ตัดหางซิตี้จากบอลยุโรป!เรื่องจริงหรือฝันไป
เริ่มที่ว่าแมนฯ ซิตี้ ทำผิดอะไร?
สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) มีคำสั่งตามคำตัดสินของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดลงโทษ แมนฯ ซิตี้ ห้ามลงแข่งขันในฟุตบอลถ้วยยุโรปเป็นเวลา 2 ฤดูกาล ( 2020-21, 2021-22) พร้อมปรับเงินก้อนโตถึง 30 ล้านยูโร ฐานความผิดละเมิดกฎไฟแนนเชี่ยล แฟร์เพลย์ (เอฟเอฟเอฟ) ขั้นรุนแรง
จากกรณีปลอมแปลงรายได้ผู้สนับสนุนสูงกว่าความเป็นจริง และหมกเม็ดบัญชีว่ามีรายได้เท่ากับรายจ่าย ตามเอกสารที่ส่งให้ ยูฟ่า พิจารณาระหว่างปี 2012-16
นอกจากนั้น ยูฟ่า ยังระบุอีกว่า แมนฯ ซิตี้ ไม่ยอมให้ความร่วมมือแก่หน่วยงานควบคุมด้านการเงินระดับสโมสร (ซีเอฟซีบี) ในการสวบสวนหามูลความผิด
ทั้งนี้ ยูฟ่า ต้องขอบคุณ 'แดร์ สปีเกิ้ล' นิตยสารจอมแฉสัญชาติดอยช์ ที่เผยแพร่การแฮ็คอีเมลติดต่อภายในสโมสร 'เรือใบสีฟ้า' เรื่องสปอนเซอร์ที่มาหนุนทีม ก็เป็นสินค้าและบริการในเครือข่ายของ อาบู ดาบี กรุ๊ป เจ้าของทีม
ตรงตามสำนวนอัฐยายซื้อขนมยาย - ซึ่งการหาสปอนเซอร์ลักษณะนี้เข้าข่ายความผิด 'เอฟเอฟเอฟ' เต็มประตู
ซิตี้ โดนฤทธิ์ไฟแนนเชี่ยล แฟร์เพลย์เล่นงาน
พวกเขาจะอุทธรณ์โทษไหม?
ซิตี้ ฟาดงวงฟาดงาทันทีที่ผลการตัดสินของ ยูฟ่า ออกมา พร้อมยื่นเรื่องอุทธรณ์ไปยังศาลอนุญาโตตุลการแห่งกีฬา (ซีเอเอส) เรียบร้อย
"สโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ผิดหวังอย่างมากแต่ไม่ได้ประหลาดใจจากการประกาศของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดของ ยูฟ่า"
"กรณีนี้เริ่มต้นจาก ยูฟ่า ดำเนินคดีโดย ยูฟ่า และตัดสินจากยูฟ่าซึ่งเป็นขั้นตอนที่มีความอคติ สโมสรจะดำเนินการเพื่อหาข้อตัดสินที่ยุติธรรมให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้โดยเริ่มต้นขั้นตอนแรกด้วยการร่วมมือกับศาลอนุญาโตตุลาการกีฬา" แถลงการณ์ชี้แจงจาก 'เรือใบสีฟ้า'
จะเกิดอะไรขึ้นไหมกับ แมนฯ ซิตี้ บนเวที ชปล.ฤดูกาลนี้?
โจเซป กวาร์ดิโอล่า ยังคงสมารถนำทัพสู้ศึก แชมเปี้ยนส์ ลีก ฤดูกาลนี้ได้ตามปกติ
เพราะโทษแบนที่ ยูฟ่า แถลงออกมาคือห้มสังฆกรรมศึกชิงแชมป์สโมสรระดับทวีป 2 ฤดูกาลหน้า ( 2020-21, 2021-2022)
แต่เรื่องทีน่าติดตามคือการแถลงข่าวของเทรนเนอร์วัย 49 ปี ก่อนเกม รอบ 16 ทีม นัดแรก พบ เรอัล มาดริด ( 26 ก.พ.) ต้องแซ่บ ดุดัน และเครียดอย่างมาก จนห้ามกระพริบตา
อย่างน้อย 1 ซีซั่น ซิตี้ โดนห้ามแข่งบอลยุโรปแน่ๆ
โอกาสที่ ซิตี้ จะเป็นผู้ชนะในการอุทธรณ์?
กรณีศึกษาจาก เอซี มิลาน เคยโดนลงโทษฐานความผิดละเมิดกฎไฟแนนเชี่ยล แฟร์เพลย์ เมื่อปี 2018 ถูก ยูฟ่า ห้ามแข่งชิงแชมป์ยุโรป 2 ซีซั่น เหมือน แมนฯ ซิตี้ เป๊ะ
นำมาซึ่งการอุทธรณ์โทษของทีมจาก เซเรีย อา อิตาลี ไปยัง ศาลอนุญาโตตุลการแห่งกีฬา ปรากฎว่ามีการเปลี่ยนคำตัดสินไฟเขียว 'ปีศาจแดง-ดำ' เล่น ยูโรปา ลีก ซีซั่น 2018-19 หน้าตาเฉย
แต่ทางสโมสรก็ปฏิเสธเรื่องร่วมลงแข่งเพราะปัญหาความไม่พร้อมภายในองค์กรหลายอย่างต้องสะสาง
กระทั่งซัมเมอร์ 2019 มีการติดตามบัญชีของ มิลาน อีกครั้งเพื่อดูพัฒนาการ แล้วก็นำมาซึ่งบทลงโทษห้ามแข่งชิงแชมป์ยุโรปในซีซั่นปัจจุบัน
ดังนั้นมองแล้ว ซิตี้ ต้องพลาดแข่งรายการในความดูแลของ ยูฟ่า แน่ๆสักซีซั่น ไม่ 2020-2021 ก็ 2021-22
คำตัดสินของยูฟ่ามีผลต่อการแย่งท็อป4/5 พรีเมียร์ลีก อย่างไร?
