่นอนมันจะส่งผลถึงเรื่องจำนวนผู้ชมทางหน้าจอโทรทัศน์ ที่จะลดลงไปอย่างมาก ลองคิดดูง่ายๆ หาก ยูฟ่า โยกเกม แชมเปี้ยนส์ ลีก ของทีมดังๆอย่าง บาร์เซโลน่า, เรอัล มาดริด, ยูเวนตุส หรือบรรดาทีมระดับท็อปของ อังกฤษ มันย่อมส่งผลต่อเรื่อง 'เรตติ้ง' อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นอกจากนี้ พรีเมียร์ลีก เองก็มีเหตุเรื่องการปกป้องสิทธิ์ของตนเองทั้งในเรื่องของจำนวนเงินส่วนแบ่งด้านลิขสิทธิ์ และที่สำคัญคือการรักษาขนบธรรมเนียมปฏิบัติของพวกเขาที่ใช้เวลาช่วงเสาร์-อาทิตย์ออกไปเชียร์ทีมรักที่สนามแข่ง
ด้วยการที่ อังกฤษ เป็นประเทศที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยมพอสมควร แน่นอนว่าพวกเขาอยากรักษาธรรมเนียนการออกไปชมเกมในสนาม การได้เห็นพ่อแม่พาลูกๆไปซึมซับบรรยากาศการเชียร์ฟุตบอล เพื่อนฝูงพากันออกไปให้กำลังใจทีมรัก นั่นคือภาพที่อยู่คู่กับคนอังกฤษมาเป็น 100 ปี
ไม่เพียง พรีเมียร์ลีก ที่จะออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วย
เพราะก่อนหน้านั้น 2 วัน อัลแบร์โต้ โคลอมโบ ในฐานะรักษาการเลขานุการทั่วไปของ ยูโรเปี้ยน ลีกส์ ก็ออกมาเห็นแย้งกับความคิดของ ยูฟ่า ในเรื่องการปรับเวลาเตะของฟุตบอลสโมสรยุโรป
"เราจะปกป้องวันหยุดสุดสัปดาห์ของพวกเรา" โคลอมโบ ระบุ
"เราจะไม่อนุญาตให้การแข่งขันในเวทียุโรปมาเล่นในช่วงสุดสัปดาห์ แพสชั่นของแฟนบอลถูกขับเคลื่อนด้วยฟุตบอลท้องถิ่น และด้วยวัฒนธรรมของพวกเขาในการออกไปยังสนามแข่งพร้อมครอบครัวและเพื่อนๆในวันเสาร์หรืออาทิตย์"
สำหรับกรณีของ โคลอมโบ เขายังออกมาคัดค้านในแนวคิดของการคัดเลือกทีมที่จะเข้าไปเล่นในเวทียุโรป ที่ก่อนหน้านี้มีรายงานว่าอาจจะนำเอาระบบ 'การันตี' พื้นที่มาใช้งาน
กล่าวคือบรรดาสโมสรใหญ่อาจจะได้สิทธิ์ไปเล่น แชมเปี้ยนส์ ลีก แบบที่ไม่ต้องออกแรง ซึ่งทาง โคลอมโบ มองว่ามันจะเป็นการลดทอนเสน่ห์ของลีกลงไปแบบทันที
เรื่องนี้ก็น่าคิดตาม เพราะแต่ละปีสิ่งที่ขับเคลื่อนบรรดาสโมสรขนาดกลางหรือเล็กนั้น นอกจากการอยู่รอดในลีกสูงสุดแล้ว พวกเขายังมองไปถึง 'โบนัส' ในการลุ้นไปเล่นเวทียุโรป
สิ่งนี้คือเสน่ห์และทำให้การแข่งขันในลีกต่างๆสนุกมากขึ้นกว่า ซึ่งสิ่งนี้บรรดาผู้บริหารที่นั่งโต๊ะและคิดออกมาควรจะนำไปพิจารณาอย่างรอบคอบอีกครั้ง
นี่คือความเคลื่อนไหวในการพยายามเปลี่ยนแปลงของผู้บริหาร ยูฟ่า และ อีซีเอ แต่ดูเหมือนว่าเพียงแค่ขั้นตอนการเสนอแนวคิดก็ถูกแรงต้านจากลีกชั้นนำเข้าเสียแล้ว
ไม่ว่าจะถูกมองและตั้งข้อสังเกตในแง่ของการพยายามรักษาผลประโยชน์หรือเม็ดเงินลิขสิทธิ์จำนวนมหาศาล แต่เหตุผลของ พรีเมียร์ลีก ก็พอฟังขึ้นหากดูจากวัฒนธรรมที่พวกเขาสร้างกันมาอย่างยาวนาน
เรื่องราวเหล่านี้ช่างละเอียดอ่อน และแน่นอนว่าเมื่อถึงเวลาตัวแทนของแต่ละฝ่ายจะมานั่งถกกันอีกครั้งเพื่อหาทางออกและเสนอแนวคิดที่ทุกฝ่ายสามารถเห็นชอบกันได้
"โครงสร้างของฟุตบอลในประเทศถูกกำหนดด้วยฟุตบอลลีกและองค์กรของประเทศนั้นๆ"
เป็นคำพูดที่น่าคิดซึ่งมาจากแถลงการณ์ของสมาชิกสโมสร พรีเมียร์ลีก
ทุกอย่างเริ่มต้นจากรากฐาน แฟนบอลสนับสนุนทีมนั้นๆ พวกเขาเดินทางไปให้กำลังใจจนเป็นกิจวัตรประจำสัปดาห์ และกลายเป็นวัฒนธรรมที่สืบเนื่องจากรุ่นสู่รุ่น
การเปลี่ยนแปลงคือสิ่งที่ดี แต่ก็ต้องมาจากความเห็นชอบและศึกษาถึงผลกระทบที่อาจจะตามมา โดยเฉพาะผลกระทบด้านความรู้สึกและมันอาจจะส่งผลไปยังโครงสร้างที่แต่ละลีกสร้างสมกันมานาน
ยูฟ่า อาจจะมองไปแค่เรื่องของการตลาด แต่อย่าลืมว่านอกเหนือจากเม็ดเงินแล้ว หากมันไปกระทบกับรากฐานสำคัญแล้ว ความเสียหายและผลกระทบอาจจะส่งไปยังวงกว้างและอันตรายกว่าที่คิด
ต่อจากคือการเดินหน้าของแต่ละฝ่ายในการที่จะสนับสนุนเหตุผลของฝ่ายตนเอง และแน่นอนว่ามันจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนออก และเมื่อถึงวันนั้น เราคงทราบว่าเรื่องราวเหล่านี้จะออกมาเช่นไร
คอลัมน์กีฬาบทความกีฬาต่างๆโดยนักวิเคราะห์ GURUชั้นนำของไทย มีให้ท่านได้เสพทุกวันที่เว็บไซต์ TH SPORT