:::     :::

ยอมตายดีกว่าอยู่แบบคุกเข่า

วันอังคารที่ 11 ธันวาคม 2561 คอลัมน์ ลูกหนังนอกกรอบ โดย JOKE
2,860
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
แอธเลติก บิลเบา เป็นทีมที่ยึดมั่นในประเพณีมาอย่างยาวนานจนเรียกว่าเป็น'ปรัชญา'สโมสรที่แฟนบอลหวังว่าจะคงอยู่กับทีมต่อไปแม้ว่าอาจจะทำให้พวกเขาตกต่ำก็ตาม

การตัดสินใจปรับเปลี่ยนของ แอธเลติก บิลเบา เห็นผลชัดเจนเมื่อสาวก'โลส เลโอเนส'ได้ฉลองชัยชนะครั้งแรกที่เฝ้ารอมานานกว่า 3 เดือน 

บิลเบา เปิดตัวซีซั่นใหม่สวยด้วยการเปิดสังเวียน'ซาน มาเมส บาร์เรีย'เชือด เลกาเนส 2-1 เมื่อวันจันทร์ที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา ทว่านับจากวันนั้น ทีมยักษ์ใหญ่แคว้นบาสก์สะกดคำว่าชนะบนเวทีลีกาไม่เป็นถึง 13 เกมติดต่อกันจนกระทั่ง เอดูอาร์โด้ เบริซโซ่ ถูกปลดออกจากตำแหน่งหลังเกมพ่าย เลบันเต้ 0-3 โดยมี กาอีซก้า การีตาโน่ ขยับจากเทรนเนอร์ทีมเยาวชนขึ้นมารับช่วงต่อจนสามารถคืนความสุขให้สาวก'โลส เลโอเนส'ได้ดีในระดับหนึ่ง 


การีตาโน่ คุมทีมลงสนาม 2 นัด กำชัยชนะร้อยเปอร์เซนต์และไม่เสียประตูด้วย เริ่มต้นจากการบุกถล่ม อ้วยส์ก้า 4-0 ในศึก โกปา เดล เรย์ รอบ 32 ทีม นัดสองก่อนคว้าตั๋วเข้ารอบด้วยสกอร์รวม 8-0 ตามด้วยการเปิดบ้านเชือด คีโรน่า 1-0 บนเวทีลีกาเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาจากการสังหารลูกจุดโทษช่วงท้ายเกมของ อาริตซ์ อาดูรีซ 

กาอีซก้า การีตาโน่ เติบโตมาจากทีมเยาวชนของสโมสรก่อนก้าวขึ้นมาเล่นทีมชุดใหญ่ของบิลเบาเมื่อปี 1993 จากนั้นชีวิตค้าแข้งระหกระเหินไปเล่นกับ เยอีด้า (ยืมตัว), เออิบาร์ (ยืมตัว), เอาเรนเซ่, เออิบาร์, เรอัล โซเซียดาด ก่อนปิดฉากอาชีพค้าแข้งกับ อลาเบส ในปี 2009 

เขาเปลี่ยนสายงานมาบนเส้นทางเทรนเนอร์หลังจากนั้นด้วยการรับงานผู้ช่วยเทรนเนอร์ที่ เออิบาร์ เมื่อปี 2009 ก่อนได้รับโอกาสคุมทีมชุดใหญ่ในช่วงปี 2012-15 ก่อนจะย้ายมาทำงานกับ เรอัล บายาโดลิด และ เดปอร์ติโบ ลา กอรุนญ่า ทว่าไม่ประสบความสำเร็จจนกระทั่งกลับมารับงานเทรนเนอร์ของ บิลเบา แอธเลติก หรือ ทีมเยาวชนบิลเบาตั้งแต่ช่วงซัมเมอร์ปี 2017

เทรนเนอร์วัย 43 ปีทำสถิติดีในระดับหนึ่ง เขาคุม บิลเบา แอธเลติก ลงเล่น 55 นัด ชนะ 28 เสมอ 14 แพ้ 13 ยิง 99 ประตู เสีย 46 ประตู ก่อนจะได้รับโอกาสจากสโมสรโปรโมตขึ้นมาคุมทีมชุดใหญ่แทน เบริซโซ่ ซึ่งคุมทีมยักษ์ใหญ่แคว้นบาสก์ชนะเพียงครั้งเดียวจาก 14 เกมแรกของซีซั่น 


แอธเลติก บิลเบา กำลังเกิดวิกฤติอีกครั้งเหมือนที่้เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2006 ซึ่งมีคนตระกูล'การีตาโน่'ถูกดึงมาช่วยกอบกู้วิกฤติสโมสรไม่ต่างจากครั้งนี้ 

12 ปีก่อนหน้านี้ บิลเบา เรียกตัว อังเคล การีตาโน่ ซึ่งเป็นบิดาของ กาอีซก้า เข้ามารับตำแหน่งผู้ช่วยของเทรนเนอร์คนใหม่ โฆเซ่ มานูเอล เอสนัล มาเน่ เพื่อร่วมกันกอบกู้สโมสรให้พ้นจากวิกฤติที่สุ่มเสี่ยงต่อการตกชั้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 108 ปีของสโมสร หลังการคว้าชัยชนะเพียงครั้งเดียวเมื่อผ่านช่วง 12 สัปดาห์แรก โดยตกมาอยู่ในโซนหล่นชั้นมีเพียง 8 คะแนนจน เฟลิกซ์ ซาร์ริวการ์เต้ ถูกตะเพิดออกจากตำแหน่งเทรนเนอร์

ครั้งนั้นมันเป็นการตัดสินใจ'ภาคบังคับ'ของสโมสร ซึ่งเห็นผลตอบรับชัดเจนเพราะบิลเบาเก็บเพิ่มอีก 14 แต้มจากการลงเล่น 7 เกมถัดมา แม้ว่าจะพ่ายต่อทีมคู่ปรับร่วมแคว้นอย่าง เรอัล โซเซียดาด ก็ตาม 


อย่างไรก็ตามภารกิจกู้ภัยของ มาเน่-การีตาโน่ ยังเต็มไปด้วยความหวาดเสียวตลอดเส้นทางจนกระทั่งทุกสิ่งทุกอย่างถูกปลดปล่อยหลังการเอาชนะ เลบันเต้ เกมสุดท้ายของซีซั่น ซึ่งทำให้ บิลเบา รอดพ้นการตกชั้นแบบฉิวเฉียดโดยมี 40 คะแนนมากกว่าทีมอันดับ 18 เซลต้า บีโก้ เพียงแต้มเดียวเท่านั้น 

แต่คู่หู มาเน่-การีตาโน่ ก็ต้องอำลาสโมสรหลังจากนั้น เนื่องจากแคมเปญหาเสียงของผู้ชนะการเลือกตั้งประธานสโมสรคนใหม่ เฟร์นานโด มากวา นำเสนอ ฆัวกิน กาปาร์รอส เป็นเทรนเนอร์คนใหม่ของทีมดังแคว้นบาสก์ 

12 ปีต่อมา แอธเลติก บิลเบา เรียกใช้งานคนตระกูลการีตาโน่อีกครั้ง แต่คราวนี้เป็นรุ่นลูก กาอีซก้า การีตาโน่ บุคคลที่มีชีวิตค้าแข้งคลุกคลีกับสโมสรในแคว้นบาสก์มาตลอด 14 จาก 16 ปีในอาชีพกับ แอธเลติก บิลเบา, เรอัล โซเซียดาด, อลาเบส และ เออิบาร์ 


ตระกูลการีตาโน่ยังเล่นฟุตบอลกับ แอธเลติก บิลเบา มาตั้งแต่รุ่นลุง อันเดร์ ที่เล่นกับทีมยักษ์ใหญ่แคว้นบาสก์ถึง 275 นัด ต่อด้วยพ่อ อังเคล จนมาถึงรุ่นลูก กาอีซก้า แต่ที่เหนือกว่ารุ่นก่อนหน้านี้คือการก้าวขึ้นมาเป็นเทรนเนอร์ของทีมชุดใหญ่ด้วยนั่นเอง

กาอีซก้า มีภารกิจกู้ชีพเหมือน อังเคล เมื่อ 12 ปีก่อนเพียงแต่รุ่นพ่อเป็นเพียงผู้ช่วยของ มาเน่ เท่านั้น หลังสโมสรต้องตัดสินใจใน'ภาคบังคับ'เหมือนปี 2006 เนื่องจากสถานการณ์ภายใต้การดูแลทีมของ เบริซโซ่ ไม่ต่างจาก เฟลิกซ์ ซาร์ริวการ์เต้

หลังการเข้ามารับตำแหน่งเทรนเนอร์ขัดตาทัพเมื่อปี 2006 มาเน่ เป็นเทรนเนอร์คนที่ 4 ของ แอธเลติก บิลเบา โดยไม่มีใครถูกไล่ออกจากตำแหน่งหลังจากนั้นไม่ว่าจะเป็น ฆัวกิน กาปาร์รอส, มาร์เซโล่ บิเอลซ่า หรือ เอร์เนสโต้ บัลเบร์เด้ ซึ่งต่างอยู่จนครบอายุสัญญา ก่อน กูโก้ ซีกานด้า จะถูกปลดเป็นรายแรก ต่อด้วย เบริซโซ่ เป็นคนล่าสุด 


โจซู อูร์รูเตีย ประธานสโมสรคนปัจจุบันที่เข้ามารับตำแหน่งต่อจาก เฟร์นานโด มากวา เมื่อปี 2011 ซึ่งกำลังจะอำลาเก้าอี้ในช่วงปลายเดือนนี้เพื่อเปิดทางให้มีการเลือกตั้งประธานสโมสรคนใหม่ในวันที่ 27 ธันวาคมนี้ แต่ อูร์รูเตีย ทิ้งมรดกที่ตั้งข้อสงสัยให้ใครหลายคนโดยเฉพาะกรณีของ อีเกร์ มูเนีย ซึ่งเป็นผู้เล่นเพียงคนเดียวของสโมสรที่ไม่มีการตั้งคอร์สฉีกสัญญานักเตะ แน่นอนว่าข้อตกลงลักษณะดังกล่าวคงจะเป็นครั้งสุดท้ายและจะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคตเพราะมันอาจหมายถึงการสูญเสียผลประโยชน์ที่สโมสรพึงได้หากนักเตะย้ายสังกัด 

อีกหนึ่งข้อถกเถียงกันมากขึ้นนั่นคือการแหวกม่านประเพณีของสโมสร นั่นคือนโยบายหรือที่พวกเขาเรียกว่า'ปรัชญา'การทำทีมนับตั้งแต่อดีตที่่ผ่านมา โดยเลือกใช้เฉพาะนักเตะที่มีเชื้อสายหรือเกี่ยวข้องกับคนบาสโก้หรือแคว้นบาสก์เท่านั้น แม้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานโยบายดังกล่าวจะมีการยืดหยุ่นบ้างก็ตาม 

มันขึ้นอยู่กับการตีความและนำมาประยุกต์ใช้งานเพื่อให้เหมาะสมกับฟุตบอลสมัยใหม่ ยกตัวอย่าง คริสเตียน กาเนีย แบ็กซ้ายชาวโรมาเนียนวัย 26 ปีที่เพิ่งลงประเดิมสนามกับยักษ์ใหญ่แคว้นบาสก์ในเกมชนะ อ้วยส์ก้า 4-0 บนเวที โกปา เดล เรย์ รอบ 32 ทีม นัดแรก


กาเนีย เป็นชาวโรมาเนียนโดยกำเนิดเกิดที่เมืองบิสตรีต้าเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 1992 แต่เขาอพยพตามครอบครัวมาอยู่สเปนตั้งแต่เด็ก กาเนียเติบโตที่เมือง'บาเซารี่'ในแคว้นบาสก์และใช้เวลาหลายปีในการเล่นกับทีมเยาวชนของสโมสรแคว้นบาสก์ทำให้เขาได้สิทธิ์ลงเล่นกับ บิลเบา และยังเคยลงเล่นกับทีม'บาสก์ คันทรี'ในปี 2010 ด้วย

เขาเซ็นสัญญากับทีมเยาวชนของ มายอร์ก้า ในปี 2010 ก่อนจะย้ายกลับไปค้าแข้งในโรมาเนียปี 2013 กับ ตาร์กู มูเรช จนกระทั่งถูก แอธเลติก บิลเบา ดึงมาร่วมทีมในช่วงซัมเมอร์ที่ผ่านมา 

กรณีของ กาเนีย มาจากการตีความและประยุกต์ใช้หลังแบ็กซ้ายเคยใช้ชีวิตและเล่นฟุตบอลกับสโมสรในแคว้นบาสก์ แม้ว่าจะไม่มีเชื้อสายของคนบาสโก้เลยก็ตาม แต่ยังอนุมานได้ว่ามีสิทธิ์เล่นกับบิลเบา 

การดำรงค์ไว้ซึ่งประเพณีที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือนของ แอธเลติก บิลเบา เป็นเรื่องที่น่ายกย่อง แต่มันต้องมีการยืดหยุ่นบ้างเพื่อให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันเพราะหากยึดติดกฎเดิมแบบเคร่งครัดนอกจากจะทำให้มีโอกาสประสบความสำเร็จยากแล้วยังอาจนำมาซึ่งความตกต่ำของสโมสรเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 12 ปีก่อนและกำลังเกิดขึ้นในซีซั่นนี้ 

แคว้นบาสก์มีพื้นที่เพียง 1.4 เปอร์เซนต์ของดินแดนสเปนและมีจำนวนประชากรเพียง 4.9 เปอร์เซนต์ของคนทั้งประเทศ ดังนั้นจำนวนนักเตะชาวบาสโก้จึงมีน้อยตามสัดส่วนและจากจำนวนที่มีไม่มากนักก็ยังหาแข้งระดับคุณภาพยากยิ่งขึ้นด้วย สโมสรที่ยึดมั่นใจประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนานอย่าง บิลเบา จึงตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก มีโอกาสที่จะต้องต่อสู้เพื่อการอยู่รอดมากกว่าการลุ้นแย่งชิงความสำเร็จ


แอธเลติก บิลเบา เป็น 1 ใน 3 สโมสรร่วมกับ เรอัล มาดริด และ บาร์เซโลน่า ที่อยู่ยงคงกระพันบนเวทีลีกามาตั้งแต่ยุคเริ่มแรก เพียงแต่สองทีมหลังไม่เคยตกต่ำถึงขนาดต้องดิ้นรนหนีการตกชั้นเหมือน บิลเบา และจนถึงตอนนี้การตกชั้นของทีมดังแคว้นบาสก์อาจเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในวันหนึ่งข้างหน้า 

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะเปลี่ยนมุมมองหรือนโยบายการทำทีมที่ยึดมั่นเป็นประเพณีมาอย่างยาวนาน เหมือนที่เด็กเก่า อูไน บูสตินซ่า กองหลังของเลกาเนสเคยพูดไว้ก่อนหน้านี้ว่า'ผมยอมเห็น บิลเบา ตกไปเล่นในเซกุนด้ามากกว่าเห็นทีมเปลี่ยนแปลงปรัชญา' 

บิลเบา คงยอมตายดีกว่าอยู่แบบคุกเข่า...


คอลัมน์กีฬาบทความกีฬาต่างๆโดยนักวิเคราะห์ GURUชั้นนำของไทย มีให้ท่านได้เสพทุกวันที่เว็บไซต์ TH SPORT

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด