ยุคเสื่อมของ'ลา มาเซีย'
เมื่อเอ่ยถึงโรงเรียนลูกหนังหรือศูนย์ผลิตนักฟุตบอลตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันย่อมมีชื่อ'ลา มาเซีย'เป็นหนึ่งในนั้นและศูนย์ปั้นเด็กของสโมสรบาร์เซโลน่ากำลังมีอายุแตะหลัก 40 ปี หลังก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1979
ตลอด 4 ทศวรรษที่ผ่านมา 'ลา มาเซีย'ป้อนนักเตะสู่เวทีลูกหนังที่สร้างชื่อเสียงจากยุคสู่ยุคตั้งแต่รุ่นแรกๆอย่าง เตนเต้ ซานเชซ กับ ฟรานซิสโก้ การ์ราสโก้, ราม่อน กัลเดเร่, กีเยร์โม่ อามอร์, เป๊ป กวาร์ดิโอล่า, อัลเบิร์ต เฟร์เรร์ หรือ เซร์จี้ บาร์ฆวน
ตามมาด้วยรุ่นหลังอย่าง การ์เลส ปูโยล, ชาบี เอร์นานเดซ, บิคตอร์ บาลเดส, อันเดรส อีเนียสต้า, ลิโอเนล เมสซี่, เคราร์ด ปีเก้, เปโดร โรดรีเกซ, เซร์คิโอ บุสเก็ตส์, เซร์จี้ โรเบร์โต้, จอร์ดี้ อัลบา ก่อนถึงเวอร์ชั่นล่าสุดอย่าง การ์เลส อาเลนญ่า, รีกี ปูอิก, อาเบล รูอีซ, โอรีโอล บุสเก็ตส์ หรือ ฆวน มีรานด้า
ทว่าผ่านมาจนถึงตอนนี้บางคนมองว่า'ลา มาเซีย'กำลังเข้าสู่ยุคเสื่อม บางคนกล่าวถึงศูนย์ปั้นเด็กของทีมอาซูลกราน่าว่ากำลังมีปัญหาหรือมีอาการ'ป่วย'จนไม่สามารถผลิตแข้งชั้นดีป้อนสู่เวทีลูกหนังเหมือนตลอดช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา
หลักฐานที่นำมาอ้างอิงความเสื่อมถอยของ'ลา มาเซีย'คือขุมกำลังทีมชาติสเปนชุดแชมป์ยุโรปรุ่นอายุต่ำกว่า 21 ปีครั้งล่าสุดจากการเฉือนเด็กเยอรมันในนัดชิงชนะเลิศด้วยสกอร์ 2-1 ไม่มีผู้เล่นจากทีมอาซูลกราน่าแม้แต่คนเดียวเป็นครั้งแรก หลัง หลุยส์ เด ลา ฟวนเต้ ตัดสินใจหั่นชื่อ การ์เลส อาเลนญ่า ออกจากโผทำศึกรอบสุดท้าย
การ์เลส อาเลนญ่า ผลผลิตจาก'ลา มาเซีย'เป็นเพียงหนึ่งเดียวจาก บาร์เซโลน่า ที่เคยลงเล่นกับทีมกระทิงน้อยตลอดช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา แต่ก็มีส่วนร่วมเพียง 23 นาทีเท่านั้น
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2012 ช่วงบ่ายวันอาทิตย์ที่อากาศเย็นสบาย แต่ บาร์เซโลน่า โชว์ความร้อนแรงในวันดังกล่าวด้วยการบุกขย่ม เลบันเต้ ขาดลอย 4-0 คว้าชัยชนะ 12 จาก 13 เกม ซึ่งเป็นการออกสตาร์ทดีที่สุดของสโมสร
การบาดเจ็บกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลังในช่วงนาที 14 ของ ดาเนียล อัลเวส ซึ่ง ตีโต้ บีลาโนบา เทรนเนอร์บาร์ซ่าในขณะนั้นส่ง มาร์ติน มอนโตย่า ลงเล่นแทนฟูลแบ็กชาวบราซิเลียน นับจากตอนนั้นกลายเป็นช่วงเวลาที่สร้างความภาคภูมิใจให้สาวกบาร์เซโลนีสต้าเพราะ 11 ผู้เล่นบาร์ซ่าที่อยู่ในสนามต่างเป็นผลผลิตที่มาจากศูนย์ฝึก'ลา มาเซีย'ทั้งหมด จนกระทั่ง อาเดรียโน่ กอร์เรอา ถูกส่งลงเล่นแทน จอร์ดี้ อัลบา ช่วงนาที 75
บิคตอร์ บาลเดส, มาร์ติน มอนโตย่า, การ์เลส ปูโยล, เคราร์ด ปีเก้, จอร์ดี้ อัลบา, ชาบี เอร์นานเดซ, เซร์คิโอ บุสเก็ตส์, อันเดรส อีเนียสต้า, เชส ฟาเบรกาส, ลิโอเนล เมสซี่ และ เปโดร โรดรีเกซ ขุมกำลังชุดดังกล่าวถูกสื่อกีฬาเมืองกระทิงทุกฉบับนำไปพาดหัวข่าวพร้อมเสียงยกย่องศูนย์ปั้นเด็กที่ชื่อ'ลา มาเซีย'แม้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวก็ตาม
จากวันนั้นผ่านมาอีก 6 ปี เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2018 เกิดเหตุการณ์ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง เมื่อ บาร์เซโลน่า ลงเล่นเกมลีกากับ เซลต้า บีโก้ โดยไม่มีนักเตะจาก'ลา มาเซีย'แม้แต่คนเดียว หลัง เอร์เนสโต้ บัลเบร์เด้ พักทั้ง เมสซี่, บุสเก็ตส์, อัลบา กับ ปีเก้
11 แข้งบาร์ซ่าในวันดังกล่าวประกอบด้วย มาร์ค อันเดร แทร์ ชเตเก้น, เนลซอน เซเมโด้, เยร์รี มีน่า, โธมัส แฟร์มาเล่น, ลูก้าส์ ดีญ, อันเดร โกเมส, เปาลินโญ่, ฟิลิปเป้ กูตินโญ่, เดนิส ซูอาเรซ, อุสมาน เดเบเล่ กับ ปาโก้ อัลกาเซร์ ซึ่งไม่มีผลผลิตจาก'ลา มาเซีย'อยู่ในทีมแม้แต่คนเดียว
จนกระทั่ง'ลา มาเซีย'ถูกตอกย้ำว่ากำลังอยู่ในช่วง'เสื่อม'อีกครั้งหลังนักเตะจากบาร์เซโลน่าไม่มีส่วนร่วมกับการคว้าแชมป์ยุโรปของทีมสเปนชุดยู-21 ปีเลย
หรือมันจะเป็นจริงอย่างที่ ชาบี ตอร์เรส ซึ่งเติบโตมาจากศูนย์ปั้นเด็กของ บาร์เซโลน่า ระบุว่า'ลา มาเซีย'กำลัง'ป่วย'ทั้งที่ โจเซป มาเรีย บาร์โตเมว ประธานสโมสรคนปัจจุบันของทีมอาซูลกราน่ามีนโยบาย'มาเซีย 360'เพื่อฟื้นฟูศูนย์ฝึกแห่งนี้ก็ตาม
ชาบี ตอร์เรส ชี้แจงว่าทำไมกลยุทธ์ของ บาร์โตเมว จึงไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งมีส่วนทำให้สโมสรต้องทุ่มเงินจำนวนมากเพื่อดึงแข้งชั้นดีเข้ามาเสริมทัพเกือบทุกตำแหน่ง ซึ่งมีหลายเหตุผลที่ถูกกล่าวถึงและหนึ่งในนั้นคือเทรนเนอร์ที่มีส่วนรับผิดชอบในศูนย์ฝึกแห่งนี้ยังไม่เข้าใจถึงปรัชญาของบาร์เซโลน่า ยังไม่นับรวมการจัดการด้านโภชนาการที่ยังต่ำกว่าระดับมาตรฐาน เป็นต้น
'ลา มาเซีย'ที่กำลัง'ป่วย'ตามมุมมองของ ชาบี ตอร์เรส ชี้แจงว่ามาจาก 7 สาเหตุดังนี้
1.นักฟุตบอล 48 คนที่อยู่ใน'ลา มาเซีย'ตอนนี้ ทั้งหมดถูกปล่อยให้สโมสรอื่นยืมตัวและลงเล่นในทีมสำรองเท่านั้น โดยไม่มีผู้เล่นคนใดก้าวขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่เหมือนในอนาคต แม้จะมีนักเตะแววดีอย่าง การ์เลส อาเลนญ่า หรือ รีกี ปูอิก ก้าวขึ้นมาก็ตาม แต่ก็ขึ้นมาเพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น
2.ห้องพักที่เคยมีไว้สำหรับรองรับนักเตะเยาวชนถูกแปรสภาพเป็นสำนักงานและไม่มีห้องออกกำลังกายเหมือนในอดีตและสระว่ายน้ำยังอยู่นอกพื้นที่ด้วย
3.ห้องภาพและเสียงที่ผู้เล่นเคยศึกษาการแข่งขันฟุตบอลและใช้เวลาร่วมกันในห้องดังกล่าวถูกดัดแปลงเป็นห้องพักของสตาฟฟ์
4.'ลา มาเซีย'จัดการด้านโภชนาการต่ำกว่าระดับมาตรฐาน
5.เทรนเนอร์ที่ถูกจ้างเข้ามาทำงานใน'ลา มาเซีย'ขาดความเข้าใจปรัชญาสโมสรที่เราเรียกขานกันว่า'DNA'ของบาร์ซ่า
6.เทรนเนอร์ไม่คิดว่าการพร่ำสอนนักเตะเป็นสิ่งจำเป็น โดยมีการบอกเล่าว่าคุณครูหลายคนรอเพียงเวลาเลิกชั้นเรียนให้เร็วที่สุดเท่านั้น
7.แต่ละปีจะมีนักเตะออกจาก'ลา มาเซีย'ราว 40-50 คนด้วยเหตุผลนานัปการ ไม่ว่าจะเป็นการเจ็บป่วยของคนในครอบครัว, การแยกทางกันของพ่อแม่, ปัญหาทางเศรษฐกิจ หรืออื่นๆ
นั่นคือปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันกับศูนย์ฝึก'ลา มาเซีย'จากการบอกเล่าของ ชาบี ตอร์เรส จนนำมาซึ่งยุค'เสื่อม'ของศูนย์ปั้นเด็กที่มีชื่อเสียงแห่งนี้
ฝ่ายบริหารของบาร์เซโลน่ามองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับ'ลา มาเซีย'ไม่ต่างจากอดีตนักเตะอย่าง ชาบี ตอร์เรส จากนโยบาย'ลา มาเซีย 360 (องศา)'เพียงแต่มันยังอยู่ในข่ายล้มเหลว ณ ตอนนี้
ส่วนหนึ่งมาจาก เป๊ป เซกูร่า ในฐานะผู้อำนวยการสโมสรไม่ค่อยแฮปปี้กับการแต่งตั้ง อัลเบิร์ต โซเลร์ เข้ามาดูแลรับผิดชอบโครงการดังกล่าวและพวกเขามีความคิดเห็นไม่ลงรอยกัน นอกจากนี้ยังมีการนำการบริการด้านจิตวิทยาสำหรับนักเตะผ่าน'Eduvic'ซึ่งเป็นความร่วมมือด้านความคิดริเริ่มทางสังคมที่มีประสบการณ์ด้านนี้มากว่า 20 ปี แต่แนวทางดังกล่าวยังไม่ได้รับการยอมรับจากนักเตะและพยายามที่จะออกจากคอร์สนี้อย่างรวดเร็วเท่าที่จะสามารถทำได้
นับจนถึงตอนนี้ เซร์จี้ โรเบร์โต้ เป็นนักเตะจาก'ลา มาเซีย'คนล่าสุดที่สามารถก้าวขึ้นมาลงหลักปักฐานกับทีมชุดใหญ่ของบาร์เซโลน่าแบบเต็มตัวตั้งแต่ปี 2013 แต่มันผ่านมานานกว่า 6 ปีแล้ว
แน่นอนว่าผลกระทบส่วนหนึ่งมาจากคำสั่งแบนของฟีฟ่าหลัง บาร์เซโลน่า ทำผิดกฎกรณีเซ็นสัญญากับนักเตะอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 10 คน ซึ่งส่งผลต่อชื่อเสียงของศูนย์ฝึก'ลา มาเซีย'แถมยังเสียนักเตะมีแววหลายคนที่สโมสรดึงมาร่วมทีมและปัญหายังสะสมมากขึ้นตามลำดับ
นั่นทำให้'ลา มาเซีย'จากที่เคยเป็นศูนย์ปั้นเด็กชั้นนำกลายเป็นตามหลังศูนย์ฝึกของหลายสโมสรทั้ง แมนฯซิตี้, เชลซี, บาเยิร์น มิวนิค และ ยูเวนตุส รวมถึง อาแจ็กซ์ อัมส์เตอร์ดัม, สปอร์ติ้ง ลิสบอน และ อันเดอร์เลชท์ ด้วย
บาร์เซโลน่า ยังต้องการ'ลา มาเซีย'และ'ลา มาเซีย'ก็ยังต้องการ บาร์เซโลน่า ด้วยเช่นกัน แต่มันขึ้นอยู่กับช่วงเวลาในการฟื้นฟูศูนย์ฝึกแห่งนี้ว่าจะกลับมาเป็นศูนย์ปั้นเด็กระดับแนวหน้าของวงการลูกหนังได้เร็วแค่ไหนเท่านั้น
คอลัมน์กีฬาบทความกีฬาต่างๆโดยนักวิเคราะห์ GURUชั้นนำของไทย มีให้ท่านได้เสพทุกวันที่เว็บไซต์ TH SPORT