สร้างสรรค์หรือทำลาย
ลิโอเนล เมสซี่ จะเดินทางกลับมารายงานตัวเพื่อฝึกซ้อมช่วงปรีซีซั่นกับ บาร์เซโลน่า ในวันจันทร์นี้ แม้ว่าซุปตาร์ชาวอาร์เจนไตน์จะแสดงความปรารถนาว่าต้องการย้ายออกจาก 'คัมป์ นู' ในช่วงซัมเมอร์นี้ก็ตาม
แนวรุกวัย 33 ปีส่งคำร้องถึงสโมสรแสดงเจตนารมณ์ว่าต้องการยกเลิกสัญญาที่เหลืออยู่อีกหนึ่งปีเพื่อย้ายทีมฐานะฟรีเอเจนต์ หลัง โรนัลด์ คูมัน เทรนเนอร์คนใหม่ของบาร์ซ่าบอกกล่าวกับเขาว่า 'สิทธิพิเศษในทีมสิ้นสุดลงแล้ว' แต่มีรายงานว่า เมสซี่ วางแผนจะเข้าร่วมฝึกซ้อมช่วงปรีซีซั่นในวันจันทร์ที่ 31 สิงหาคมนี้ด้วยความคาดหวังว่าจะสามารถหลีกเลี่ยงข้อพิพาททางกฎหมายกับสโมสร
ปัญหาความวุ่นวายของสโมสรปะทุขึ้นหลังการปราชัยแบบหมดสภาพต่อ บาเยิร์น มิวนิค ตกรอบ 8 ทีมของศึกยูฟ่าแชมเปี้ยนส์ลีกเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม นำมาซึ่งประโยคที่ว่า 'การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่' ที่กำลังจะเกิดขึ้นในถิ่น 'คัมป์ นู' ช่วงซัมเมอร์นี้
การเปลี่ยนแปลงแรกที่เกิดขึ้นคือการสั่งปลด เอ็นรีเก้ เซเตียน ออกจากตำแหน่งก่อนตั้ง โรนัลด์ คูมัน เป็นเทรนเนอร์คนใหม่ด้วยสัญญา 2 ปี พร้อมแผนงานสร้างทีมใหม่แบบล้างไพ่ ทั้งการลดอายุเฉลี่ยและค่าจ้างของนักเตะ
ในส่วนของนักเตะ ประธานบาร์โตเมวเกริ่นนำก่อนหน้านี้ว่าผู้เล่นที่มีสถานะมั่นคงกับทีมอาซูลกราน่ามีเพียงไม่กี่คน อาทิ มาร์ค อันเดร แทร์ ชเตเก้น, เกลม็องต์ ล็องเล่ต์, เฟรงกี้ เดอ ย็อง, อองตวน กรีซมันน์, เนลซอน เซเมโด้, อุสมาน เดมเบเล่ หรือ อันซู ฟาตี
ประธานบาร์ซ่ายังย้ำหนักแน่นว่า เมสซี่ เป็นนักเตะที่แตะต้องไม่ได้ ไม่ได้มีไว้ขาย และสโมสรยังปรารถนาที่จะให้ซุปตาร์ชาวอาร์เจนไตน์ทำข้อตกลงใหม่เพื่อเล่นกับทีมอาซูลกราน่าไปจนกระทั่งสิ้นสุดอาชีพค้าแข้ง
ส่วนกลุ่มที่เหลือทั้ง เซร์คิโอ บุสเก็ตส์, หลุยส์ ซัวเรซ, จอร์ดี้ อัลบา, เคราร์ด ปีเก้, อาร์ตูโร่ วีดาล, อีวาน ราคิติช, ราฟินญ่า, มาร์ติน เบรธเวต หรือ เอคตอร์ จูเนียร์ ฟีร์โป พร้อมถูกโละทิ้งทั้งหมด ก่อนจะมีข่าวตามมาว่า คูมัน ยังต้องการเก็บ ปีเก้ ไว้ใช้งานต่อไป
เฉพาะ หลุยส์ ซัวเรซ, อาร์ตูโร่ วีดาล, อีวาน ราคิติช กับ ราฟินญ่า เท่านั้นที่มีโอกาสย้ายสังกัดง่ายกว่าคนอื่นเนื่องจากพวกเขาเหลือสัญญาอีกเพียงปีเดียว ส่วนผู้เล่นรายอื่นต่างมีข้อผูกมัดระยะยาว โดยเฉพาะ บุสเก็ตส์ กับ อัลบา ที่ยังมีสัญญาจนถึงปี 2023 กับ 2024 ตามลำดับ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่สโมสรจะเขี่ยพวกเขาทิ้ง
สาวกบาร์เซโลนีสต้าจำนวนไม่น้อยตั้งข้อสงสัยว่า คูมัน ที่เพิ่งเข้ามาใหม่ไปกินดีหมี-หัวใจเสือมาจากไหนจึงมีแนวคิดกล้าปฏิวัติบาร์ซ่าแบบล้างไพ่ใหม่เช่นนี้ แม้ว่าอดีตกองหลังชาวดัตช์จะเคยค้าแข้งกับทีมยักษ์ใหญ่แคว้นกาตาลุนย่าในช่วงปี 1989-1995 และยังเคยทำงานฐานะผู้ช่วยเทรนเนอร์ของ หลุยส์ ฟาน กัล ระหว่างปี 1998-2000 ก็ตาม แต่เขาก็ห่างเหินสโมสรไปนานร่วม 2 ทศวรรษ
คูมัน คงไม่กล้าแตะต้องซุปตาร์ประจำทีมอย่าง เมสซี่ ด้วยคำพูดว่า 'สิทธิพิเศษในทีมของคุณสิ้นสุดลงแล้ว' ถ้าไม่ได้รับไฟเขียวจาก บาร์โตเมว จนทำให้กองหน้าวัย 33 ปีตัดสินใจอำลาสโมสร
นับตั้งแต่ บาร์โตเมว ก้าวขึ้นมานั่งเก้าอี้ประธานสโมสรบาร์เซโลน่าช่วงปี 2014 เขานำทีมอาซูลกราน่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง จากการคว้าแชมป์ลีกา 4 สมัย, โกปา เดล เรย์ 4 ครั้ง, ยูฟ่าแชมเปี้ยนส์ลีก, ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ คัพ และ ฟีฟ่า คลับ เวิลด์ คัพ รายการละสมัย รวมถึง สแปนิช ซูเปอร์ คัพ อีก 2 ครั้ง
อย่างไรก็ตามแนวทางการบริหารทีมของประธานวัย 57 ปียังผิดพลาดหลายอย่างโดยเฉพาะการลงทุนในตลาดนักเตะช่วงหลายปีหลังที่ล้มเหลวมากกว่าประสบความสำเร็จทั้งที่ทุ่มเงินจำนวนมหาศาล
โจเซป มาเรีย บาร์โตเมว เคยบอกกล่าวผ่านสื่อหลายครั้งว่ามีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำข้อตกลงใหม่กับ เมสซี่ เพื่อรั้งกองหน้าชาวอาร์เจนไตน์อยู่กับสโมสรไปจนกระทั่งสิ้นสุดอาชีพค้าแข้ง แต่มันก็ทำให้คิดได้ว่า บาร์โตเมว พูดอย่างแต่ทำอีกอย่างเพราะไม่อย่างนั้น คูมัน คงจะไม่กล้าเอ่ยปากกับกองหน้าวัย 33 ปีว่าสิทธิพิเศษของคุณสิ้นสุดลงแล้ว
เจตนารมณ์ของ บาร์โตเมว คือการลดภาระค่าใช้จ่ายของสโมสรและหนึ่งในนั้นคือเรื่องค่าเหนื่อยของนักเตะ ที่จากข้อมูลระบุว่าทีมอาซูลกราน่าต้องจ่ายค่าจ้างผู้เล่นสูงถึง 85 เปอร์เซ็นต์จากรายได้ของสโมสรในแต่ละปีและก้อนใหญ่สุดเกือบครึ่งหนึ่งเป็นค่าจ้างของซุปตาร์ชาวอาร์เจนไตน์
เมสซี่ รับค่าจ้างจาก บาร์เซโลน่า แน่นอนปีละ 71 ล้านยูโร และยังมีโบนัสเพิ่มเติมจากข้อตกลงที่ระบุไว้ในข้อตกลงดังกล่าว ถ้าหากนักเตะลงสนาม 60 เปอร์เซ็นต์ของเกมทั้งหมดจนกระทั่งสิ้นสุดสัญญาในปี 2021 เขาจะรับเพิ่มเฉลี่ยราว 106 ล้านยูโร และถ้าเขานำทีมคว้า 'ทริเปิ้ลแชมป์' พร้อมซิวรางวัล 'บัลลง ดอร์' จะรับทรัพย์เพิ่มเป็น 122 ล้านยูโร
ดังนั้นการบีบให้ เมสซี่ ย้ายทีมจะช่วยให้สโมสรหายใจหายคอคล่องขึ้นและเริ่มต้นสร้างทีมใหม่อย่างที่ต้องการ
นั่นจึงเป็นที่มาของสาวกบาร์เซโลน่าทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่หลายร้อยคนพร้อมใจกันมาประท้วงหน้า 'คัมป์ นู' เพื่อขับไล่ บาร์โตเมว ออกจากตำแหน่งประธานสโมสรหลังมีส่วนสำคัญที่ทำให้ เมสซี่ ซึ่งเป็นพระเจ้าของพวกเขาตัดสินใจย้ายทีมทั้งที่อยู่กับสโมสรมานานถึง 19 ปี
อย่างไรก็ตาม บาร์เซโลน่า ยังแสดงจุดยืนชัดเจนว่าพวกเขาจะไม่รับฟังข้อเสนอๆใดเกี่ยวกับ เมสซี่ ไม่ว่าจะมาจาก แมนฯซิตี้, อินเตอร์ มิลาน, ปารีส แซงต์ แชร์กแมง หรือ แมนฯยูไนเต็ด ก็ตาม โดยอ้างถึงสัญญาฉบับปัจจุบันของกองหน้าชาวอาร์เจนไตน์ที่ยังมีจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2021 ด้วยมูลค่าฉีกสัญญา 700 ล้านยูโร
หลังการยื่นเรื่องขอย้ายทีมของ เมสซี่ ที่ต้องการยกเลิกสัญญากับสโมสร นั่นทำให้ บาร์โตเมว ยังนัดประชุมด่วนบอร์ดบริหารทั้ง ซีอีโอ ออสการ์ เกรา, เลขาธิการฝ่ายเทคนิค ราม่อน ปลาเนส และผู้อำนวยการฝ่ายกีฬา ฆาเบียร์ บอร์ดาส เมื่อวันพุธที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เดียวนั่นคือการต่อสู้เพื่อโน้มน้าว เมสซี่ ล้มเลิกความตั้งใจที่จะย้ายสังกัดและอยู่กับสโมสรไปด้วยสัญญาระยะยาว
แนวคิดของ บาร์โตเมว คือการจับเข่านั่งคุยกับ เมสซี่ แบบตัวต่อตัวหลังกองหน้าชาวอาร์เจนไตน์จะเดินทางกลับสโมสรในวันจันทร์ที่ 31 สิงหาคมนี้ เพื่อพูดคุยกันและพยายามโน้มน้าวให้เขาเปลี่ยนใจไม่จากไปและยุติอาชีพค้าแข้งกับ บาร์เซโลน่า ตามที่ตั้งใจไว้แต่แรก
ทว่าประธานบาร์ซ่าควรจับเข่าคุยทำความเข้าใจกับ คูมัน ก่อนเป็นลำดับแรกว่าควรทำงานด้วยความประนีประนอมมากกว่าการหักด้ามพร้าด้วยเข่า เหมือนที่เทรนเนอร์ชาวดัตช์เคยสร้างความร้าวฉานตอนทำงานกับ บาเลนเซีย ในช่วงเดือนพฤศจิกายนปี 2007 จนถึงเดือนเมษายนปี 2008
คูมัน มีปัญหากับกลุ่มผู้นำนักเตะทีมค้างคาวยุคนั้นทั้ง ดาบิด อัลเบลด้า, ซานติอาโก้ กานญีซาเรส, รูเบน บาราฆา, มิเกล อังเคล อังกูโล่, อีบัน เอลเกร่า และ บีเซนเต้ โรดรีเกซ แม้เทรนเนอร์ชาวดัตช์จะนำ บาเลนเซีย คว้าแชมป์ โกปา เดล เรย์ ก็ตาม แต่เขาถูกปลดออกจากตำแหน่งเนื่องจากสโมสรต้องการยุติปัญหาที่อาจลุกลามบานปลายมากกว่าเดิม
นั่นคือประวัติการทำงานส่วนหนึ่งของ คูมัน ที่เริ่มถูกตั้งข้อสงสัยว่าเทรนเนอร์ชาวดัตช์จะเข้ามาสร้างสรรค์หรือทำลายสโมสรกันแน่เพราะแค่เริ่มต้นงานหลังเซ็นสัญญาเพียงไม่กี่วันก็สร้างประเด็นจนกลายเป็นข่าวดังทั่วโลกจนทำให้เกิดข้อสงสัยว่า คูมัน จะทำงานฐานะบอสบาร์ซ่าครบตามสัญญาที่เซ็นไว้ 2 ปีหรือไม่
คอลัมน์กีฬาบทความกีฬาต่างๆโดยนักวิเคราะห์ GURUชั้นนำของไทย มีให้ท่านได้เสพทุกวันที่เว็บไซต์ TH SPORT