:::     :::

จิตวิญญาณที่ไม่ถูกกลืนกิน

วันพฤหัสบดีที่ 22 เมษายน 2564 คอลัมน์ ฟุตบอลข้างถนน โดย โกสุ่ย
1,225
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
วินาทีที่ ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ ลีก ประกาศตัวจัดตั้งลีก เสียงสะท้อนที่ถูกส่งกลับมามีทั้งดีและแย่

หลายคนเห็นด้วยกับการจะได้เห็นทีมใหญ่ของยุโรปโรมรัน มันคือความน่าตื่นเต้นที่จะได้ชมเกมใหญ่เกือบตลอดทั้งปี

แต่อีกมุมหนึ่ง หลายคนกลับมองว่านี่คือวิธีการ 'เห็นแก่ตัว' ของทีมใหญ่ที่พยายามสุมหัวรวมกลุ่มเพื่อเม็ดเงิน พวกเขาไม่ใยดีว่าแฟนบอลหรือสโมสรท้องถิ่นจะเป็นเช่นไร วัฒนธรรมและความเป็นมานับ 100 ของสโมสรเหล่านั้นจะแปดเปื้อนหรือไม่ 

ที่สำคัญมันคือการทำลายวงจร 'ฟุตบอล พีระมิด' ที่มีมาอย่างยาวนาน ระบบฟุตบอลที่ทำให้ทีมเล็กๆ มีความฝัน มีเป้าหมายในการพัฒนาตนเองเพื่อยกระดับไปยังจุดสูงสุด

แน่นอน จุดเริ่มต้นของทุกๆ ทีมมาจากศูนย์ แต่ละทีมก่อตั้งจากความหวัง ความฝัน และความต้องการของคนในท้องถิ่น โดยเฉพาะบรรดาชนชั้นแรงงาน กรรมกร หรือคนยากคนจนที่มองเห็นฟุตบอลคือเครื่องจรรโลงใจ และเป็นที่ยึดเหนี่ยวของพวกเขาในช่วงเวลาที่ยากลำบาก

ฟุตบอลคือเกมกีฬาที่ทำให้คนในชุมชนได้สานสัมพันธ์ พ่อแม่ลูกจูงมือไปชมเกมในสนาม เด็กๆ ตัวน้อยที่ถูกเติมเต็มจินตนาการ ความฝันที่โลดแล่นไปทั่วท้องถนน บรรดากองเชียร์ที่มีทั้งสุข เศร้า สมหวัง ผิดหวัง มันคือกีฬาที่มอบทั้งความสนุกและคราบน้ำตาในเวลาเดียวกัน





เราจึงได้เห็นแฟนบอลท้องถิ่นออกมารวมตัวกันต่อต้านแนวคิด 'ซูเปอร์ ลีก' เพราะพวกเขาเชื่อว่าการกระทำของ 12 สโมสรที่มาจาก 3 ประเทศ (อังกฤษ, สเปน และ อิตาลี) จะเป็นตัวการสำคัญในการทำลายระบบที่เป็นอยู่ในตอนนี้

อย่างที่เรียนไปว่า 'ฟุตบอล พีระมิด' คือระบบที่ทำให้ทีมเล็กๆ สามารถคงอยู่ ทำให้พวกเขามีความฝันว่าสักวันหนึ่งจะก้าวขึ้นมาเป็นที่รู้จัก มันต่างจากระบบลีกที่ปิดซึ่งไม่มีการคัดเลือกหรือการเลื่อนชั้นตกชั้น เพราะแนวคิดอย่างหลังจะคิดแค่เพียงการมองหาผลกำไรหรืการมองหาทางเพิ่มมูลค่าและนั่นอาจจะทำให้ ฟุตบอลกลายเป็นกีฬาของคนรวยไม่ต่างไปจากพวกเกมของฝั่งอเมริกา

ไม่แปลกใจที่แนวคิดเช่นนั้นทำให้แฟนบอลยุโรปเดือดดาลไปทั่ว เพราะอย่าลืมวัฒนธรรมและความเป็นมาของเกมกีฬาที่มาถึงทุกวันนี้ ได้ก่อกำเนิดมาจากพวกคนจนที่ร่วมกันก่อตั้งสโมสร แต่ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาได้ถูกคนรวยฮุบกิจการและค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปทีละน้อย

ฟลอเรนตีโน่ เปเรซ ในฐานะประธานซูเปอร์ลีกอาจจะระบุว่าเป็นการก่อตั้งเพื่อให้พวกเขาอยู่รอดในช่วงเวลาที่วิกฤติจากการมีโรคระบาด มีการอ้างว่าแฟนบอลเห็นด้วยกับแนวคิดนี้ แต่สิ่งที่ออกมาตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง





หากเป็นไปตาม เปเรซ กล่าวจริงๆ เราคงไม่ได้เห็นแฟนบอลในอังกฤษออกมาประท้วงหน้าสนาม ป้ายผ้า แบนเนอร์ต่างๆ ถูกชูขึ้นเหนือศีรษะ สีหน้าที่เต็มไปด้วยอารมณ์โกรธถูกแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน รวมไปถึงกระแสตีกลับใน โซเชียล มีเดีย ที่ต่อต้านมากกว่าเห็นด้วย

จะเห็นเพียงคนที่เรียกตัวเองแฟน 'ซอคเกอร์' จากฝั่งอเมริกา หรือแฟนบอลบางกลุ่มจากเอเชียที่เห็นด้วย แน่ล่ะใครไม่อยากดูเกมใหญ่ๆ ของบรรดายักษ์ยุโรป แต่คนเหล่านั้นอาจจะมองข้ามรากเหง้าความเป็นมาของสโมสรต่างๆ โดยเฉพาะแฟนบอลท้องถิ่นที่ถูกยึดโยงกับทีมเหล่านั้นตั้งแต่ยังเป็นเด็ก

ในฐานะแฟนบอลคงไม่อาจจะไปแยกได้ว่าใครมีความเป็น 'แฟนบอล' มากกว่ากัน แต่พวกเราในฐานะคนต่างถิ่นต่างแดนต้องทำความเข้าใจพวกเขาด้วยว่าสโมสรที่พวกเขารักและศรัทธาได้ก่อกำเนิดและถูกผลักดันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษของพวกเขาและส่งต่อมาถึงคนรุ่นปัจจุบันและมันจะเป็นเช่นนี้ต่อไป

แต่ 'ซูเปอร์ ลีก' กำลังจะทำให้คุณค่าเหล่านั้นหมดไป การแข่งขันที่มองเห็นแค่เม็ดเงินเป็นสิ่งสำคัญเป็นอันดับแรกมากกว่าเกียรติยศหรือความสำเร็จในสนาม ลองคิดดูง่ายๆ ว่าในระบบปิด 20 ทีมของ 'ซูเปอร์ ลีก' ซึ่งไม่มีการตกชั้น หากทีมที่หมดลุ้นไปแล้วหรือพลาดโอกาสเข้ารอบต่อไปลงสนาม พวกเขาจะมีแรงจูงใจลงสนามหรือไม่ เพราะไม่ว่าจะเล่นเต็มที่หรือใส่แค่ครึ่งเดียว 'เม็ดเงิน' ก็ยังคงเข้ากระเป๋าพวกเขาอยู่ดี

หากนำมาเปรียบกับระบบ 'ฟุตบอล พีระมิด' มันจะมีความแตกต่างกัน แม้ทีมที่ตกชั้นไปแล้วจะเหลือเกมการแข่งขันให้ลงสนาม แต่พวกเขายังคงเหลือจิตวิญญาณของนักสู้ แฟนบอลที่เข้าสนามพร้อมตะโกนเชียร์และอยากเห็นแววอันมุ่งมั่นของนักเตะ และทีสำคัญคือทุกๆ นาทีของพวกเขามีค่าเป็นอย่างมากเพราะมันอาจจะเปลี่ยนแปลงชะตาของทีมอื่นๆ ได้เช่นกัน ... 





... ถึงตรงนี้ บรรดาทีมต่างๆ ถอนตัวไปแล้ว โดยเฉพาะสโมสรจากอังกฤษที่ไม่อาจต้านทานการต่อต้านของแฟนบอลได้ 

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบไปยังทุกภาคส่วนโดยเฉพาะ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ถึงขึ้น เอ็ด วูดเวิร์ด ต้องประกาศลงจากตำแหน่งรองประธานฝ่ายบริหารของสโมสร

แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่แฟนบอล ปิศาจแดง ต้องการเพราะเป้าหมายที่แท้จริงของพวกเขาคือ 'ตระกูลเกลเซอร์' ที่เหล่าแฟนบอลต่อต้านตั้งแต่วันแรกที่เศรษฐีจากสหรัฐฯ เข้ามาเทคโอเวอร์สโมสร

แฮชแท็ก #GlazerOut กลับมาอีกครั้ง และหนนี้รุนแรงมากขึ้นเพราะมีแรงขับจาก 'ซูเปอร์ ลีก' ที่เป็นตัวกระตุ้นอารมณ์แฟนบอลให้เดือดกว่าที่ผ่านมา

16 ปีผ่านไปกับจำนวนหนี้ตัวแดงที่เพิ่มขึ้น การบริหารงานที่ถูกมองว่าเป็นการกอบโกยมากกว่าเข้ามาพัฒนาสโมสร มันจึงเป็นแรงขับให้แฟนบอลบุกสนามซ้อมและเรียกร้องสิ่งที่พวกเขาต้องการ

รูปแบบการถือหุ้น 51 เปอร์เซ็นต์เหมือนกับ บุนเดสลีกา ถูกยกมาเป็นข้อเสนอ พวกเขามองว่าสโมสรฟุตบอลควรเป็นของแฟนบอล และไม่ควรมีใครคนใดคนหนึ่งถูกตีตราว่าเป็น 'เจ้าของ' แต่เพียงผู้เดียว




แนวคิดที่ว่านี้ถูกนำเสนอมากขึ้น จากทั้งบรรดานักข่าว, นักวิจารณ์, อดีตนักเตะ และแฟนบอล ที่มองว่าพรีเมียร์ลีกและทีมใหญ่มีความผิดที่เปิดช่องให้เศรษฐีเข้ามาฮุบและกอบโกยจากวงการฟุตบอล

สำหรับ แมนฯ ยูไนเต็ด พวกเขาต้องทนอยู่กับ ตระกูลเกลเซอร์ มานานกว่า 16 ปี แต่ก็มีแฟนบอลบางกลุ่มที่ทนไม่ไหวแยกตัวออกไปตั้งสโมสรใหม่ตั้งแต่วันแรกที่สโมสรถูกเทคโอเวอร์

หลายคนอาจจะคุ้นชื่อกับ เอฟซี ยูไนเต็ด ออฟ แมนเชสเตอร์ สโมสรที่ก่อตั้งโดยแฟนบอลแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ซึ่งแยกตัวออกไปสร้างทีมกันเองเพราะไม่เห็นด้วยกับการเทคโอเวอร์เมื่อ 16 ปีที่แล้ว

พวกเขามีเจตจำนงค์ที่ชัดเจนว่าสโมสรฟุตบอลควรมาจากแฟนบอล แฟนบอลต้องมีส่วนรวมในการตัดสินใจวาระสำคัญ ไม่ใช่ดำเนินไปตามนโยบายของผู้บริหารหรือกลุ่มคนเพียงไม่กี่คน




นี่คือการยึดมั่นในหลักการ แม้ว่าพวกเขาจะอยู่ในระดับนอกลีกเป็นเพียงทีมกึ่งอาชีพ แต่มันได้แสดงให้เห็นถึงความภาคภูมิใจและจิตวิญญาณที่ไม่สามารถถูกกลืนกินของพวกเขา

ทีมก่อตั้งหรือกองเชียร์ของ เอฟซี ยูไนเต็ด ออฟ แมนเชสเตอร์ หลายคนยังคงเป็นสาวก แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จวบจนทุกวันนี้ หลายคนเคยถือตั๋วปีเข้า โอลด์ แทรฟฟอร์ด มาก่อน แต่ด้วยจุดยืนและอุดมการณ์ที่แตกต่างกันของพวกเขาทำให้ต้องแสดงออกมาในลักษณะดังกล่าว และยืนยันชัดเจนว่าไม่เอา 'เกลเซอร์'

ต้องยอมรับหัวใจจิตหัวใจของแฟนบอลท้องถิ่นกลุ่มนี้ โดยเฉพาะแนวทางที่พยายามยืดโยงฟุตบอลกับชุมชน และรักษาความเป็นมาตั้งแต่อดีตให้คงอยู่ต่อไป ไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่อยากพัฒนา แต่การพัฒนาสโมสรของพวกเขาคือการไปพร้อมกับความเห็นของแฟนบอล เหมือนกับในบุนเดสลีกาที่มองว่าแฟนบอลมาเป็นอันดับ 1 การตัดสินใจวาระสำคัญใดๆ ต้องผ่านการเห็นชอบจากแฟนบอลซึ่งเป็นกลุ่มที่ขับคลื่อนสโมสร

หากสโมสรให้ความสำคัญกับแฟนบอลมาเป็นอันดับแรก การเกื้อกูลและบรรยากาศต่างๆ จะสัมพันธ์กันอย่างลงตัว เราจึงได้เห็นว่าสนามแข่งในเยอรมนีเต็มไปด้วยกองเชียร์ เหล่ากองเชียร์ที่หนุนทีมตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นช่วงที่ดีหรือยากลำบาก

สิ่งเหล่านี้จะลดทอนหายไปเมื่อฟุตบอลถูกทำให้กลายเป็นธุรกิจ ค่าตั๋วที่แฟนบอลทุกคนสามารถเข้าถึงกลับกลายเป็นสิ่งที่หาได้เฉพาะคนมี 'เงิน' เท่านั้นที่จะสามารถคว้ามาครอง มันค่อยๆ ถูกกลืนกินไปทีละน้อย จนในที่สุดแฟนท้องถิ่นหรือเด็กๆ ที่อยากข้าไปชมขวัญใจตนเองด้วยสองตาทำได้แต่ต้องมองดูผ่านหน้าจอโทรทัศน์แทน ...





... บางทีการปรากฏตัวของ 'ซูเปอร์ ลีก' อาจจะทำให้แฟนบอลหลายคนเข้าใจวัฒนธรรมและความคิดของแฟนบอลท้องถิ่นมากขึ้น 

รากเหง้าความเป็นมาที่ถูกส่งต่อมาจนถึงปัจจุบันกำลังถูกสั่นคลอน แต่พวกเขารวมตัวเพื่อตอบโต้บรรดานักธุรกิจในคราบเจ้าของสโมสรที่มองหาเพียงแค่ผลกำไรเท่านั้น แต่ไม่เคยถามถึงความรู้สึกของแฟนบอลแม้แต่น้อย มีเพียงคำขอโทษหลังจากเกิดเหตุการณ์ ซึ่งไม่ได้มีอะไรมาพิสูจน์ว่าเจ้าของทีมเหล่านั้นจะเข้าใจอย่างถ่องแท้

'ซูเปอร์ ลีก' เกิดขึ้นมาเพียงเพื่อให้สโมสรก่อตั้งอยู่รอด โดยไม่ใส่ใจทีมอื่นๆ พวกเขากำลังมองข้ามการพัฒนาไปพร้อมกับทีมเล็กๆ และกำลังจะทำให้ฟุตบอลกลายเป็นธุรกิจมากกว่ากีฬา และทำให้กลายเป็น 'โชว์' มากกว่าสิ่งที่เติมเต็มความฝันและความปรารถนาของผู้คน

จะมาอ้างว่าตอนนี้พวกเขาโดนวิกฤติโควิด-19 เล่นงาน ก็ดูจะเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้นเสียเท่าไหร่ เพราะอย่าลืมว่าทีมอื่นๆ ก็ถูกเล่นงานและโดนผลกระทบไม่ต่างกัน โดยเฉพาะทีมเล็กๆ ที่รายได้ส่วนใหญ่มาจากตั๋วเข้าชมเท่านั้น

ต่างจากสโมสรที่ยกตัวเองว่าเป็น 'บิ๊กแนม' ที่ยังมีสปอนเซอร์ การขายสินค้า หรือแม้แต่ลิขสิทธิ์ต่างๆ เข้ามา แต่ที่บอกว่าลำบากมาจกการที่พวกเขาใช้เงินเกินตัวในการดึงนักเตะและมอบสัญญาก้อนโตให้ผู้เล่นในทีมเสียมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น บาร์เซโลน่า หรือ เรอัล มาดริด ที่จ่ายค่าแรงในจำนวนมหาศาล แม้แต่ แมนฯ ยูไนเต็ด ที่มอบค่าเหนื่อยให้นักเตะบางรายเกินความจำเป็น





ในยุคที่โรคระบาดส่งผลไปทั่วโลก สำหรับวงการกีฬาโดยเฉพาะฟุตบอลที่มีความเป็นมานับร้อยปี ทุกๆ ทีม ทุกๆ องค์กรควรช่วยเหลือกัน ไม่ควรมีใครที่จะแยกตัวเพื่อความอยู่รอด ไม่ควรมีใครหรือกลุ่นไหนที่จะเข้ามากำหนดว่าใครหรือทีมไหน 'จะอยู่รอด'

แม้แต่ สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป ที่ต้องกลับไปทบทวนตนเองอีกครั้งว่าสิ่งที่ทำมาถูกต้องเหมะสมหรือไม่ เพราะพวกเขาก็มีส่วนที่บีบให้ 'ซูเปอร์ ลีก' ถือกำเนิดขึ้นมา (แม้ตอนนี้จะเป็นหมันไปแล้ว)

หลายๆ สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา อาจจะไปสะกิดต่อมสามัญสำนึกหรือช่วยให้เจ้าของทีมต่างๆ เข้าใจแฟนบอลมากขึ้น

สโมสรฟุตบอลจะขับเคลื่อนไม่ได้เลยหากปราศจากแฟนบอล เพราะพวกเขาคือจุดเริ่มต้นและเป็นฟันเฟืองสำคัญของอุตสาหกรรมนี้

แฟนบอลที่เต็มไปด้วยความรักในตัวสโมสร แฟนบอลที่พร้อมมอบกายและใจให้กับทีมรัก หลายคนมองว่าสโมสรฟุตบอลของตนเองไม่ต่างจากศาสนาหนึ่งที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ

นั่นคือจิตวิญญาณที่นักธุรกิจอาจจะไม่มีวันเข้าใจ เพราะในหัวของพวกเขามีเพียง 'กำไร-ขาดทุน' เท่านั้น ซึ่งพวกเขาต้องหัดมองและเข้าใจแฟนบอลมากกว่าที่ผ่านมา


คอลัมน์กีฬาบทความกีฬาต่างๆโดยนักวิเคราะห์ GURUชั้นนำของไทย มีให้ท่านได้เสพทุกวันที่เว็บไซต์ TH SPORT

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด