:::     :::

ปัญหาสมองของนักฟุตบอล

วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม 2562 คอลัมน์ ฟุตบอลข้างถนน โดย โกสุ่ย
1,834
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
'นักฟุตบอล' คืออาชีพในฝันของผู้ชายหลายๆคนบนโลกนี้ เพราะไม่เพียงเม็ดเงินที่มากมาย แต่ยังสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับพวกเขาได้เพียงช่วงข้ามคืน

จากเด็กหนุ่มธรรมดาๆคนหนึ่งอาจจะกลายเป็นนักเตะดาวดังที่ทุกคนทั่วโลกพูดถึง ยิ่งโลกสมัยนี้เปลี่ยนไป ข่าวสารส่งถึงกันเพียงแค่ไม่กี่วินาที ยิ่งทำให้นักเตะใหม่ถูกกล่าวถึงได้ง่าย

เส้นทางเหล่านี้คือเส้นทางที่เด็กหนุ่มที่เติบโตขึ้นมาอยากจะเป็นและฝันถึง นั่นคือเส้นทางที่พวกเขามองว่าจะทำให้ลืมตาอ้าปากได้ดีกว่าที่เป็นอยู่

โดยเฉพาะคนที่มาจากครอบครัวยากจนที่ต้องปากกัดตีนถีบ การเป็นนักฟุตบอลเปรียบได้กับโอกาสในการเปลี่ยนวิถีชีวิตของพวกเขา

หลายคนสามารถผันตนเองจากเด็กข้างถนนให้ก้าวมาเป็นสตาร์ดังประดับวงการฟุตบอล และมีอีกหลายคนที่สามารถพลิกชีวิตด้วยเพียงการอาศัยลูกกลมๆลูกนี้หาเลี้ยงครอบครัว

นั่นคือสิ่งที่หลายคนวาดฝันเอาไว้ว่าอยากจะเป็น หลายคนทำได้ตามฝันและกำลังดำเนินชีวิตต่อไปในรูปแบบที่พวกเขาคาดหวัง

แต่ ...




บางครั้งเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น โดยเฉพาะอาการบาดเจ็บที่เป็นปัญหาสำคัญและถือเป็นอุปสรรคใหญ่ของบรรดานักเตะหลายคนที่ (อาจจะ) ต้องเผชิญ 

มีบ้างที่ผ่านไปได้ และมีบ้างที่ต้องจบเส้นทางอันสวยงามเพียงเพราะอาการบาดเจ็บที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้

ในอดีตเราเห็นมานักต่อนัก ทั้งคนที่ผ่านพ้นมันไปได้และกลับมาเฉิดฉายอีกครั้ง อาทิ โรนัลโด้ อดีตกองหน้าเบอร์ 1 ทีมชาติบราซิลที่ต้องสู้กับอาการบาดเจ็บหัวเข่าแต่ก็ยังสามารถกลับมาพาทีมชาติคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก

แต่ก็มีหลายคนที่ไม่อาจะหลุดพ้นวังวนอาการบาดเจ็บหรือสุขภาพและต้องล้มเลิกไปกลางคัน 

ปัจจุบันอาการบาดเจ็บที่ว่าไม่ใช่เพียงแค่อาการภายนอกอย่างที่แฟนบอลรู้จักกัน แต่มันยังรวมไปถึงอาการของหัวใจ โรคต่างๆ และที่สำคัญคือ 'การกระทบกระเทือนทางสมอง'

อาการกระทบกระเทือนทางสมองถือเป็นอาการที่แวดวงกีฬาของสหรัฐฯให้ความสนใจและเฝ้าระวังอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพราะมันไม่เพียงส่งผลกับอาชัพของนักกีฬาแต่มันยังส่งผลตรงไปยังการใช้ชีวิตที่เหลือของพวกเขา (และเธอ) เหล่านั้น

สิ่งเหล่านี้ถูกส่งต่อมายัง 'ฟุตบอล' ที่เป็นกีฬาที่ต้องปะทะกันตลอดเวลา และนั่นทำให้ผู้เชี่ยวชาญและองค์กรที่เกี่ยวข้องต้องเฝ้าระวังและเดินหน้าในการป้องกันนักเตะให้มากกว่าที่ผ่านมา

เรื่องดังกล่าวถูกพูดถึงอีกครั้งจากการประชุมของ สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือ ยูฟ่า เมื่อวันพุธที่ผ่านมา โดยทาง อเล็กซานเดอร์ เซเฟริน ประธานใหญ่ขององค์กรลูกหนังยุโรปได้เผยถึงมติเรียกร้องไปยัง ฟีฟ่า ให้มีการปรับปรุงระเบียบการเรื่องการดูแลในภาวะที่เกิดการกระทบกระเทือนทางสมองในเกม




"สุขภาพของผู้เล่นเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด"

"ผมเชื่ออย่างหนักแน่นว่ากฎข้อบังตับในเรื่องของการดูแลอาการกระทบกระเทือนทางสมองต้องได้รับการแก้ไขเพื่อที่จะให้ได้มีการปกป้องทั้งนักเตะและทีมแพทย์ เพื่อทำให้มั่นใจว่าการวินิจฉัยจะทำได้โดยปราศจากผลกระทบในแง่ลบ"

สำหรับแนวคิดดังกล่าวมาจากผลการหารือของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการนำเอาผลการวิจัยและศึกษาของทีมแพทย์ที่เกี่ยวกับประสาทวิทยามาประกอบ

โดยต้องย้อนกลับไปในเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมาซึ่งมีผลการวิจัยของทีมแพทย์ด้านประสาทวิทยาอย่าง JAMA ที่เผยว่าจากการศึกษาการเล่นของนักเตะในฟุตบอลโลก 2018 มีมากกว่า 63 เปอร์เซ็นต์ ที่นักเตะแสดงอาการเกี่ยวกับการกระทบกระเทือนทางสมองมากกว่า 2 ครั้ง ซึ่งนั่นถือเป็นสัญญาณในแง่ลบและอาจจะส่งผลระยะยาวให้กับนักเตะ

จาก 64 เกมที่เกิดขึ้นในฟุตบอลโลก 2018 มีนักเตะกว่า 90 รายที่เผยให้เห็นอาการกระทบกระเทือนทางสมองมากกว่า 2 ครั้ง โดย 33 รายได้รับการดูและเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 13 ถึง 253 วินาที นอกจากนี้อีก 39 รายได้รับการประเมินจากผู้ตัดสินซึ่งใช้เวลาน้อยกว่า 1 นาที และอีก 18 รายได้รับการดูและจากนักเตะคนอื่นๆ หรือไม่ได้รับการดูแล

ทั้งนี้มีนักเตะ 6 รายที่ต้องออกจากเกมหลังจากมีอาการปะทะ ซึ่ง 3 รายในนั้นได้รับอนุญาตให้กลับมาเล่นต่อหลังจากมีอาการประเมินอาการแล้ว และที่น่าตกใจคือการวิจัยพบว่าผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ ฟีฟ่า วางไว้เพิ่มขึ้นมาจากปี 2014 (จาก 56.7 ขึ้นไปเป็น 63.3 เปอร์เซ็นต์) และมีแนวโน้มที่ต้องเข้าไปควบคุมและปกป้องนักเตะให้มากกว่านี้





"เราได้มีการศึกษาอย่างใกล้ชิดเพื่อช่วยในการพัฒนาและเพิ่มข้อมูลในการระเบียบการของอาการกระทบกระเทือนทางสมองซึ่งได้ก่อตั้งมาตั้งแต่หลังฟุตบอลโลก 2014" นายแพทย์ อาเจย์ เพรมคูมาร์ จากโรงพยาบาลศัลยแพทย์พิเศษในนิวยอร์กระบุ

ทั้งนี้จากปากคำของแพทย์คนดังกล่าวเผยว่าการจัดการเรื่องการดูแลอาการกระทบกระเทือนทางสมองไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลยนับตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งนั่นอาจจะส่งผลเสียอย่างรุนแรงไปยังนักเตะโดยเฉพาะโอกาสที่จะเพิ่มอาการบอบช้ำทางสมอง หรือ 'Second Impact Syndrome' และนั่นจะส่งผลในการทำลายสมองของคนๆนั้น

แน่นอนว่าคำแนะนำของทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคือให้นักเตะหยุดเล่นโดยทันทีและเข้าไปตรวจสอบอาการกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อจะได้ทำการวินิจฉัยอย่างทันท่วงที และยังเป็นการลดความเสี่ยงที่จะมีไปยังนักเตะ

ทว่าเกมฟุตบอลต่างจากอเมริกันเกมที่สามารถเปลี่ยนตัวนักเตะได้ตลอดเวลา ซึ่งนั่นถือเป็นข้อจำกัดที่ทาง ยูฟ่า หมายมั่นที่จะให้ ฟีฟ่า นำไปพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะมันอาจจะหมายถึงความเสี่ยงในชีวิตของผู้เล่นคนนั้นๆ

ตัวอย่างล่าสุดคือ ยาน แฟร์ตองเก้น กองหลังของ ท็อตแน่ม ฮ็อตสเปอร์ ที่ปะทะกับ โทบี้ อัลเดอร์แวเรลด์ แนวรับเพื่อนร่วมทีมในเกม ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก รอบรองชนะเลิศ แม้ว่านักเตะชาวเบลเยียมจะกลับมาเล่นต่อไปได้ แต่หลังจากนั้นไม่นานก็ถูกเปลี่ยนตัวออกไป

หรืออย่างกรณี ลอริส คาริอุส ที่เกิดขึ้นในรอบชิงชนะเลิศ แชมเปี้ยนส์ ลีก ระหว่าง ลิเวอร์พูล กับ เรอัล มาดริด ก็มีการเปิดเผยว่านายด่านรายนี้มีอาการกระทบกระเทือนทางสมองจากจังหวะปะทะกับ เซร์คิโอ รามอส และมันส่งผลไปยังการเล่นที่ผิดพลาดของนักเตะโดยตรง

ส่วนในฟุตบอลโลก 2018 ที่ผ่านมาก็มีกรณีของ นอร์ดีม อัมราบัต ปีกทีมชาติโมร็อกโกที่มีอาการกระทบกระเทือนทางสมองในเกมกับ อิหร่าน และกลับมาลงสนามในอีก 5 วันต่อมา ทั้งที่ระเบียบและขั้นตอนของฟีฟ่า ระบุไว้ชัดเจนว่าต้องพัก  '6 วัน'




ในมุมมองของแพทย์และการวิจัยชี้ชัดว่าหากเกิดเรื่องการกระทบกระเทือนทางสมอง สิ่งที่จำเป็นที่สุดและถือเป็นสิ่งสำคัญคือการให้นักเตะต้องออกจากสนามทันทีเพื่อให้ทีมแพทย์วินิจฉัยอย่างละเอียด

สาเหตุก็อย่างที่เรียนไป เพราะอาจจะส่งผลในสมองได้รับการบอบช้ำมากกว่าเดิม และยังส่งผลให้ปฏิกิริยาการตอบสนองช้าลง และที่สำคัญคือการรักษาที่อาจจะกินเวลานานมากขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลไปยังการใช้ชีวิตประจำวัน

ทั้งนี้ ยูฟ่า ได้ฝากเรื่องดังกล่าวไปยัง ฟีฟ่า เพื่อให้พิจารณาว่าควรจะไตร่ตรองในเรื่องของการเปลี่ยนกฎในเกมการแข่งขัน รวมไปถึงเรื่องของการเปลี่ยนตัวเพื่อเป็นทางออกและวิธีแก้ไขในปัญหานี้

"เพื่อเป็นการลดความกดดันไปยังทีมแพทย์และให้หมอมีเวลานอกสนามเพื่อตรวจสอบในการประเมินอาการกระทบกระเทือนทางสมอง และให้มั่นใจว่าจะไม่มีนักเตะที่มีอาการกลับลงไปในสนาม"

ถือเป็นเรื่องที่ ยูฟ่า ให้ความสำคัญกับสุขภาพของนักเตะ เพราะนี่คือสิ่งสำคัญที่มากกว่าเกมในสนาม 

เชื่อว่าประเด็นเรื่อง 'อาการกระทบกระเทือนทางสมอง' จะถูกยกมาพูดกันอย่างกว้างขวางอีกครั้ง โดยเฉพาะนักเตะผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องนี้ และถือเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องหันมาใส่ใจ




สิ่งที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นอาการที่มาจากภายใน แต่มันเป็นภัยเงียบที่อันตรายและพร้อมส่งผลเสียอย่างรุนแรงและเป็นระยะเวลานานให้กับคนที่ได้รับ

ในวันที่ทุกๆอย่างถูกพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ฟุตบอลเองก็มีการปรับตัวเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพของนักเตะที่ถือเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องใส่ใจ

หากมีการป้องกันที่ดี อายุการใช้งานของนักเตะคนนั้นๆก็จะเพิ่มมากขึ้น และต้องไม่เสี่ยงกับการสูญเสียที่คาดไม่ถึง

เรื่องนี้จะได้บทสรุปอย่างไร จะมีการปรับปรุงระเบียบและข้อกำหนดในทิศทางใด นับได้ว่าน่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว



คอลัมน์กีฬาบทความกีฬาต่างๆโดยนักวิเคราะห์ GURUชั้นนำของไทย มีให้ท่านได้เสพทุกวันที่เว็บไซต์ TH SPORT

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด