:::     :::

การเชียร์ที่หนีเสือปะจระเข้

วันอาทิตย์ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 คอลัมน์ ในกะลาครอบ โดย พาสต้า
3,714
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ฟุตบอลบุนเดสลีกาฤดูกาลนี้ลุ้นแชมป์กันสนุกจากโอกาสที่ยังคงเปิดกว้างสำหรับหลายทีม

    แต่หากต้องเลือกกับม้าสองตัวที่อยู่หัวตารางขณะนี้ก็คงไม่ต่างอะไรจากนักชกระหว่างมุมแดงกับมุมน้ำเงิน

    ตรงมุมนึงเป็นที่ของแชมป์เก่าอย่าง บาเยิร์น มิวนิค

    และอีกมุมก็เป็นของ ไลป์ซิก ผู้ท้าชิง

    แต่สำหรับแฟนบอลเยอรมันส่วนใหญ่แล้ว พวกเขาคงเทใจให้ตัวเลือกลับอันดับ 3 อย่าง โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ มากกว่า

    ทีมของ ลูเซียง ฟาฟร์ เป็นอีกหนึ่งทีมที่ยังมีลุ้นเช่นเดียวกับ โบรุสเซีย มึนเช่นกลัดบัค และ เลเวอร์คูเซ่น

    กระนั้น เสือเหลืองซึ่งเป็นหนึ่งในทีมที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในยุโรปได้แสดงให้เห็นว่าพวกเขายังมีจุดด้อยตรงหลังบ้านมาตลอดตั้งแต่เปิดซีซั่น

    ส่วนความคิดเห็นทั่วไปในเยอรมันที่มีต่อ มึนเช่นกลัดบัค ก็คือเรื่องของประสบการณ์ หรือไม่เชื่อน้ำยาว่าพวกเขาจะรับมือกับความกดดันในการลุ้นแชมป์ไหว

    ด้าน เลเวอร์คูเซ่น พวกเขาไม่ต่างจาก สเปอร์ส แห่งวงการลูกหนังเมืองเบียร์ที่ดูดีแค่ไหนก็ไปไม่ถึงฝั่งฝันได้เสียที

    ถ้าพิจารณาตรงนี้ เท่ากับว่าเหลือม้าสองตัวที่น่าจะมีความเป็นไปได้มากที่สุดก็คือ บาเยิร์น หรือ ไลป์ซิก สำหรับแฟนบอลที่เป็นกลาง พวกเขาจะเลือกปันใจให้ใครกัน

    ???

    แน่นอน สำหรับเสือใต้ พวกเขาประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องกับแชมป์ลีกตลอด 7 ฤดูกาลหลังสุด

    ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ใครหลายคนจะเกิดอาการหมั่นไส้

    พวกเขาก็คล้ายกับ แมนฯ ยูไนเต็ค ยุคทองของ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ที่กลายเป็นทีมที่มีคนเกลียดมากที่สุด (เว้นแฟนผีแดง) ด้วยความสำเร็จระดับสูงที่ใครต่อใครก็พากันอิจฉา

    ความหมั่นไส้ ความเกลียดชังของผู้คนหมู่มากที่ไม่ได้เป็นแฟนบอลทีมเหล่านั้นคือเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกลีก ทุกประเทศทั่วโลก

    โอเค แฟนๆ หมู่มากอาจไม่ชอบ บาเยิร์น

    แต่คุณอาจไม่รู้ว่าที่เยอรมัน ผู้คนเหล่านั้นก็ยังให้ความเคารพต่อยอดทีมจากแคว้นบาวาเรียมากกว่า ไลป์ซิก!

    ทีมรองบ่อนอย่าง ไลป์ซิก ที่ปกติแล้วใครหลายคนต้องปันใจเชียร์กลับกลายเป็นที่เกลียดชังด้วยเหตุผลที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง

    ปัจจุบันตู้โทรฟี่ของพวกเขาถูกประดับด้วยดีกรีแชมป์จากลีกระดับล่าง (4 หรือต่ำกว่านั้น) และซักโซนี่ คัพ 2 สมัย หรือหากเทียบกับที่อังกฤษก็คือถ้วยอีเอฟแอล โทรฟี่

    เดิมที สโมสรนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ เอสเอสเฟา มาร์ครันสตัดท์ จนกระทั่ง เร้ด บูลล์ ได้เข้ามาฮุบพวกเขาในปี 2009 และดำเนินการเปลี่ยนแบรนด์ของทีมไปอย่างสิ้นเชิง

    บริษัทเครื่องดื่มชูกำลังได้เปลี่ยนชื่อสโมสรเป็น ราสเซ่นบอลสปอร์ต ไลป์ซิก (RassenBallsport Leipzig) แม้ว่าคุณจะไม่ค่อยได้เห็นหรือรู้จักเชื่อเต็มอย่างเป็นทางการของพวกเขาสักเท่าไหร่ เพราะการตลาดของทีมพยายามอย่างเต็มที่เพื่อจะโปรโมตชื่้อที่เขียนว่า แอร์เบ ไลป์ซิก (RB Leipzig)

    สโมสรในเยอรมันถูกห้ามว่าไม่ให้เปลี่ยนชื่อตามสปอนเซอร์ เหมือนกับที่เป็น เร้ด บูลล์ ซัลซ์บวร์ก ในออสเตรีย แต่หลายคนจะคิดว่า RB ของ ไลป์ซิก เป็นอื่นไปได้อย่างไร ถ้าไม่ใช่คำว่า เร้ด บูลล์ ซึ่งนั่นคือความตั้งใจของสโมสร

    พวกคนยุคเก่ามองว่าทีมนี้เป็นการโฆษฌาแฝงของเครื่องดื่มชูกำลัง ซึ่งเป็นหนึ่งในการทำลายความบริสุทธิ์ของวงการฟุตบอลเยอรมัน

    การลงทุนด้วยเม็ดเงินครั้งใหญ่ทำให้ ไลป์ซิก เติบโตอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่การอยู่ลีกระดับ 5 ของประเทศสู่เวทีแชมเปี้ยนส์ลีกรอบคัดเลือกภายในทศวรรษเดียว

    ถ้านึกภาพไม่ออกคุณก็ลองมโนว่าทีมอย่าง ฮาร์โรเกต ทาวน์ ที่อยู่เวทีเนชันแนลลีก (นอกลีก) ของอังกฤษได้ไปเล่นแชมเปี้ยนส์ลีกในซีซั่น 2029-30 ภายใต้ชื่อที่เปลี่ยนใหม่เป็น เร้ด บูลล์ ลีดส์

    การขึ้นเป็นทีมระดับท็อปแบบทางลัดของ ไลป์ซิก ทำให้พวกเขาได้รับการโจมตี ประท้วงมากมายจากสโมสรคู่แข่ง

    แฟนบอล อูนิโอน เบอร์ลิน นัดกันเงียบทั้งสนามตลอด 15 นาทีแรกในเกมพบ ไลป์ซิก เมื่อปี 2014

    เหล่าผู้สนับสนุนของ ดินาโม เดรสเดน ได้ขว้างหัวกระทิง (สื่อถึงยี่ห้อของเครื่องดื่มชูกำลัง) ที่ถูกตัดออกลงมายังสนามระหว่างเกมบอลถ้วย

    ฟอร์ทูน่า ดุสเซลดอร์ฟ ได้ตั้งกฎว่าสโมสรของเขาห้ามจัดเกมกระชับมิตรกับ ไลป์ซิก หรือการติดต่อทำธุรกิจกัน

    นอกจากนี้ ครั้งหนึ่ง ฟิลิปป์ เรชเค่ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของ ไอน์ทรัคท์ แฟร้งค์เฟิร์ต เคยกล่าวไว้ว่า "เราต้องการศัตรูที่เลวร้ายที่สุดของเรามากกว่า เราจะโหวตให้สโมสรเก่าแก่อย่าง บาเยิร์น เราจะเทคะแนนด้วยหัวใจ"

    เกือบทุกสโมสรได้แสดงป้ายแบนเนอร์ที่บ่งบอกถึงการต่อต้านความจอมปลอม, ไร้จิตวิญญาณ และธรรมชาติตัวตนของทีม

    นอกจากนี้ ไลป์ซิก ก็ยังปฏิบัติตามกฎ '50+1' ของวงการลูกหนังเมืองเบียร์อย่างหลวมๆ มันหมายถึงว่าหุ้นส่วน 50% ของสโมสรอย่างน้อยต้องมาจากแฟนบอล ซึ่งพวกเขาจะมีสิทธิโหวต และมีส่วนกับความเปลี่ยนแปลงทุกอย่างของทีม

    แต่ในขณะที่แฟนๆ ของ ดอร์ทมุนด์ มีส่วนร่วมกับสโมสรถึง 140,000 คน แต่สำหรับแฟน ไลป์ซิก นั้นมีเพียง 20 คนเท่านั้น

    นั่นเพราะ ไลป์ซิก ตั้งราคาสมาชิกอย่างกะโจรกรรโชกทรัพย์ (แพ็คเกจถูกที่สุดนั้นราคาเกิน 1,000 ปอนด์) ส่วนการเป็นสมาชิกของ ดอร์ทมุนด์ นั้นเริ่มต้นแค่ 50 ปอนด์เท่านั้น

    อีกทั้ง แฟนๆ 20 คนที่มีสิทธิ์คอนโทรล ไลป์ซิก ส่วนใหญ่ก็เป็นพนักงานของ เร้ด บูลล์ ทั้งนั้น

    ดังนั้นการต้องเลือกระหว่าง บาเยิร์น และ ไลป์ซิก ก็ไม่ต่างจากหนีเสือปะจระเข้

    ถ้าให้มองถึงสถานการณ์ในพรีเมียร์ลีกก็ไม่ต่างอะไรจากการเข้ามาครอง เชลซี ของ โรมัน อบราโมวิช

    'เสี่ยหมี' ไม่ได้เป็นที่ชื่นชอบของ สิงห์บลูส์ ในฐานะคนรัสเซียจากทีแรกเลย แต่เงินหลายพันล้านของเขาได้เสกให้ เชลซี ผงาดคว้าแชมป์ลีกครั้งแรกในรอบ 50 ปี

    ขณะเดียวกัน ทีมของ โชเซ่ มูรินโญ่ ก็ถูกกล่าวหาว่าใช้เงินซื้อความสำเร็จ และส่งผลต่อมนต์ขลังของวงการฟุตบอลเมืองผู้ดี

    กระนั้น สโมสรจากเซาธ์เวสต์ลอนดอนก็ได้แชมป์พรีเมียร์ลีกครั้งแรกในยุคของ อบราโมวิช (2004-05) พวกเขาหยุดการแย่งแชมป์ระหว่าง แมนฯ ยูไนเต็ด และ อาร์เซน่อล ที่เป็นมานานนับ 10 ปี

    แม้ตอนนั้นหลายคนจะรู้สึกอึดอัดกับความสำเร็จของ เชลซี แต่ไม่ต้องสงสัยเลยว่าพรีเมียร์ลีกได้รับประโยชน์อย่างมากจากการแข่งขันที่เปิดกว้างขึ้น ไม่ใช่แค่ผีแดง หรือปืนใหญ่เท่านั้น

    แฟนๆ ที่เยอรมันเองก็หมดหวังในการต่อต้าน บาเยิร์น สำหรับแชมป์บุนเดสลีกา แต่ถ้าไม่ใช่แบบนั้น มันก็หมายถึงการคว้าแชมป์ของ ไลป์ซิก ที่พวกเขาเกลียดเป็นอย่างมาก

    ขณะที่แฟนบอลบ้านเราร้อยทั้งร้อยถ้าไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้เสือใต้ ยังไงก็ถือหางรองบ่อนอย่าง ไลป์ซิก

    แต่กับวัฒนธรรม รวมถึงจารีตประเพณีที่เติบโตมาของคนเยอรมัน พวกเขา (ไม่ใช่แฟนบาเยิร์น) ยอมฮาราคีรีหัวใจตัวเองยกแชมป์ลีกให้พี่เสือ ดีกว่าทีมที่เน้นทุกอย่างไปกับเม็ดเงินอย่าง ไลป์ซิก

    ฉะนั้น ดอร์ทมุนด์ เป็นหนทางเดียวที่จะตัดปัญหาเรื่องนี้ให้หมดไปได้

    พาสต้า


คอลัมน์กีฬาบทความกีฬาต่างๆโดยนักวิเคราะห์ GURUชั้นนำของไทย มีให้ท่านได้เสพทุกวันที่เว็บไซต์ TH SPORT

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด