บัญญัติ6ประการที่ได้จากเวิลด์คัพ2018
'วีเออาร์'คือศูนย์กลางจักรวาล
กับทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลแรกที่กล้าเอาเทคโนโลยีวิดีโอช่วยตัดสิน (วีเออาร์) มาใช้ จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะโดนยกเป็นประเด็นตั้งแต่นัดเปิดสนาม ยันเกมชิงชนะเลิศ ว่ามันสร้างดราม่าและข้อถกเถียง มากกว่าเคลียร์ทุกสิ่งให้โปร่งใส
ความต่อเนื่องการแข่งขัน บวกช่วงทดเจ็บยาวขึ้นกลายเป็นประเด็นรองๆไปเลย เมื่อเทียบกับความสับสนเรื่องการเรียดู 'วีเออาร์' เพราะกระทั่งจบฟีฟ่า เวิลด์ คัพ 2018 ไปแล้วก็คงสงสัยว่า ทำไมบางสกอร์รีเช็คก่อน? หรือบางลูกตุงตาข่ายไปแล้วก็เลยตามเลย
เชิ้ตดำ ปีตาน่า แจกจุดโทษนัดชิงชนะเลิศหลังดู วีเออาร์
ชัดเจนว่า 'วีเออาร์'ไม่ได้ช่วยให้ความผิดพลาดของผู้ตัดสินหมดไป 100% ก็ในเมื่อคุณดูภาพจากวิดีโอแล้วคงเป่าผิด เป่าถูก จนส่งผลต่อหน้าการแข่งขัน อย่างไรก็ตามเจ้าเทคโนโลยีนี้ก็ยังพอมีคุณอยู่บ้าง
ยกตัวอย่างจากเกมรอบแบ่งกลุ่มระหว่าง เยอรมัน - เกาหลีใต้ ประตูขึ้นนำ 1-0 ของ 'โสมขาว' คำตัดสินบอกเป็นการล้ำหน้า แต่เมื่อห้องควบคุม 'วีเออาร์' ส่งสัญญาณมาว่าตุลาการบนสนามควรดู ปรากฎมันคือสกอร์ขาวสะอาด
อีกลูกที่ 'วีเออาร์' กลับดำเป็นขาว คือรอบแบ่งกลุ่มของ โคลอมเบีย พบกับ เซเนกัล จังหวะปัญหาเมื่อ เดวีนซอน ซานเชซ กองหลังละตินเสียบสกัดใส ซาดิโอ มาเน่ ในกรอบ 18 หลา เชิ้ตดำเป่าให้จุดโทษ แต่เมื่อดูภาพซ้ำก็ยกประโยชน์แก่จำเลยว่าโดนบอลก่อน
สรุปคือความต่อเนื่องอาจลดลงบ้าง แต่โดยรวม 'วีเออาร์' ก็ช่วยให้จังหวะก้ำกึ่ง 50:50 ทั้งหลายมีความยุติธรรมมากขึ้น
สถิติที่น่าสนใจในฟีฟ่า เวิลด์ คัพ 2018
แจกจุดโทษไปถึง 29 ครั้ง
มหกรรมจุดโทษ
อีกสิ่งที่แวะเวียนในฟีฟ่า เวิลด์ คัพ ฉบับรัสเซียอย่างสม่ำเสมอก็คือการแจกจุดโทษ! โดยลูกที่ อองตวน กรีซมันน์ กองหน้าฝรั่งเศสซัลโวใส่ โครเอเชีย รอบชิงชนะเลิศคือหนที่ 29 ของบอลโลก 2018 นับว่ามากสุดตลอดกาลของทัวร์นาเมนต์
3 จาก 6 ประตูของ เคน ในทัวร์นาเมนต์มาจากจุดโทษ
โดยเมื่อลองย้อนกลับไปมีเพียง 13 จุดโทษใน เวิลด์ คัพ 2014 ที่ประเทศบราซิล, 15 หนเมื่อ ค.ศ.2010 ณ แอฟริกาใต้, 17 เข้า 17 เกิดที่ ฟร้องซ์'98 หรือครั้งก่อนๆซึ่งมีจุดโทษมากสุดคือปี 2002 เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น รับหน้าเสื่อเจ้าภาพ
หนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดมหกรรมแจกจุดโทษหนีไม่พ้นเทคโนโลยี 'วีเออาร์' เพราะร้อยละ 73% เมื่อเรียกดูภาพซ้ำมักชี้ไปยังจุด 12 หลา
ประตูจากเซตพีซ
จุดโทษไม่ใช่ลูกนิ่งประเทศเดียวที่เขย่าก้นตาข่าย เวิลด์ คัพ 2018 เพราะมีถึง 73 จากทั้งหมด 169 สกอร์ จุดเริ่มต้นคือบอลตาย ซึ่งคิดเป็นอัตราส่วน 43%
เป็นอีกครั้งที่สกอร์จากเซตพีซ มากสุดกว่าบอลโลกทัวร์นาเมนต์ไหนๆซึ่งเคยจัด นำเทรนด์มาโดยทีมชาติอังกฤษ ใส่สกอร์บอร์ดเพราะลูกนิ่งรวม 9 ครั้ง ทำลายสถิติเดิมของ โปรตุเกส เมื่อ ค.ศ.1966 ( 8 ครั้ง)
ใบแดงที่ลดลง
ขณะที่การดูภาพจาก วีเออาร์ ทำให้โอกาสเกิดจุดโทษมากขึ้น ในทางตรงกันข้ามมันก็ช่วยปรามผู้เล่นซึ่งคิดจะตุกตินอกเกม ให้ละอายต่อบาปเพราะอาจโดนเรียกดูย้อนหลังจนทำให้ผู้เล่นถูกอปเปหิเหลือแค่หยิบมือ
ตลอดทัวร์นาเมนต์มีนักเตะ 4 คนโดนใบแดงไล่ออก ได้แก่ การ์ลอส ซานเชซ (โคลอมเบีย), เยโรม บัวเต็ง (เยอรมัน), อิกอร์ สโมลนิคอฟ (รัสเซีย) และ ไมเคิ่ล ลัง (สวิตเซอร์แลนด์)
สโมลนิคอฟ (ขวา) กองหลัง รัสเซีย คือ 1 จาก 4 คนที่ถูกไล่ออกในทัวร์นาเมนต์นี้
นับเป็นตัวเลขน้อยสุดนับจาก เวิลด์ คัพ ปี 1978 (อาร์เจนตินา) ที่ครั้งนั้นมีนักเตะสามรายถูกไล่ออก อนึ่งจำนวน 4 หัว
เทียบไม่ได้เลยกับ บอลโลกสามครั้งหลังสุดเพราะในปี 2014 ถูกไล่ 10 ครั้ง, 17 หน ค.ศ.2010 และ 28 ใบแดงที่ปลิวว่อน เวิลด์ คัพ 2006
อนึ่งก็มีการหยิบยกเหตุการณ์น่าสนใจว่าหากเป็น เวิลด์ คัพ หนก่อนๆที่ไม่มี 'วีเออาร์' กรณีดังต่อไปนี้ตุลาการสนามจะตัดสินใจแบบไหน
ทั้ง เคราร์ด ปีเก้ กองหลังสเปนเสียบสกัด 2 เท้าใส่นักเตะโมร็อกโกรอบแบ่งกลุ่มแต่รอด, คริสเตียโน่ โรนัลโด้ กัปตันโปรตุเกสเอาศอกอัดใส่แข้ง อิหร่าน แต่ก็รอด หรือจะ เดยัน ลอฟเรน กองหลังโครเอเชีย ทั้งหวด ทั้งอัดแข้งทีมชาติอังกฤษ กลับลอยนวลตลอด 120 นาที
เกมคู่คี่และสกอร์ท้ายเกม
จำนวนประตูในฟีฟ่า เวิลด์ คัพ ที่รัสเซีย ( 169 ลูก) อาจจะน้อยกว่าหนก่อนที่ 2 สกอร์ แต่มันก็อุดมไปด้วยดราม่าท้ายแมตช์ และความบันเทิง จากเกมที่ทีมหนึ่งจะแพ้ สามารถคัมแบ็คชนะ หรือสถานการณ์คู่คี่ก็จบแบบมีฝ่ายได้เฮ ทั้งนี้ตลอดทัวร์นาเมนต์มีจบด้วยผล 0-0 ช่วง 90 นาทีเพียงครั้งเดียว (ฝรั่งเศส - เดนมาร์ก)
เนย์มาร์กับลูกปิดกล่องแบบใจหาย ใจคว่ำเกมกับ คอสตาริกา
นี่คือเวิลด์ คัพ ที่ผลการแข่งขันเปลี่ยนหลังเข้าสู่นาที 90 เป็นต้นไปมากถึง 13 ครั้ง (รวมช่วงต่อเวลาพิเศษ) - มีผู้ชนะ 9 ครั้ง และจบผลเสมอ 4
11 จากทั้งหมดเกิดในรอบแบ่งกลุ่ม, สองหนรอบ 16 ทีม ได้แก่สกอร์ของ นาเซอร์ ชาดลี่ เกมที่ เบลเยียม แซงชนะญี่ปุ่น 3-2 และ เยร์รี่ มีน่า กองหลังโคลอมเบียโขกตีเสมอ อังกฤษ 1-1
ไม่ใช่ทัวร์นาเมนต์สำหรับตัวเต็ง
ต่อเนื่องจากผลแพ้-ชนะ ท้ายเกม หนึ่งในนั้นเกิดระหว่างกรุ๊ป สเตจ เกาหลีใต้ กับแชมป์เก่า เยอรมัน ซึ่งปรากฎว่า 'โสมขาว' หักปากกาเซียนโค่นไป 2-0 พร้อมลาก 'อินทรีเหล็ก' ตกรอบไปพร้อมกัน ต่างกับอีก 7 ชาติซึ่งเคยเป็นแชมป์โลกอย่างน้อยหนึ่งหน ตบเท้าไปแข่งน็อคเอาต์ทั้งหมด
แฟนบอลอินทรีเหล็กแทบแทรกแผ่นดินหนีความอายที่ตกรอบแรก
ทั้งนี้เทรนด์ฟุตบอลโลกแข่งที่ยุโรป แชมป์ก็ต้องอยู่บนแผ่นดินยุโรปยังใช้ได้ผลเมื่อ อุรุกวัย กับ บราซิล ชิงตกรอบก่อนรองชนะเลิศ ขณะที่ โครเอเชีย ไม่สามารถสร้างประวัติศาสตร์แชมป์หน้าใหม่เมื่อพ่ายต่อ ฝรั่งเศส เกมชิงชนะเลิศ
สำหรับตัวเลขที่น่าสนใจอื่นๆ 10 จาก 14 ชาติยุโรปสามารถเข้ารอบน็อคเอาต์, 4 จาก 5 ประเทศของ อเมริกาใต้ก็กรุยทางจากกรุ๊ป สเตจ เช่นกัน, ญี่ปุ่น กับ เซเนกัล คือสองชาติเอเชียกับ คอนคาเคฟ ตามลำดับซึ่งไปถึง 16 ทีมสุดท้าย
น่าผิดหวังสุดคงเป็นแอฟริกาเมื่อทั้ง 5 ชาติด่วนตกรอบแรกหมด
คอลัมน์กีฬาบทความกีฬาต่างๆโดยนักวิเคราะห์ GURUชั้นนำของไทย มีให้ท่านได้เสพทุกวันที่เว็บไซต์ TH SPORT