:::     :::

ต่างมุมมอง

วันศุกร์ที่ 08 ตุลาคม 2564 คอลัมน์ ฟุตบอลข้างถนน โดย โกสุ่ย
1,319
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมายในโลกฟุตบอล โดยเฉพาะความเป็นไปและสถานะของตัวสโมสรกับนักฟุตบอลที่ดำเนินมาถึงปัจจุบัน

ในอดีตนักฟุตบอลถูกมองว่าไม่ต่างจากแรงงานของทีมนั้นๆ เพราะมีสัญญาที่ทั้งสองฝ่ายผูกมัดกันจนแยกไม่ออก หลายครั้งที่ฝั่งผู้เล่นเสียเปรียบแต่ไม่สามารถทำอะไรได้มีแต่ต้องทำตามข้อตกลงจนกว่าสัญญาจะสิ้นสุด

เรื่องราวเหล่านี้ผ่านช่วงเวลา ผ่านการต่อสู้จนมีกฎ 'บอสแมน' ออกมาที่ทำให้นักเตะปลดแอกจากคำว่าเป็น 'ทาส' สโมสร มันทำให้พวกเขามีสิทิ์ในการต่อรองหรือมองหาอนาคตที่ดีกว่าเดิม

มันอาจจะเป็นมุมมองของบรรดานักเตะที่อยากมีเส้นทางที่ตนเองสามารถเลือกเดินได้ เพราะอย่าลืมว่าการผันตัวมาเป็นนักฟุตบอลอาชีพมันต้องแลกมาด้วยอะไรหลายๆ อย่าง และที่สำคัญที่สุดคือระยะเวลาในการทำงานสั้นมากหากเทียบกับงานอื่นๆ 

ในอดีตเส้นทางการเป็นนักฟุตบอลอาชีพของแต่ะคนเฉลี่ยแล้วประมาณ 10 ปี ซึ่งปัจจัยที่แตกต่างมากน้อยออกไปขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการแจ้งเกิด, สภาพร่างกาย, อาการบาดเจ็บ และ การยืนระยะ 

บางคนสามารถค้าแข้งได้นานกว่านั้น และบางคนที่ต้องจบเส้นทางก่อนวัยอันควร

แม้ปัจจุบันสโมสรต่างๆ จะเปลี่ยนแนวคิดให้โอกาสนักเตะดาวรุ่งได้โอกาสแสดงผลงานตั้งแต่อายุ 17-18 ปี ซึ่งมันช่วยให้นักเตะคนนั้นๆ มีโอกาสแสดงผลงานเพื่อสานต่อเส้นทางที่วาดฝันไว้ 

นอกจากนี้เงินค่าแรงที่เพิ่มขึ้นมามากกว่าเมื่อก่อนแบบหลายเท่าตัว (ซึ่งมาจากมูลค่าทางการตลาด, อัตราเงินเฟ้อ, และผู้สนับสนุนที่เพิ่มขึ้นทุกๆ ปี ฯลฯ) ทำให้อุตสาหกรรมในวงการฟุตบอลดำเนินไปอย่างก้าวกระโดด

บวกกับการเกิดขึ้นของพวกนายหน้า หรือ เอเย่นต์ ที่เข้ามามีบทบาทเจรจาต่อรองแทนนักเตะ ทำให้เหล่านักฟุตบอลสามารถสร้างรายได้และความมั่นคงให้กับตัวเองมากกว่าที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวก็มีข้อขัดแย้งเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะขึ้นว่าการเจรจาหรือตกลงข้อเสนอ มันย่อมมีเรื่องของเม็ดเงินและค่าตอบแทนที่ทั้งสองฝ่ายพอใจ บ่อยครั้งที่การต่อสัญญาของนักเตะไม่ลุล่วงทำให้เกิดการแยกทางกันไป และมันกระทบไปยังความสัมพันธ์ของแฟนบอลกับนักเตะ

เรื่องที่ว่ามาหากมองในมุมของแฟนบอลก็พอจะเข้าใจได้ โดยเฉพาะหากพวกเขาจะรู้สึกถึงนักเตะที่อยู่กับสโมสรมาอย่างยาวนาน บางคนอยู่กับทีมในสมัยที่ไม่มีชื่อเสียงก่อนจะค่อยๆ ไต่เต้ากลายมาเป็นดาวดังของลีกหรือระดับโลก

สำหรับแฟนบอลแล้วความจงรักภักดีและความซื่อสัตย์ที่มีให้กับสโมสรถือเป็นเรื่องที่มาเป็นอันดับหนึ่ง สโมสรฟุตบอลเปรียบได้กับส่วนหนึ่งของชีวิต โดยเฉพาะแฟนบอลท้องถิ่นที่เติบโตและใช้ชีวิตมาตั้งแต่เด็กๆ 

จึงไม่แปลกที่เวลามีข่าวว่านักเตะ 'ลูกหม้อ' หรือแข้งอันเป็นที่รักมีปัญหาในเรื่องการเจรจาสัญญาฉบับใหม่ พวกเขามักจะโจมตีนักเตะว่า 'หน้าเงิน' หรือ 'เห็นแก่ตัว'

ไม่ใช่เรื่องที่แปลกหากเราจะยืนในฝั่งแฟนบอล แต่หากลองมองในมุมกลับกันไปยังทางฝั่งนักเตะแล้ว พวกเขาก็ต้องการความมั่นคงและสัญญาที่พิจารณาแล้วว่าเป็นสิ่งที่สมควรจะได้รับ

ยิ่งนักเตะที่ทำผลงานได้ดีและเป็นแกนหลักของสโมสร พวกเขาย่อมมีความได้เปรียบในการต่อรองทั้งในเรื่องของค่าแรง และโบนัสต่างๆ ซึ่งส่วนตัวมองว่าไม่ต่างพนักงานเงินเดือนทั่วๆ ไป หรือลูกจ้างที่หวังจะได้ขึ้นเงินเดือนเมื่อเวลาผ่านไป

เดิมทีสมัยที่ยังเป็นเพียงแฟนบอลอายุน้อย ตัวผู้เขียนก็อินไปกับอารมณ์ในฐานะแฟนบอล ก่นด่านักเตะที่ไม่ยอมต่อสัญญา หรือพวกที่งอแงจะเอาค่าแรงที่สูงกว่าเดิม และโดยเฉพาะพวกที่งอแงอยากย้ายทีม

แต่เมื่อเปลี่ยนผันสถานะกลายมาเป็นลูกจ้างและมาเป็นพนักงานบริษัทดูบ้าง ความคิดเหล่านี้ค่อยๆ เปลี่ยนไป และเริ่มเข้าใจหัวอกของคนทำงาน ทุกๆ คนต้องการความก้าวหน้า เงินเดือนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ขอมาแบบฟรีๆ แต่มันมาจากความสามารถและการทำงานของบุคคลนั้นๆ ซึ่งพนักงานหรือลูกจ้างก็ควรมีสิทธิ์เรียกร้องหากมองว่าตนเองทำงานหนักหรือทำผลงานที่ดีต่อบริษัทและนายจ้าง มันเป็นเรื่องปกติที่เราต้องการค่าตอบแทนที่สูงกว่าเดิมหลังจากลงแรงช่วยสร้างหรือทำให้ธุรกิจดำเนินไปด้วยดี

สิ่งที่ว่ามายังรวมไปถึงนักตะที่อยากย้ายสังกัดไปยังสโมสรที่ใหญ่กว่าเดิม ส่วนหนึ่งมาจากค่าแรงที่เพิ่มขึ้นและโอกาสในการประสบความสำเร็จ เรื่องนี้เองก็เคยทำให้กระฟัดกระเฟียดในสมัยที่ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ อยากย้ายไปเรอัล มาดริด หรือสมัยที่ เวย์น รูนี่ย์ มีข่าวกับเชลซี ซึ่งขอสารภาพว่าตอนนั้นก่นด่าสาบแช่งนักเตะทั้งสองไปหลายยก

อย่างที่เรียนไป เมื่อวันเวลาผ่านไปหลังจากได้เรียนรู้จากประสบการณ์ต่างๆ ทำให้เข้าใจหัวอกคนทำงานว่าเมื่อถึงเวลาแล้วส่วนลึกของแต่ละคนก็อยากจะมีที่ที่มั่นคง ที่ที่เห็นคุณค่าของเรา และที่สำคัญคือสถานที่ที่ทำให้เราเดินไปถึงจุดหมายปลายทางที่หวังไว้ และหากสถานที่ปัจจุบันไม่ตอบโจทย์หรือทำให้ไม่ได้ ทางเลือกหลังจากนั้นคือการมองหาที่แห่งใหม่

ดังนั้นการเลือกออกจาก แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในวันนั้นของ โรนัลโด้ ได้พิสูจน์ในเวลต่อเวลามาแล้วว่าเขาคิดถูกและมันทำให้เขาเป็นดาวเตะระดับโลกอย่างเต็มตัว

แน่นอนมันไม่ได้การันตีเสมอไปว่าการออกจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งจะการันตีความสำเร็จหรือมีเส้นทางที่สวยหรูอยู่ตรงหน้า แต่ในฐานะมนุษย์ที่มีอิสระในการตัดสินใจแล้ว พวกเขาหวังว่าจะสามารถเลือกเส้นทางของตนเองได้โดยที่ไม่ต้องมีใครมาบังคับ หรือการตัดสินใจที่ทำแล้วทำให้ตนเองรู้สึกสบายใจกว่าการต้องมานั่งทนและอึดอัดกับสิ่งที่เกิดขึ้น

ย้อนกลับไปยังมุมมองที่กล่าวมา จะว่าไปแล้วมันไม่ต่างจากการต่อสู้ด้านความคิด หรือความเชื่อของแต่ละฝั่ง ฟากแฟนบอลหรือสโมสรอยากเก็บนักเตะคนสำคัญไว้ใช้งาน แต่พวกเขา (สโมสร) ก็ต้องตอบรับข้อเสนอของนักเตะให้ได้ ซึ่งบางทีก็อาจจะมากเกินไปกว่าที่ทีมนั้นๆ จะตอบตกลง

ฝั่งนักเตะแน่นอนว่านอกจากเรื่องเงินที่ต้องเอามาประทังชีวิตและเก็บไว้ใช้หลังจากเลิกเล่น ความสำเร็จหรือเกียรติยศที่จับต้องได้ยังเป็นส่วนสำคัญที่พวกเขาถวิลหาและอยากได้มาครองสักครั้งในชีวิต

ที่ว่ามาทั้งหมดไม่ได้อยากให้ทุกๆ คิดเหมือนกันกับผู้เขียน มันเป็นเพียงมุมมองส่วนตัวที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา แน่นอนหากใครมองว่านักเตะที่ต้องการย้ายทีมหรือพยายามเรียกร้องเงินค่าแรงที่สูงขึ้นว่าเป็นพวก "เห็นแก่เงิน" พวกเขาก็ไม่ผิด เพราะนั่นคือทัศนคติและมุมมองที่พวกเขาเชื่อเช่นนั้น

ในโลกใบนี้มีความคิดหลากหลายมากมาย ไม่มีทางที่คน 100 คน หรือ 1000 คนจะหันซ้ายหรือหันขวาไปพร้อมกัน (นอกเสียจากว่าถูกบังคับหรือสั่งมาอีกที) สิ่งที่สำคัญคือการแลกเปลี่ยนมุมมองและอธิบายในสิ่งที่เราคิดออกมาอย่างมีเหตุผล ลดการใช้อารมณ์และอยากเอาชนะลงไป เราก็อาจจะได้มุมมองหรือแนวคิดต่างออกไปจากเดิม

ท้ายที่สุดแล้วไม่มีคำว่าถูกหรือผิด มีเพียงแค่ว่าคุณจะเลือกเชื่อหรือคิดแบบไหนเท่านั้นเอง




คอลัมน์กีฬาบทความกีฬาต่างๆโดยนักวิเคราะห์ GURUชั้นนำของไทย มีให้ท่านได้เสพทุกวันที่เว็บไซต์ TH SPORT

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด