เมื่อฟุตบอลหายไปและผลกระทบที่ตามมา
ถือเป็นห้วงอารมณ์ที่ผิดแปลกไปจากเดิมเพราะช่วงนี้ในแต่ละปี ฟุตบอลจะเข้ามาถึงช่วงที่เข้มข้น บรรดาลีกต่างๆ ในยุโรปกำลังถึงช่วงตัดสินแชมป์ นอกเหนือไปจากนั้นแฟนๆ ยังติดตามสถานการณ์ในเวทียุโรปที่เข้ามาถึงรอบรองชนะเลิศ
แต่ด้วยปัจจัยที่ตอนนี้ทั่วโลกโดนไวรัสโควิด-19 เล่นงาน จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ฟุตบอลจะถูกเลื่อนออกไปจากกำหนดเดิม เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของชีวิตและสุขภาพของทั้งแฟนบอล, นักเตะ, ทีมงาน และทุกๆ คนที่เกี่ยวข้องต้องมาก่อน
แนวโน้มการกลับมาลงสนามยังไม่ชัดเจน แม้จะมีรายงานจากสื่อในยุโรปที่ออกมาแทบทุกวัน แต่เมื่อสถานการณ์ยังไม่ทุเลาหรือลดลงในแบบที่น่าพอใจ การกลับมาลงสนามมีอีกครั้งจึงยังไม่มีการกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจน
โดยเมื่อวันพุธที่ผ่านมาจะมีรายงานว่า สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป จะมีคำสั่งให้บรรดาลีกในยุโรปต้องจบการแข่งขันก่อนวันที่ 31 กรกฎาคม แต่จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้ โดยเฉพาะลีกใหญ่ อาทิ สเปน, ฝรั่งเศส และ อิตาลี ที่ยังเจอผลกระทบแบบหนักหน่วง ก็เป็นเรื่องยากที่มองไปถึงการกลับมาลงสนามในเร็วๆ นี้
แม้แต่ทาง อังกฤษ หรือ เยอรมนี ก็ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะกลับมาในเร็วๆ (แม้ทางส.ส. ของ เยอรมัน จะออกมาให้ความเห็นว่า บุนเดสลีกา น่าจะมีโอกาสกลับมาลงเตะในวันที่ 9 พฤษภาคม) เพราะปัจจัยสำคัญที่สุดคือความปลอดภัยที่ต้องถูกเห็นชอบจากทุกฝ่าย
นั่นคือข้อกำหนดที่ชัดเจน ซึ่งไม่เพียงแค่ทางลีกจะต้องอนุมัติ แต่ยังมีการทำงานร่วมกับรัฐบาลของแต่ละประเทศที่ต้องไฟเขียวและคลาย 'ล็อคดาวน์' รวมไปถึงมาตรการต่างๆ ที่ทำให้นักเตะ, โค้ช และคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องวางใจว่าทุกๆ อย่างจะปลอดภัย
ทั้งนี้ มีรายงานจาก เดลี่ เมล์ สื่อดังอังกฤษที่เผยว่าทาง พรีเมียร์ลีก ได้เริ่มมีมาตรการในศึกษาถึงรายงานต่างๆ ที่โควิด-19 อาจจะมีผลกระทบกับบรรดานักเตะที่ต้องลงสนามในช่วงที่ไวรัสยังคงแพร่ระบาดและยังไม่มีวัคซีน เพราะมีวารสารทางการแพทย์จาก The Lancet ที่เผยว่าการออกกำลังกายในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 ยังคงแพร่ระบาดอาจจะส่งผลให้การแพร่กระจายรุนแรงและง่ายกว่าเดิม
ตัวแทนของพรีเมียร์ลีกได้จัดหาทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจ โดยพวกเขาอยากฟังความเห็นจากทีมแพทย์และผู้เชี่ยวชาญว่าการลงสนามหรือต้องออกกำลังกายหนักๆ จะมีผลต่อระบบหัวใจหรือสุขภาพนักเตะหรือไม่ เพราะปกติแล้วแม้จะไม่มีไวรัสโควิด-19 เราจะเห็นได้บ่อยครั้งถึงข่าวที่นักฟุตบอลต้องฟุบคาสนาม หรือจากโลกนี้ไปก่อนวัยอันควรด้วยอาการเกี่ยวกับโรคหัวใจ
ถึงจะเป็นแค่รายงานจากสื่อ แต่เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงความใส่ใจและความพยายามที่จะเสนอรายงานเรื่องผลกระทบต่างๆ เพื่อให้เกมฟุตบอลมีโอกาสกลับมาลงสนามอีกครั้ง
รายงานเหล่านี้ถือว่าสำคัญเพราะมันอาจะเป็นตัวกำหนดทิศทางในฤดูกาล 2019/20 ว่าจะไปต่อหรือไม่ หรือว่าต้องตัดจบลงเท่านี้ ซึ่งปัจจัยต่างๆ จะถูกรวบรวมและนำพิจารณาอย่างละเอียดอีกครั้งในวันที่ 1 พ.ค. นี้ ซึ่งเป็นวันที่ 20 สโมสรใน พรีเมียร์ลีก จะประชุมทางไกลเพื่อหารือเกี่ยวกับฤดูกาลนี้อีกครั้ง
ทิศทางของฤดูกาลนี้ (สำหรับ 5 ลีกใหญ่ยุโรป) ยังไม่อาจทราบได้ว่าจะออกมาในมุมใด อย่างที่เรียนไปว่าปัจจัยสำคัญคือเรื่องของสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่จะเป็นตัวกำหนดหลักของเรื่องนี้ หากทุกอย่างเบาบางลง จำนวนผู้ติดเชื้อลดลง บางทีรัฐบาลของประเทศต่างๆ อาจจะพิจารณาการผ่อนคลายมาตรการและเรียกตัวแทนของลีกไปหารืออีกครั้งหลังจากนี้
หากถามไปยังบรรดาสโมสร แน่นอนว่าพวกเขาอยากให้เกมกลับมาลงสนามให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะตอนนี้เกือบทุกสโมสรที่เจอปัญหาด้านการเงินเล่นงานอย่างหนัก เพราะเมื่อไม่สามารถลงสนามได้ เม็ดเงินในคลังก็ร่อยหรอ เราจึงได้เห็นหลายๆ ทีมที่ต้องสั่งปลดหรือลดพนักงาน แม้แต่การเจรจาลดค่าเหนื่อยกับบรรดานักเตะและโค้ชในทีม
ถึงหลายๆ ประเทศจะมีมาตรการในการสนับสนุนด้วยการจ่ายเงินช่วยเหลือบรรดาลูกจ้างของสโมสรฟุตบอลที่ถูกเลิกจ้าง หรือในกรณีที่ทีมนั้นๆ ขอใช้มาตรการช่วยจ่ายค่าแรง กระนั้นบรรดาสโมสรต่างๆ ก็ไม่ได้เต็มใจที่จะขอรับช่วยเหลือจากรัฐเท่าไหร่ (เพราะมันอาจจะส่งผลถึงภาพลักษณ์และแบรนด์ของสโมสร) แต่ด้วยปัจจัยและสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หลายๆ ทีมจึงเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเข้าโครงการดังกล่าว
ทีมที่ดูจะได้รับผลกระทบมากที่สุดคงหนีไม่พ้นบรรดาทีมเล็กๆ ในลีกระดับล่างที่มีข่าวว่าเริ่มมีสโมสรที่ยกเลิกสัญญานักเตะและทีมงานเพราะไม่รู้ว่าจะหาเงินจากที่ไหนมาจ่ายๆ
มันคือผลกระทบที่ส่งตรงไปยังคนทำงาน ซึ่งส่งผลให้พวกเขาขาดรายได้และปัจจัยที่จะนำมาจุนเจือชีวิตในช่วงที่ต้องเอาตัวรอดจากไวรัสมรณะ สิ่งที่เกิดขึ้นมีผลกระทบเป็นวงกว้างและเชื่อว่าจะลากยาวไปอีกหลายเดือน โดยเฉพาะการเงินของบรรดาสโมสรทั้งหลายที่ต้องทำการรัดเข็มขัดและใช้จ่ายอย่างรอบคอบ
ไม่ใช่แค่ทีมเล็กๆ แต่สโมสรชื่อดังยังแทบเอาตัวไม่รอดในช่วงนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบทั้งเรื่องสุขภาพ, จิตใจ, การเงิน และระบบเศรษฐกิจ
บางครั้งโรคร้ายใหม่ๆ ก็เป็นสิ่งที่ไม่สามารถห้ามได้ แต่สิ่งที่สำคัญคือการรับมือกับเรื่องที่เกิดขึ้น รวมไปถึงการแก้ปัญหาและหาทางออกให้กับฝ่ายให้ได้ผลกระทบน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
สำหรับวงการฟุตบอลแล้วมันคือความเสียหายที่ยากจะประเมินในตอนนี้ เพราะมันมีทั้งเรื่องของสปอนเซอร์, ค่าตั๋ว, การขายสินค้า และ ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดที่ถือเป็นรายได้หลักของแต่ละทีม
นอกเหนือไปจากนั้นคือบรรดาแฟนบอลที่ได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน หลายคนต้องหยุดงานตามคำสั่งรัฐและต้องกักตัวในบ้านตามที่รัฐบาลแต่ละประเทศกำหนดซึ่งมีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ
ประเทศที่มีรัฐบาลห่วงใยประชาชนอย่างแท้จริง พวกเขาจะได้รับความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสวัสดิการเมื่อต้องเจ็บป่วย หรือเรื่องอาหารการกินและความช่วยเหลือที่เข้าถึงทุกๆ คนแบบไม่มีแบ่งชนชั้นวรรณะหรือมองว่าใครสมควรได้รับมากกว่ากัน เพราะนั่นคือพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนควรได้รับเท่ากันไม่ว่าจะยากดีมีจน
สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ทั้งในวงการฟุตบอลและสถานการณ์ทั่วโลกยังยากที่จะคาดเดาได้ มีเพียงความหวังว่าโรคร้ายอย่างโควิด-19 จะลดลง (หรือหายไป) และชีวิตแบบปกติของทุกๆ คนจะกลับมาในเร็ววันนี้
คอลัมน์กีฬาบทความกีฬาต่างๆโดยนักวิเคราะห์ GURUชั้นนำของไทย มีให้ท่านได้เสพทุกวันที่เว็บไซต์ TH SPORT