ชปล. รูปแบบใหม่?
นอกจากเกียรติยศที่จะถูกจารึกลงบนหน้าประวัติศาสตร์ 'เม็ดเงิน' ที่สโมสรจะได้รับจากการร่วมลงชิงชัยยังมากมายมหาศาล ซึ่งว่ากันว่าสามารถยกระดับของสโมสรให้ไปยังอีกระดับได้แบบสบายๆ
เราจึงได้เห็นการแย่งชิงพื้นที่เพื่อให้ได้สิทธิ์ในการเข้าร่วมวงไพบูลย์ในรายการสโมสรฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของยุโรป โดยเฉพาะบรรดาทีมหัวแถวที่พยายามรักษาสิทธิ์ของตนเองให้คงอยู่
ยิ่งบรรดา 5 ลีกใหญ่ยุโรปที่มีการแข่งขันสูง และสนุกสนานทุกครั้งสำหรับการแย่งที่ตั๋วไปเล่น แชมเปี้ยนส์ ลีก เพราะนั่นคือพื้นที่อันมีค่าไม่ว่าจะเป็นด้านรายได้ของสโมสร รวมไปถึงยังเป็นการสร้างโอกาสเพื่อดึงดูดในการดึงนักเตะรายใหม่มาร่วมทีม
มันเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เวที แชมเปี้ยนส์ ลีก คือรายการที่บรรดาผู้ล่นทั่วโลกต่างต้องลงสนามเพื่อได้โอกาสโชว์ตัวให้แฟนบอลทั่วโลกได้เห็น และยังเป็นโอกาสในการแสดงผลงานให้ทุกๆคนได้รับรู้ถึงความยอดเยี่ยมของตนเอง อีกทั้งยังเหมือนกับบันไดในการต่อยอดไปยังโอกาสที่ดีกว่า
ล่าสุดไปเห็นข่าวที่สร้างความฮือฮาไม่น้อยกับแนวคิดเรื่องการปรับรูปแบบใหม่ของรายการ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ซึ่งมาจากบอร์ดบริหารหัวก้าวหน้าที่นำโดย อเล็กซานเดอร์ เซเฟริน ประธานคนปัจจุบัน ผู้ซึ่งจุดประกายแนวคิดแบบใหม่มาสู่วงการฟุตบอลยุโรป
ก่อนจะไปเข้ารายละเอียดที่ว่ามา ขอย้อนกลับไปยังรูปแบบตั้งแต่สมัยยังเป็น ยูโรเปี้ยน คัพ ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 1955 กันก่อน
นับตั้งแต่ ยูฟ่า มีแผนจัดการแข่งขันระหว่างสโมสรระดับทวีป พวกเขาได้ตกลงนำทีมแชมป์ที่คว้าแชมป์ในยุโรปมาชิงชัยในศึก ยูโรเปี้ยน คัพ
วันเวลาดำเนินไปด้วยรูปแบบแพ้คัดออก (ระบบเหย้าเยือนยกเว้นนัดชิงชนะเลิศ) ซึ่งมีหลายว่ากันว่าคือรูปแบบที่ดีอย่างมากเพราะมันเป็นการนำทีมที่ดีที่สุดหรือก็คือบรรดาแชมป์ให้มาแก่งแย่งความสำเร็จ
กระนั้นเมื่อเวลาผ่านไป สิ่งต่างๆผันเปลี่ยนตามไปด้วย การเปลี่ยนแปลงแรกคือในฤดูกาล 1991/92 หลังจากยูฟ่าปรับเปลี่ยนระบบในรอบที่ 3 ด้วยการใช้ระบบแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ๆ ละ 4 ทีม ซึ่งแชมป์กลุ่มจะได้สิทธิ์เข้าไปเล่นรอบชิงชนะเลิศ
หลังจากนั้นเมื่อเห็นว่าระบบใหม่ได้รับการตอบรับที่ดีโดยเฉพาะเรื่องของรายได้ที่เพิ่มขึ้น ยูฟ่า ก็จัดการเปลี่ยนชื่อจากเดิม ยูโรเปี้ยน คัพ ที่ใช้มา 37 ปี ให้กลายมาเป็น ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก อย่างที่รู้จักกันในปัจจุบัน
ระบบคล้ายๆ ในฤดูกาลก่อนหน้านี้ แต่มีเพิ่มเติมในส่วนของรอบคัดเลือกที่ให้โอกาสชาติเล็กๆ อาทิ หมู่เกาะแฟโร และ อิสราเอล มีโอกาสลงสนาม และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
ยูฟ่า พยายามคิดระบบใหม่ๆขึ้นมาไม่ว่าจะเป็นการเล่นรอบคัดเลือกแบบเดิมก่อนจะใช้ระบบแบ่งกลุ่ม 8 ทีม เพื่อหาทีมอันดับ 1 และ 2 เข้าไปเล่นในรอบรองชนะเลิศ
หรือจะเป็นการเล่นแบบระบบรอบคัดเลือก และนำไปรวมกับทีมที่เข้ารอบสุดท้ายให้ได้ 16 ทีมก่อนจะแบ่งออกเป็นกลุ่ม 4 กลุ่มในปี 1994/95 หลายอย่างพัฒนาต่อไปเรื่อย โดยทาง ยูฟ่า หวังที่จะเห็นการแข่งขันที่ดีที่สุดสำหรับแต่ละทีมและในเรื่องของการตลาด
เราจึงได้เห็นถึงการเพิ่มจำนวนสโมสรเข้าไปในรายการจาก 4 กลุ่มกลายเป็น 6 กลุ่ม เพื่อหวังว่าความนิยมจะแพร่กระจายออกไปตามทีมที่ได้สิทธิ์ดังกล่าว จนท้ายที่สุดในปี 2000 เราจึงได้เห็นระบบแบ่งกลุ่ม 8 กลุ่มอย่างในปัจจุบัน แต่ที่แตกต่างกันในตอนนั้นคือ ยูฟ่า ได้วางระบบรอบแบ่งกลุ่มอีกครั้ง โดยจะมี 4 กลุ่ม ๆ ละ 4 ทีม ซึ่งจะเอาแชมป์และรองแชมป์เข้ารอบ 8 ทีมสุดท้าย
แน่นอนว่ามีเสียงวิจารณ์จากหลายสโมสรว่าเป็นเพิ่มโปรแกรมให้กับทีมที่ต้องลุดไปถึงรอบดังกล่าว แต่ทาง ยูฟ่า ก็ยังมุ่มเน้นในการเพิ่มตัวเลขทางการตลาดโดยหวังว่าจะเป็นหารดึงดูดสปอนเซอร์ให้เข้ามาลงทุนมากกว่าที่ผ่านมา
แต่มันก็อยู่ได้เพียง 4 ฤดูกาล ก่อนที่จะปรับมาเล่นในระบบอย่างที่รู้จักกันในปัจจุบัน นั่นคือเริ่มจากรอบคัดเลือกมาสู่รอบแบ่งกลุ่ม และนำเอาแชมป์กับรองแชมป์ไปเล่นในรอบ 16 ทีมสุดท้ายแบบแพ้คัดออก (เหย้า-เยือน)
นั่นคือระบบที่มาจนถึงตอนนี้และเป็นที่คุ้นชินกับเหล่าแฟนบอลในยุคปัจจุบัน
ทว่า การเปลี่ยนแปลงก็กำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อทางคณะกรรมการอาวุโสของ ยูฟ่า รวมไปถึงสมาคมฟุตบอลยุโรป (เอซีเอ) ได้เสนอแนวคิดในการปรับปรุงรูปแบบในเวที แชมเปี้ยนส์ ลีก อีกครั้ง
เรื่องดังกล่าวได้รับความสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะในอังกฤษที่ (อาจจะ) ได้รับผลกระทบแบบเต็มๆ
ตามรายงานระบุว่า อีซีเอ หวังที่จะเสนอในการเพิ่มทีมเข้าไปอีกจากเดิมที่มี 32 ทีมในรอบสุดท้าย กระนั้นในการประชุมยังถกเถียงกันอยู่ว่าการเพิ่มจำนวนนี้จะออกมาในรูแบบใด
โดยตอนนี้มี 2 แนวทางคือการเพิ่มจำนวนทีมให้เป็น 6 ทีมจากทั้งหมด 8 กลุ่ม หรือว่าจะเป็น 6 ทีมจากจำนวน 6 กลุ่ม
นอกจากนั้นยังมีการเสนอนำเอาระบบรอบแบ่งกลุ่มแบบพิเศษด้วยการนำ 8 ทีมที่เข้าถึงรอบก่อนรองชนะเลิศมาจับสลากแยกเป็น 2 กลุ่ม และนำแชมป์กับรองแชมป์กลุ่มเข้ารอบตัดเชือก (ทั้งนี้ 4 ทีมสุดท้ายจะได้สิทธิ์เขาร่วม ชปล. ในซีซั่นถัดไปทันที)
นั่นคือแนวคิดที่ถูกนำเสนอขึ้นมาในที่ประชุม และหวังว่าจะได้รับการอนุมัติก่อนฤดูกาล 2024/25 และมันสร้างความฮือฮาไม่น้อยโดยเฉพาะในอังกฤษที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างแน่นอน
ผลกระทบที่ว่าคือรายการ คาราบาว คัพ ที่อาจจะไม่มีบรรดาสโมสรยักษ์ใหญ่ลงชิงชัยในฤดูกาลนั้น เพราะหากระบบที่เสนอไปผ่านการเห็นชอบ เท่ากับว่า 4 ทีมที่ต้องเล่นรอบแบ่งกลุ่มจะมีโปรแกรมเพิ่มจากเดิม 4 นัด ซึ่งนั่นส่งผลโดยตรงกับช่วงเวลาที่ต้องชนกับระหว่าง แชมเปี้ยนส์ ลีก และ คาราบาว คัพ
ตรงนี้สื่อเองก็เชื่อว่าบรรดาสโมสรน่าจะพร้อมถอนตัวจากบอลถ้วยระดับรองของเมืองผู้ดี เพราะหากเทียบกับรายได้ที่จะรับจากเวทียุโรป มันน่าดึงดูดและมากกว่าอย่างแน่นอน
สิ่งเหล่านี้คือผลกระทบที่ชัดเจนของลีกอังกฤษที่มีรายการลงสนามมากกว่าชาวบ้าน ต่างจากลีกอื่นๆที่มีบอลถ้วยให้ลงชิงชัยแค่รายการเดียว (ฝรั่งเศส ได้มีมติยุบรายการ เฟร้นช์ ลีก คัพ ตั้งแต่ฤดูกาลต่อไป เนื่องจากเหตุผลเรื่องรายได้ และอยากลดปริมาณการลงสนามของบรรดาสโมสรในลีก เอิง และ ลีก เดอซ์)
แน่นอนว่าแนวคิดดังกล่าวทำเอา อีเอฟแอล และบรรดาสปอนเซอร์ไม่พอใจแน่นอน เพราะเอาแค่ปัจจุบันจำนวนผู้ชมที่เข้าสนามแต่ละเกมก็น้อยนิดมาก ซึ่งรวมไปถึงบรรดาทีมใหญ่ๆที่มักจะเจอปัญหาการขายตั๋วไม่หมด และหากรูปแบบใหม่ถูกอนุมัติ เชื่อว่าบรรดาสโมสรที่ได้สิทธิ์ไปเล่นใน แชมเปี้ยนส์ ลีก ก็พร้อมถอนตัวเพื่อให้ได้เล่นในบอลยุโรปอย่างเต็มกำลัง
ต้องตามกันดูต่อไปว่าแนวคิดที่ถูกเสนอมานี้จะเกิดขึ้นหรือไม่ ซึ่งตามรายงานแว่วข่าวมาว่ามีโอกาสสูงที่ทาง ยูฟ่า จะอนุมัติให้ผ่าน เพราะอย่างที่เรียนไปว่าบรรดาบอร์ดบริหารชุดนี้มีความคิดหัวก้าวหน้าและพร้อมพัฒนาองค์กร แม้ว่าบางสิ่งจะขัดใจบรรดาพวกอนุรักษ์นิยม อยู่พอสมควร
ถือเป็นการเปลี่ยนที่กำลังจะเกิดขึ้น และเชื่อว่าหลังจากนี้ยังคงจะมีอีกหลายแนวคิดที่จะตามมาอีกแน่นอน
คอลัมน์กีฬาบทความกีฬาต่างๆโดยนักวิเคราะห์ GURUชั้นนำของไทย มีให้ท่านได้เสพทุกวันที่เว็บไซต์ TH SPORT