ตามรอยความฝัน
นักเตะดัตช์กับทีมอาซูลกราน่ากลายเป็นของคู่กันนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบันก่อนทีมยักษ์ใหญ่แคว้นกาตาลุนย่าจะเซ็นสัญญาล่วงหน้ากับ เฟรงกี้ เดอ ย็อง มิดฟิลด์วัย 21 ปีของ อาแจ็กซ์ อัมส์เตอร์ดัม เป็นสมาชิกคนล่าสุด
หนุ่มเฟรงกี้คือแข้งดัตช์คนที่ 20 และเป็นผลผลิตที่ส่งออกมาจาก อาแจ็กซ์ อัมส์เตอร์ดัม คนที่ 8 ในประวัติศาสตร์ทีม'เลือดหมู-น้ำเงิน'นับจากรุ่นบุกเบิกอย่าง โยฮัน ครัฟฟ์
อดีตนักเตะเทวดาของเมืองกังหันลมเป็นแข้งดัตช์คนแรกที่ย้ายมาค้าแข้งในถิ่น'คัมป์ นู'ปี 1973 เขาลงเล่นกับทีมอาซูลกราน่าจนถึงปี 1978 รวมกัน 180 เกม ยิง 60 ประตู พร้อมจารึกชื่อเป็นหนึ่งในผู้เล่นระดับตำนานของสโมสร โยฮัน ครัฟฟ์ ยังหวนคืนสู่สโมสรในฐานะเทรนเนอร์และประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่
โยฮัน นีสเก้นส์ ย้ายจาก อาแจ็กซ์ อัมส์เตอร์ดัม ไล่หลัง ครัฟฟ์ เพียงปีเดียว เขาเอาชนะใจสาวกบาร์เซโลนิสต้าด้วยการผสมผสานระหว่างเทคนิคยอดเยี่ยมกับพลังทางกายภาพและการอุทิศตนเพื่อทีม โดยค้าแข้งกับทีมอาซูลกราน่าจนถึงปี 1981 ยิง 43 ประตูจากการลงเล่น 183 เกม
ริชาร์ด วิตช์เก้ เป็นแข้ง อาแจ็กซ์ อัมส์เตอร์ดัม คนที่ 3 ของ บาร์เซโลน่า หลังย้ายมาค้าแข้งในถิ่น'คัมป์ นู'ในปี 1991 แม้จะเป็นนักเตะที่มีเทคนิคดีและเล่นได้ตามแท็คติกตามแบบฉบับของนักเตะที่เติบโตมาจากโรงเรียนลูกหนังอาแจ็กซ์ แต่เขาไม่เหมาะกับ'ดรีม ทีม'จนยิงได้เพียง 3 ประตูจากการลงเล่น 61 เกมก่อนย้ายทีมในปี 1993
จอร์ดี้ ครัฟฟ์ ทายาทของนักเตะเทวดาเดินตามรอยเท้าบิดาด้วยการย้ายมาค้าแข้งกับ บาร์เซโลน่า ในปี 1992 แต่เขาไม่โดดเด่นเหมือนคุณพ่อ โดยลงเล่นเพียง 60 เกม ยิง 13 ประตู ก่อนย้ายออกจากถิ่น'คัมป์ นู'ในปี 1996
แฟร้งค์ เดอ บัวร์ กับ โรนัลด์ เดอ บัวร์ ย้ายมาสวมเสื้อ'เลือดหมู-น้ำเงิน'พร้อมกันในปี 1998 แต่ แฟร้งค์ ประสบความสำเร็จกับทีมอาซูลกราน่ามากกว่า โรนัลด์ เขาลงเล่น 215 นัด ทำ 14 ประตูและอยู่กับทีมจนถึงปี 2003 ขณะที่ โรนัลด์ ลงเล่นเพียง 55 เกม ยิง 3 ประตู ก่อนย้ายออกจาก'คัมป์ นู'ในปี 2001
แข้งอาแจ็กซ์รุ่นล่าสุดที่ย้ายมาอยู่กับทีมอาซูลกราน่าคือ ยาสเปอร์ ซิลเลสเซ่น นายทวารทีมชาติฮอลแลนด์ ซึ่งถูกดึงมาแทน เคลาดิโอ บราโว ในปี 2016 แต่เขามีบทบาทเป็นเพียงแบ็คอัพของ มาร์ค อันเดร แทร์ ชเตเก้น ผู้รักษาประตูชาวเยอรมันเท่านั้น
แข้งชาวดัตช์ที่ไม่ได้ย้ายมาจาก อาแจ็กซ์ อัมส์เตอร์ดัม โดยตรง แต่ก็เป็นศิษย์เก่าของทีมดังเมืองกังหันลมทั้ง เอ็ดการ์ ดาวิดส์, แพทริค ไคลเวิร์ต, มาร์ค โอเวอร์มาร์ส, มิเชล ไรซีเกอร์ กับ วินสตัน โบการ์ด
ส่วนที่เหลือคือ โรนัลด์ คูมัน, รุด เฮสป์, เบาเดอไวน์ เซนเด้น, ฟิลิป โคคู, โจวานี่ ฟาน บร็องฮอร์สท์, มาร์ค ฟาน บอมเมล กับ อิบราฮิม อเฟลลาย
บาร์เซโลน่า ยอมทุ่มทุน 86 ล้านยูโร โดยจะจ่ายเงินเบื้องต้น 75 ล้านยูโรบวกกับอ็อปชั่นเพิ่มเติมอีก 11 ล้านยูโร ก่อนมิดฟิลด์วัย 21 ปีจะเซ็นสัญญาล่วงหน้าจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2024 โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้
ทีมอาซูลกราน่าจำเป็นต้องยื่นข้อเสนอสร้างความพึงพอใจให้ อาแจ็กซ์ อัมส์เตอร์ดัม หลัง ปารีส แซงต์ แชร์กแมง เสนอเงินมูลค่า 75 ล้านยูโรเพื่อแลกกับนักเตะก่อนหน้านี้ แต่ เฟรงกี้ มีความปรารถนาที่จะย้ายมาค้าแข้งในถิ่น'คัมป์ นู'ตามรอยรุ่นพี่ๆแข้งดัตช์หลายคนก่อนหน้านี้และอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจไม่น้อยคือ ยอห์น เดอ ย็อง บิดาของนักเตะนั่นเอง
ยอห์น เดอ ย็อง ติดต่อกับผู้บริหารระดับสูงของ บาร์เซโลน่า มาตั้งแต่ช่วงสิ้นสุดฤดูกาลที่ผ่านมา โดยเฉพาะกับ เป๊ป เซกูร่า และ โรเบิร์ต เฟร์นานเดซ ขณะเดียวกัน เฟรงกี้ เดอ ยอง ยังมีความใฝ่ฝันตั้งแต่วัยเด็กว่าต้องการย้ายมาเล่นที่'คัมป์ นู'และยังยกย่อง ลิโอเนล เมสซี่ เป็นหนึ่งในต้นแบบของอาชีพค้าแข้ง
เดอ ย็อง ผู้พ่อยังไม่ปิดบังความต้องการโดยกล่าวผ่านสื่อก่อนหน้านี้ว่าลูกชายของเขากำลังจะย้ายออกจาก อาแจ็กซ์ อัมส์เตอร์ดัม และบาร์เซโลน่าคือตัวเลือกดีที่สุด
เมื่อนักเตะมีใจและคุณพ่อยังสนับสนุน เหลือเพียงหน้าที่ของทีมอาซูลกราน่าที่จะต้องสร้างความพึงพอใจให้อาแจ็กซ์เท่านั้น หลัง เปแอสเช สร้างค่าตัวเริ่มต้นไว้ที่ข้อเสนอมูลค่า 75 ล้านยูโร
แม้ทีมยักษ์ใหญ่แคว้นกาตาลุนย่าจะตั้งงบไว้ก่อนหน้านี้เพียง 60 ล้านยูโร แต่ด้วยความจำเป็นเร่งด่วนทำให้ฝ่ายบริหารบาร์ซ่ายอมเพิ่มงบประมาณจนกระทั่งประสบความสำเร็จในการเซ็นสัญญากับหนุ่มเฟรงกี้
บาร์เซโลน่า วางแผนดึง เฟรงกี้ เดอ ย็อง เข้ามาเป็นตัวแทนของ เซร์คิโอ บุสเก็ตส์ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว
บุสเก็ตส์ เพิ่งเซ็นสัญญาฉบับใหม่ที่มีอายุการใช้งานจนถึงปี 2023 แต่มิดฟิลด์ลูกหม้อของทีมอาซูลกราน่ากำลังจะมีอายุ 31 ปีในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ ดังนั้น เฟรงกี้ จึงถูกวางตัวเป็นทายาทของ บุสเก็ตส์ นอกจากนี้แข้งดาวรุ่งชาวดัตช์ยังสามารถเล่นในบทบาทเดียวกับ ราฟาเอล มาร์เกซ นักเตะเม็กซิกันซึ่งเคยค้าแข้งกับบาร์ซ่าในช่วงปี 2003-2010 ที่เล่นได้ทั้งมิดฟิลด์ตัวรับและเซนเตอร์ฮาล์ฟ
เงินจำนวน 86 ล้านยูโรจึงคุ้มค่ากับการลงทุนเมื่อพิจารณาจากอายุการใช้งาน, ความสามารถและความหลากหลายในการเล่นของ เฟรงกี้ เดอ ยอง
อาลี ดูร์ซุน เอเยนต์ของหนุ่มเฟรงกี้เป็นหนึ่งในแขกรับเชิญของเกมระหว่าง บาร์เซโลน่า กับ เลกาเนส ที่'คัมป์ นู'เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ก่อนทั้ง ดูร์ซุน จะเข้าพบปะหารือกับ โจเซป มาเรีย บาร์โตวเมว ประธานบาร์ซ่าหลังเกมดังกล่าวและเจรจากันจนบรรลุข้อตกลงในวันนั้น
ทั้งสองฝ่ายเคยคุยกันก่อนหน้านั้นแต่การเจรจายุติลงเนื่องจาก บาร์เซโลน่า ต้องกลับไปวิเคราะห์และทบทวนรายละเอียดโดยมีห้วงเวลาบีบคั้นเนื่องจากเอเยนต์และนักเตะเจรจากับ ปารีส แซงต์ แชร์กแมง และ แมนฯซิตี้ ด้วยเช่นกัน อีกทั้ง เปแอสเช ยังรุกหนักด้วยการพูดคุยโดยตรงกับ อาแจ็กซ์ อัมส์เตอร์ดัม ในเวลาเดียวกันด้วย
เป๊ป เซกูร่า ซึ่งเป็นหัวหมู่ทะลวงฟันในการสร้างดีลนี้โทรฯหาเฟรงกี้เพื่อย้ำให้นักเตะทราบว่าท่านประธานบาร์โตเมวพร้อมสู้ไม่ถอยก่อนจะมีการเจรจากันระหว่างฝ่ายบริหารระดับสูงของบาร์ซ่ากับเอเยนต์และนักเตะราว 3 ชั่วโมงในโรงแรมแห่งหนึ่งในฮอลแลนด์เมื่อวันพฤหัสฯที่ผ่านมา แม้ว่าตัวแทนของ เปแอสเช จะเดินทางมาเยี่ยมเยียนเขาในวันรุ่งขึ้น แต่มันไร้ผลหลังนักเตะตั้งธงไว้แต่แรกว่าต้องการย้ายมาสวมเสื้อ'เลือดหมู-น้ำเงิน'
เฟรงกี้ เดอ ย็อง เป็นผลผลิตจากทีมเยาวชน วิลเล่ม ทเว เขาเพิ่งลงประเดิมสนามในศึก เอเรดิวิซี่ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2015 ก่อน อาแจ็กซ์ อัมส์เตอร์ดัม มองเห็นแววฉกตัวร่วมทีมในช่วงซัมเมอร์ปีเดียวกันด้วยค่าตัวเพียง 250,000 ยูโร ก่อนทีมดังเมืองกังหันลมจะขายนักเตะให้ทีมอาซูลกราน่าพร้อมฟันกำไรเป็นเงินมหาศาล
บาร์เซโลน่า อาจจะถูกตั้งเครื่องหมายคำถามถึงการลงทุนด้วยเม็ดเงินก้อนโตครั้งนี้หลังยอมจ่ายเงินเฉียด 90 ล้านยูโรเพื่อแลกกับเด็กที่เพิ่งผ่านการลงเล่น เอเรดิวิซี่ ไม่ถึง 50 นัด แต่ทุกการลงทุนย่อมมีความเสี่ยงไม่ว่าคุณจะเซ็นสัญญากับแข้งดาวดังหรือนักเตะที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นดาวรุ่งอนาคตไกล
ไม่มีใครสามารถให้คำตอบได้ว่า เฟรงกี้ เดอ ย็อง จะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวในการค้าแข้งกับ บาร์เซโลน่า แต่มันเป็นสิ่งที่ทั้งสโมสรและนักเตะต้องพิสูจน์ให้สาวกบาร์เซโลนิสต้าเห็นว่าดีลนี้มันคุ้มค่ามากน้อยเพียงใด
คอลัมน์กีฬาบทความกีฬาต่างๆโดยนักวิเคราะห์ GURUชั้นนำของไทย มีให้ท่านได้เสพทุกวันที่เว็บไซต์ TH SPORT