เสียงที่ไม่ไปไม่ถึง (หรือไม่อยากได้ยิน)
ทุกอย่างเปลี่ยนไปตามกลไกของตลาดและเงื่อนไขการถ่ายทอดสดที่มาพร้อมเม็ดเงินมหาศาลจากบรรดาสปอนเซอร์ โดยส่วนนี้ได้ผันแปรเป็นค่าลิขสิทธ์ของแต่ละสโมสรที่เข้ามาช่วงชิงนอกเหนือความสำเร็จในสนาม
แต่สิ่งที่ตามมาคือจำนวนลงสนามมาก (และถี่) ขึ้น บรรดานักฟุตบอลต้องใช้ร่างกายหนักกว่าเดิมทำให้เลี่ยงไม่ได้กับความเสียงหรือโอกาสได้บาดเจ็บอย่างต่อเนื่อง หรือโชคร้ายอาจถึงขั้นปิดเทอมยาวหลายเดือน หรือบางรายที่มีปัญหาในการรักษาสภาพร่างกายและส่งผลไปยังผลงานของตนเอง
หลายคนอาจมองว่าอาการบาดเจ็บสามารถเกิดขึ้นได้เสมอไม่ต่างจากอุบัติเหตุ บางคนบอกว่าเป็นเพียง 'โชคร้าย' ของนักเตะเหล่านั้น
ต่างจากผู้เล่นด้วยกันเองที่เริ่มออกมาเรียกร้องให้ลดจำนวนลงสนาม เพราะช่วงหลายปีที่ผ่านมานักฟุตบอล (โดยเฉพาะทึมที่ได้สิทธิ์ไปเตะระดับทวีป) ต้องลงสนามแทบทุก ๆ 3 วัน ไหนจะโปรแกรมสโมสรที่เพิ่มเติมเข้ามา ไหนจะเกมทีมชาติที่สอดแทรกแทบไม่ได้หยุด สิ่งเหล่านี้ค่อย ๆ กัดกินร่างกายของพวกเขาเหล่านั้น กัดกร่อนจิตใจไปทีละน้อยจนมีเสียงบ่นออกมาเป็นระยะ
"พวกเราไม่ใช่หุ่นยนต์"
"มีเกมลงสนามเยอะเกินไป"
"มัน (เกม) มากไปจนเกินความจำเป็น" ฯลฯ
นั่นเป็นเพียงเสียงบางส่วนจากปากผู้เล่นที่ออกมาตะโกนถึงผู้มีอำนาจในวงการฟุตบอล ผู้ที่เอาแต่หวังจะหาเม็ดเงินเข้าองค์กรโดยไม่สนใจว่าคนที่ลงสนามต้องแบกรับอะไรบ้าง หรือต้องกังวลกับสิ่งต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับพวกเขา
บรรดากลุ่มคนในองค์กรใหญ่ ๆ แทบไม่ได้ออกมาฟังเสียงนักฟุตบอลด้วยซ้ำ เวลาที่ผู้เล่นออกมาป่าวประกาศหรือเรียกร้อง สิ่งที่เกิดขึ้นคือ 'ไม่มีสัญญาณตอบรับจากหมายเลขที่ท่านเรียก' มีเพียงความเงียบที่สะท้อนกลับมาไม่ต่างจากการพ่นคำพูดใส่กำแพง
ซ้ำหนักไปกว่านั้นยังมีแฟนบอลบางส่วนดันเห็นด้วยกับการเพิ่มโปรแกรมลงสนาม เพราะพวกเขาจะได้มีเวลาดูเกมอย่างต่อเนื่อง โดยลืมไปว่าคนที่ลงสนามก็เป็นเพื่อนมนุษย์คนหนึ่งที่กำลังเรียกร้องสิทธิ์ของตนเอง
"ไม่ได้มีใครไปขอมาให้เตะสักหน่อย"
"บ่นมาก เงินก็ได้เยอะ เตะ ๆ ไปเหอะ"
"ถ้า (ฝีเท้า) เก่งได้อย่างที่ปากพูด (ถึงเรื่องโปรแกรมลงสนาม) ก็คงดี"
หรืออีกสารพัดความเห็นที่ออกมาด่าทอผู้เล่นซึ่งกำลังเรียกร้องให้ลดโปรแกรม จนอดสงสัยไม่ได้ว่าสิ่งที่พวกเขาต้องการคงไม่ใช่มนุษย์ที่ลงไปเตะฟุตบอลแต่มันคือ 'หุ่นยนต์' ที่ต้องเชื่อฟังคำสั่ง ให้เตะเท่าไหร่ก็ทำไป หากเสียหรือพังก็หาเครื่องใหม่มาทดแทน ซ้ำร้ายกว่านั้นการเป็นนักฟุตบอลต้องทำตามความต้องการแฟนบอล นั่นคือลงไปหวดในสนามแม้ร่างกายกำลังจะพัง
อย่าลืมว่าสิ่งที่เป็นไปในตอนนี้มันเกิดขึ้นกับเพื่อนมนุษย์ พวกเขาอาจจะได้เงินมหาศาลจากการลงเล่นฟุตบอล แต่มันไม่ได้มีกฎข้อไหนระบุว่ายิ่งได้เงินเยอะเท่าไหร่ก็ยิ่งมีสิทธิ์ใช้งานมากกว่าเดิมเท่านั้น หรือต้องทำงานจนร่างกายพัง หรือไม่มีเวลาให้หยุดพัก
จึงไม่แปลกที่นักเตะ (รวมถึงนักวิจารณ์หลายคน) เริ่มออกมาส่งเสียงมากขึ้นกับโปรแกรมที่ปรับปรุงจนแทบไม่มีเวลาให้หายใจหรือพักผ่อน
มุมหนึ่งก็อดคิดไม่ได้ว่าพวกที่คิดแผนขึ้นมาไม่มีสมดุลการใช้ชีวิตเลยเหรอ หรือในใจพวกเขาอาจคิดแค่เพียงว่า 'ก็กรูไม่ได้ไปเตะนี่หว่า' ใครจะบาดเจ็บรุนแรง ใครจะสภาพร่างกายอ่อนล้าก็ไม่เกี่ยวกับ 'พวกกรู' ทั้งนั้น
สิ่งที่แปลกไปกว่านั้นซึ่งกำลังเกิดขึ้นในวงการฟุตบอลปัจจุบันก็คือ 'คนคิดไม่ได้ทำ คนทำ (ลงสนาม) ไม่ได้คิด' แต่งานหนักดันไปตกกับนักเตะฟุตบอลที่ต้องเล่นตามโปรแกรมเหล่านั้น
"พวกเราไม่ใช่หุ่นยนต์"
เสียงบ่นนี้คงออกมาต่อเนื่อง แต่ถามว่าบรรดาพวกบริหารในองค์กรฟุตบอลจะสนใจหรือไม่
ตอบได้เลยว่า 'ไม่' ก็เพราะพวก แ-ง ไม่ได้ลงมาเตะด้วยตนเองแต่ให้คนอื่นต้องแบกภาระลงสนาม พร้อมกับข้ออ้างสวยหรูว่า 'พวกเราพยายามสร้างมูลค่าให้วงการฟุตบอล' ประมาณว่า 'พวกกรูหาเม็ดเงินมหาศาลมาให้แล้ว ถ้าอยากได้ก็ลงไปเตะบอลซะ อย่าบ่นให้มาก'
ต่อให้จะบ่นขนาดไหน ต่อให้เรียกร้องแทบเป็นแทบตาย แต่เมื่อมีที่อุดหูและที่ปิดตาซึ่งสร้างจากเม็ดเงินมหาศาล พวกเขาเหล่านั้นก็พร้อมจะหูหนวกตาบอดเลือกฟังหรือมองเห็นในสิ่งที่ต้องการเท่านั้น
ส่วนใครจะเป็นตายร้ายดีเช่นไร 'พวกกรูไม่สน'
คอลัมน์กีฬาบทความกีฬาต่างๆโดยนักวิเคราะห์ GURUชั้นนำของไทย มีให้ท่านได้เสพทุกวันที่เว็บไซต์ TH SPORT