สมมุติ แมนฯ ซิตี้ จบ ท็อป 4 ตารางลีกผู้ดีฤดูกาลนี้ แล้วยอมรับบทลงโทษทันทีในซีซั่น 2020-21 ถามว่าโควตาสโมสรจากอังกฤษ 1 เก้าอี้จะตกเป็นของใคร?
แม้ยังไม่มีคำยืนยันจาก ยูฟ่า หรือ พรีเมียร์ลีก อังกฤษ แต่ตามกฎข้อ 4.08 ของสหพันธ์ฟุตบอลยุโรประบุว่าหากสโมสรที่ได้สิทธิ์เดิม ไม่สามารถร่วมแข่งในรายการ แชมเปี้ยนส์ ลีก จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม
จะเลื่อนลำดับลงไปให้แก่ทีมผลงานดีสุดของลีกรองๆลงไป
หากเอาสถานการณ์บนตารางเวลานี้ชี้วัด เท่ากับว่า คริส ไวล์เดอร์ พร้อมกับ เชฟฯ ยูไนเต็ด ของเขาในอันดับ 5 จะคว้าสิทธิ์เตะ ชปล. - กรณีว่าอีก 13 แมตช์ที่เหลือยังรักษาตำแหน่งไว้ได้
เชฟฯ ยูไนเต็ด ลุ้นเตะ ชปล.
จะเกิดอะไรขึ้นกับอนาคตกวาร์ดิโอล่าในสโมสรแห่งนี้?
กวาร์ดิโอล่า ถือเงื่อนไขในมือว่าสามารถชิ่ง แมนฯ ซิตี้ ได้เลยเมื่อจบฤดูกาล 2019-20 นี้
มีการเปิดเผยว่า เป๊ป ปรับปรุงรายละเอียดสัญญาเดิมผูกมัดถึง มิ.ย.2021 แต่ตัวเทรนเนอร์วัย 49 ปี มีสิทธิ์อยู่จนครบข้อตกลง หรือขอแยกทางก่อนเข้าสู่การคุมทัพปีสุดท้ายได้
เมื่อพิจารณาหลายปัจจัยว่าทีม แมนฯ ซิตี้ อดแข่ง ชปล.ในอนาคต, ประวัติการทำงานไม่เคยคุมทีมไหนเกิน 4 ซีซั่น ซึ่งที่ เอติฮัด สเตเดี้ยม นี่ก็ถึงสี่ปีพอดี, ไม่สามารถจับจ่ายมือเติบได้อย่างเดิม และขุมกำลังอาจทยอยย้ายหนี
หากคุณเป็น กวาร์ดิโอล่า จะทนนั่งปั้นทีมใหม่ หรือ ออกไปสุขสบายที่ ยูเวนตุส ดีล่ะ?
https://twitter.com/ManCity/status/1228387687918374912
แถลงการณ์ แมนฯ ซิตี้ ดื้อแพ่ง
แล้วไอ้กฎควบคุมความโปร่งใสทางการเงินคืออะไร?
ยูฟ่า เห็นถึงความฟุงเฟ้อของสโมสรในยุโรป จึงหาทางป้องปรามการใช้เงินเกินตัว คอนเซปต์คือห้ามมีบัญชีรายจ่ายมากกว่ารายรับต่อเนื่องถึง 3 ปีงบประมาณ
ทีมกฎหมายของสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป เริ่มตรากฎให้ครอบคลุม, ประชาสัมพันธ์แก่สโมสรสมาชิก และชี้แจงขอสงสัยมาตั้งแต่ปี 2009 กระทั่งมาเริ่มบังคับใช้ฤดูกาล 2011-12 ซึ่งซีซั่นแรกๆถือว่าอะลุ้มอล่วยทีเดียว
โดยที่มาของแหล่งรายได้อันถูกต้องตามกฎประกอบด้วยเงินที่ได้จากวันแข่งขัน จะทั้งบัตรผ่านประตู-สินค้าที่ระลึก หรือ หนังสือแมตช์เดย์ นับหมด, ค่าลิขสิทธิ์ทางโทรทัศน์, เงินโฆษณาประชาสัมพันธ์, ผลิตภัณฑ์ห้างร้านผู้สนับสนุน, เงินจากการขายนักเตะและเงินรางวัลจากการแข่งขัน
จะเกิดอะไรขึ้นจากนี้?
สโมสร แมนฯ ซิตี้ ก็คงทำได้เพียงเฝ้ารอกระบวนการตัดสินเมื่อส่งเรื่องอุทธรณ์ไปยัง 'ซีเอเอส' ทั้งนี้สำนักข่าว 'พีเอ' อ้างว่าไม่สามารถกรอบเวลาว่าคำตัดสินจะออกมาเมื่อไหร่ แต่โดยปกติดำเนินการ 4-5 เดือน
กรณีว่าหมิ่นเหม่กับช่วงส่งชื่อผู้เล่นแข่ง ชปล.ซีซั่นหน้า ซิตี้ อาจยังได้ลุยแข่งไปก่อน แล้วค่อยชดใช้ความผิดในฤดูกาลถัดไป
แต่หากผลออกมาราวต้นมิถุนายน ก็เชื่อว่าสมาชิกบ้าน เอติฮัด สเตเดี้ยม คงต้องทางใครทางมัน
คอลัมน์กีฬาบทความกีฬาต่างๆโดยนักวิเคราะห์ GURUชั้นนำของไทย มีให้ท่านได้เสพทุกวันที่เว็บไซต์ TH SPORT