พันล้านปอนด์ที่สูญเปล่า?
การที่ทีมซื้อ ดอนนี่ ฟาน เดอ เบ็ค, อาหมัด ดิยัลโล่, อเล็กซ์ เตลลิส และ ฟากุนโด้ เปยิสตรี มาในซัมเมอร์นี้มีมูลค่ารวมกัน 75 ล้านปอนด์
ในช่วงเวลานั้น มีการเซ็นสัญญานักเตะใหม่มานับไม่ถ้วนจากผู้จัดการทีม 4 คน และก็มีถ้วยรางวัลเพียงแค่ 3 ใบเท่านั้น
พวกเขาคว้าแชมป์เอฟเอ คัพ, ลีก คัพ และยูโรปา ลีก อย่างละครั้งจาก 7 ซีซั่นที่ผ่านมา ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นถึงการเดินถอยหลังอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยก็นับตั้งแต่หมดยุคของ เฟอร์กี้
แม้พวกเขาจะไม่ใช่เพียงทีมเดียวที่ใช้เงินทะลุ 1 พันล้านปอนด์ โดย แมนฯ ซิตี้ จ่ายไป 1.2 พันล้านปอนด์ในช่วงเวลาเดียวกัน แต่ เรือใบ ก็ได้แชมป์พรีเมียร์ลีก 3 สมัย, เอฟเอ คัพ 2 สมัย และลีก คัพ อีก 5 สมัย
แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกครั้งที่การเซ็นสัญญาจาก เฟอร์กี้ จะประสบความสำเร็จอย่างมหาศาล คุณยังจำ เบเบ้ ได้ไหมล่ะ? แต่แผนงานในตลาดซื้อขายนักเตะของ ยูไนเต็ด ตั้งแต่ปี 2013 ซึ่งดูแลโดย เอ็ด วู้ดเวิร์ด นั้นถูกวิจารณ์อย่างหนัก
เราจะมาเทียบกันว่าจากกุนซือทั้ง 4 คนนี้ ใครประสบความสำเร็จในการเซ็นสัญญามากว่ากัน
เดวิด มอยส์ (2013-14)
มอยส์ อาจจะเป็น 'Chosen One' ของ เฟอร์กูสัน ในเวลานั้น แต่ช่วงเวลาเพียง 10 เดือนของเขาก็ได้รับการพิสูจณ์แล้วว่าเป็นหายนะของทีม
มันราวกับว่ากลิ่นอายของ ยูไนเต็ด เดินออกไปพร้อมกับ เฟอร์กี้ และแม้จะได้มรดกเป็นทีมชุดแชมป์ลีก แต่ มอยส์ ก็ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการหาผลการแข่งขันอยู่เสมอ
นอกจากนี้ วู้ดเวิร์ด เองก็ไม่ได้ช่วยเหลือที่จะดำเนินนโยบาย 'กาลาคติโก' ในซัมเมอร์ปี 2013 ราวกับว่าต้องการที่จะสร้างชื่อด้วยการต่อยอดความสำเร็จจาก เดวิด กิลล์
ผีแดง พยายามที่จะเซ็นสัญญากับ แกเร็ธ เบล พวกเขาอยากจะได้ เชส ฟาเบรกาส พวกเขาต้องการ โทนี่ โครส, ซามี่ เคดิร่า, เมซุต โอซิล และ ลูก้า โมดริช
แต่มันจบลงที่ มารูยาน เฟลไลนี่ ซึ่งก็เป็นเด็กเก่าของ มอยส์ จาก เอฟเวอร์ตัน ซึ่งมาถึงในวันเส้นตายด้วยค่าตัว 29 ล้านปอนด์
ต่อมาก็มีข่าวเปิดเผยว่าอันที่จริง เฟลไลนี่ มีค่าฉีกสัญญาเพียง 23.5 ล้านปอนด์ ซึ่งเงื่อนไขหมดไปในช่วงต้นเดือนก่อนหน้า นั่นบ่งบอกว่าเขาไม่ได้อยู่ในลิสต์เสริมทัพเบอร์ต้นๆ ตั้งแต่แรก
หลังจากออกสตาร์ทด้วยผลงานกระท่อนกระแท่น ยูไนเต็ด ก็เซ็นสัญญากับ ฆวน มาต้า มาจาก เชลซี ในเดือนมกราคม ด้วยค่าตัว 40 ล้านปอนด์
อย่างที่เห็น ทั้ง เฟลไลนี่ และ มาต้า ยังคงเป็นนักเตะที่ดีของ ยูไนเต็ด แม้จะหมดยุค มอยส์ โดยรายแรกย้ายทีมไปในปี 2019 ขณะที่รายหลังยังคงอยู่มาถึงปัจจุบัน
มอยส์ ถูกถีบร่วงเก้าอี้ในเดือนเมษายน ปี 2014 โดย ผีแดง รั้งอันดับ 7 ของตาราง ซึ่งส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าเป็นความอ่อนประสบการณ์ของ วู้ดเวิร์ด สำหรับการทำงานในตลาดซื้อขายนักเตะด้วย
นักเตะที่ถูกซื้อเข้ามาในยุค มอยส์ : มารูยาน เฟลไลนี่ (เอฟเวอร์ตัน, 29 ล้านปอนด์), ฆวน มาต้า (เชลซี, 40 ล้านปอนด์)
หลุยส์ ฟาน กัล (2014-16)
ด้วยการทุ่มเงินก้อนโตเพื่อกลับไปลุยแชมเปี้ยนส์ลีก ประกอบกับชื่อเสียงของ หลุยส์ ฟาน กัล ผู้จัดการทีมคนใหม่ และบทเรียนอันยากลำบากทำให้ ยูไนเต็ด ดูดีขึ้นในตลาดของซัมเมอร์ปี 2014
พวกเขาใช้เงินไป 175 ล้านปอนด์ในการสร้างทีมขึ้นมาใหม่ นำโดย อังเคล ดิ มาเรีย ที่มาจาก เรอัล มาดริด ในราคา 67.5 ล้านปอนด์
ผีแดง ซื้อ ลุค ชอว์ มาจาก เซาธ์แฮมป์ตัน 33 ล้านปอนด์, อันเดร์ เอร์เรร่า จาก แอธ. บิลเบา 32 ล้านปอนด์, มาร์กอส โรโฮ จาก สปอร์ติ้ง ลิสบอน 18 ล้านปอนด์ และ ดาเล่ย์ บลินด์ จาก อาแจ็กซ์ 15 ล้านปอนด์ ขณะที่ ราดาเมล ฟัลเกา ก็ถูกยืมมาจาก โมนาโก
เห็นได้ชัดว่า ดิ มาเรีย มายัง ยูไนเต็ด เพราะถูกเสนอขายให้ และดูเหมือนมันดีเกินที่จะตอบปฏิเสธ ฟาน กัล ยอมรับในภายหลังว่าอันที่จริงเขามีนักเตะคนอื่นในใจอยู่แล้ว และ ดิ มาเรีย ก็เป็นตัวสำรองเสียส่วนใหญ่ในขณะที่เขาต้องดิ้นรนอย่างหนักในการสร้างชื่อกับ ยูไนเต็ด
ฟัลเกา ไม่ประสบความสำเร็จเหมือนกัน โดยยิงได้เพียง 4 ประตู จาก 29 นัด ขณะที่ เอร์เรร่า และ บลินด์ ยังถือเป็นการเซ็นสัญญาที่ดี
ชอว์ กับ โรโฮ ยังเป็นนักเตะ ผีแดง มาจนถึงทุกวันนี้ โดยแข้งอาร์เจนไตน์เคยดูดีในช่วงสั้นๆ และตอนนี้ก็กำลังจะอาลาทีมแล้ว ขณะที่ ชอว์ อาจเผชิญหน้ากับอาการบาดเจ็บ และความรักที่บิดเบี้ยวจาก มูรินโญ่ แต่เขาก็ยังแสดงให้เห็นถึงคุณภาพ และเป็นตัวจริงในปัจจุบัน
หลังจาก ฟาน กัล พา ยูไนเต็ด กลับไปแชมเปี้ยนส์ลีก เขาก็ใช้เงินมือเติบอีกครั้งในซัมเมอร์ ปี 2015 เพื่อโอกาสลุ้นแชมป์
กองหน้าดาวรุ่งจากฝรั่งเศสอย่าง อ็องโตนี่ มาร์กซิยาล มาถึงในราคา 54 ล้านปอนด์ บวกโบนัสอีกจำนวนมาก ส่วน เมมฟิส เดอปาย ก็เป็นเป้าหมายหลักในตำแหน่งปีกของ ฟาน กัล
มิดฟิลด์เติม มอร์กกาน ชไนเดอร์ลิน และ บาสเตียน ชไวน์สไตเกอร์ เข้ามารวมกัน 40 ล้านปอนด์ และต้องไม่ลืม มัตเตโอ ดาร์เมียน 16 ล้านปอนด์
อีกปัญหาใหญ่ก็คือเซนเตอร์ฮาล์ฟ โดย ยูไนเต็ด ได้ยื่นข้อเสนอให้กับ เรอัล มาดริด ด้วยความหวังที่จะคว้าตัว เซร์คิโอ รามอส แต่มันก็จบลงด้วยการที่เขาเลือกอยู่ที่เดิม
ด้วยความคาดหวังที่มากขึ้น ฟาน กัล ทำไม่ได้ตามที่หลายคนต้องการ โดยเขาถูกไล่ออกหลังพาทีมคว้าแชมป์เอฟเอ คัพ ซึ่งเป็นถ้วยรางวัลใบแรกนับตั้งแต่หมดยุค เฟอร์กี้
ในกลุ่มแข้งเหล่านั้น มีเพียง มาร์กซิยาล รายเดียวที่ยืนหยัดผ่านกาลเวลามาจนถึงทุกวันนี้ แม้กองหน้าชาวฝรั่งเศสจะมีปัญหาเรื่องความคงเส้นคงวา แต่เขาก็ยิงให้ ผีแดง ได้ถึง 73 ประตู และยังเป็นตัวหลักในทุกวันนี้
เดอปาย ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง และถูก โชเซ่ มูรินโญ่ ขายทิ้ง ด้าน ชไนเดอร์ลิน, ชไวน์สไตเกอร์ และ ดาร์เมียน หากไม่พูดถึงคงลืมชื่อไปแล้ว
ดังนั้น แม้จะทุ่มทุนเกิน 300 ล้านปอนด์ แต่ ผีแดง ก็ไม่ได้ไปไกลกว่าเดิมจากตอนที่ ฟาน กัล เข้ามาถึง
นักเตะที่ถูกซื้อเข้ามาในยุค ฟาล กัล : อังเคล ดิ มาเรีย (เรอัล มาดริด, 67.5 ล้านปอนด์), ลุค ชอว์ (เซาธ์แฮมป์ตัน, 33.75 ล้านปอนด์), อันเดร์ เอร์เรร่า (แอธ. บิลเบา, 32.4 ล้านปอนด์), มาร์กอส โรโฮ (สปอร์ติ้ง ลิสบอน, 18 ล้านปอนด์), ดาเล่ย์ บลินด์ (อาแจ็กซ์, 15.75 ล้านปอนด์), ราดาเมล ฟัลเกา (โมนาโก, ยืมตัว), บิคตอร์ บัลเดส (ฟรี), อ็องโตนี่ มาร์กซิยาล (โมนาโก, 54 ล้านปอนด์), มอร์กกาน ชไนเดอร์ลิน (เซาธ์แฮมป์ตัน, 31.5 ล้านปอนด์), เมมฟิส เดอปาย (พีเอสวี, 30.6 ล้านปอนด์), มัตเตโอ ดาร์เมียน (โตริโน่, 16.2 ล้านปอนด์), บาสเตียน ชไวน์สไตเกอร์ (บาเยิร์น, 8.1 ล้านปอนด์), เซร์คิโอ โรเมโร่ (ซามพ์โดเรีย, ฟรี)
โชเซ่ มูรินโญ่ (2016-18)
เมื่อ มูรินโญ่ เข้ามาในซัมเมอร์ ปี 2016 มันดูเหมือนว่าในที่สุด ยูไนเต็ด ก็ได้กุนซือที่พวกเขาตามหาสักที
มูรินโญ่ เป็นผู้จัดการทีมที่รู้ใจตัวเอง และนั่นหมายถึงการใช้เงินครั้งใหญ่ในช่วงซัมเมอร์อีกครั้ง
เงิน 166 ล้านปอนด์ ถูกใช้ไปในช่วงไม่กี่สัปดาห์แรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดึง ปอล ป็อกบา กลับมาจาก ยูเวนตุส ที่ราคา 89 ล่านปอนด์
นอกจากนี้ ผีแดง ยังเซ็นสัญญากับ เฮนริค มคิทาร์ยาน ในราคา 30 ล้านปอนด์ และ เอริก ไบยี่ ที่จำนวนเท่ากัน มันยังมีการคว้าตัว ซลาตัน อิบราฮิโมวิช ก็ไม่เสียแม้แต่แดงเดียว ทว่าก็แลกมาด้วยค่าเหนื่อยมหาศาล
มูรินโญ่ เริ่มต้นได้แบบมีอนาคต เมื่อเขาพาทีมคว้าแชมป์ลีก คัพ และยูโรปา ลีก พร้อมคืนสถานะแชมเปี้ยนส์ลีก ให้ ยูไนเต็ด
แน่นอนว่าความรู้สึกของเด็กผีส่วนใหญ่ก็คือยังคงรอให้ ป็อกบา เป็นนักเตะที่ยอดเยี่ยมสำหรับทีมอย่างที่เขาควรจะเป็น
ไบยี่ นั้นเจ็บแล้วเจ็บอีก ขณะที่ มคิทาร์ยาน ไม่ได้ทำให้ มูรินโญ่ ถูกใจ และก็ถูกนำไปแลกตัวกับ อเล็กซิส ซานเชซ ของ อาร์เซน่อล ด้าน อิบราฮิโมวิช ยิงไป 28 ประตู ในปี 2016-17 ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จมากที่สุด
ผลงาน 2 แชมป์ของ มูรินโญ่ กระตุ้นให้สโมสรยอมจ่ายเงินมากขึ้นก่อนเริ่มซีซั่น 2017-18
โรเมลู ลูกากู มาจาก เอฟเวอร์ตัน ด้วยค่าตัว 75 ล้านปอนด์ ขณะที่ เนมานย่า มาติช ก็มาจาก เชลซี 40 ล้านปอนด์ แถมยังมี วิคเตอร์ ลินเดอเลิฟ ที่ 31.5 ล้านปอนด์
แน่นอนว่า อเล็กซิส ที่มาจาก ปืนใหญ่ ในเดือนมกราคม ปี 2018 พร้อมค่าแรง 500,000 ปอนด์ล้มเหลวสิ้นเชิง
มีเพียง มาติช คนเดียวเท่านั้นที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จแบบยาวนานกับทีม และตอนนี้ก็ยังคงเป็นมิดฟิลด์ที่เป็นตัวเลือกเบอร์ต้น
ลูกากู ยิงไป 27 ประตูในฤดูกาลแรกของเขา แต่ก็ถูกขายให้ อินเตอร์ มิลาน เขา โอเล่ กุนนาร์ โซลชา ไม่ชอบ ส่วนทุกวันนี้ ลินเดอเลิฟ ก็ยังไม่เคยถูกมองว่าจะแบกทีมได้
แม้ว่า ผีแดง จะจบอันดับ 2 ในพรีเมียร์ลีก แต่คุณก็เริ่มรู้สึกได้แล้วว่าระเบิดเวลาของ มูรินโญ่ กำลังทำงาน
ไม่มีอะไรที่หยุด ผีแดง ไม่ให้จ่ายเงิน 53 ล้านปอนด์แลกกับ เฟร็ด ในซัมเมอร์ ปี 2018 ซึ่งดาวเตะบราซิเลี่ยนต้องใช้เวลานานมากกว่าจะพิสูจน์ตัวเองได้ และแน่นอนว่าเขาไม่ใช่คนโปรดของ มูรินโญ่ ที่ถูกไล่ออกในเดือนธันวาคม
ยูไนเต็ด ทุ่มเงินครั้งใหญ่ตามสไตล์ มูรินโญ่ และแม้ว่าพวกเขาจะมี 2 แชมป์ติดมือ แต่การอยู่ในตำแหน่งของเขาก็แทบจะบอกไม่ได้เลยว่าประสบความสำเร็จ
การเซ็นสัญญาครั้งเคสถูกมองว่าไม่ดี และล้มเหลว ส่วนบางคนก็อยู่ในขั้นตอนการพิสูจน์ตัวเอง จะมีเพียงแค่ มาติช และ เฟร็ด เท่านั้นที่พอจะมองด้านบวกได้ในเวลานี้
นักเตะที่ถูกซื้อเข้ามาในยุค มูรินโญ่ : ปอล ป็อกบา (ยูเวนตุส, 89 ล้านปอนด์), เฮนริค มคิทาร์ยาน (ดอร์ทมุนด์, 30 ล้านปอนด์), เอริก ไบยี่ (บียาร์เรอัล, 30 ล้านปอนด์), ซลาตัน อิบราฮิโมวิช (เปแอสเช, ฟรี), โรเมลู ลูกากู (เอฟเวอร์ตัน, 75 ล้านปอนด์), เนมานย่า มาติช (เชลซี, 40 ล้านปอนด์), วิคเตอร์ ลินเดอเลิฟ (เบนฟิก้า, 31.5 ล้านปอนด์), อเล็กซิส ซานเชซ (อาร์เซน่อล, แลกตัว), มาเตย์ โควาร์ (สโลวัคโก้, ฟรี), เฟร็ด (ชัคตาร์ โดเนตส์ค, 52 ล้านปอนด์), ดีโอโก้ ดาโล่ต์ (ปอร์โต้, 19.8 ล้านปอนด์), ลี แกรนท์ (สโต๊ค, 1.5 ล้านปอนด์)
โอเล่ กุนนาร์ โซลชา (2018-ปัจจุบัน)
การดึง โซลชา เข้ามาดูเหมือนจะเป็นการกระตุ้นให้มีการรีเซ็ตนโยบายการใช้เงินใหม่ นอกเหนือจากอันดับที่เป็นปัญหาแล้ว การมุ่งเน้นไปยังนักเตะอายุน้อยที่มีพรสวรรค์ที่พร้อมจะเป็นกำลังหลักระยะยาวให้ทีมถูกงัดออกมา
ด้านเหตุนี้ ตลาดแรกของ โซลชา จึงสามารถตัดสินได้ว่าโดยรวมแล้วประสบความสำเร็จ
ยูไนเต็ด ต้องการผู้นำในตำแหน่งเซนเตอร์แบ็ก และ แฮร์รี่ แม็กไกวร์ ก็เข้ามาในราคา 80 ล้านปอนด์
อารอน วาน-บิสซาก้า มาจาก คริสตัล พาเลซ 50 ล้านปอนด์ ก็ทำได้ดีมาก ในขณะที่ แดเนียล เจมส์ จาก สวอนซี ที่ 16 ล้านปอนด์ ยังถูกมองว่าน่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้
การเซ็นสัญญากับ บรูโน่ แฟร์นันด์ส ในเดือนมกราคมด้วยค่าตัว 47 ล้านปอนด์ ซึ่งทีแรกนั้นถูกมองว่าแพงเกินไปสำหรับการเสริมทัพระหว่างซีซั่น แต่มันก็เป็นการเปลี่ยนแปลงโชคชะตาของทีมไปเลย
แม้จะเริ่มต้นได้อย่างแข็งแกร่ง แต่แผนงานในตลาดซื้อขายนักเตะของ ยูไนเต็ด ในซัมเมอร์นี้กลับมาเป็นเครื่องหมายคำถามอีกครั้ง
เห็นได้ชัดว่าพวกเขาต้องการเซนเตอร์แบ็กใหม่อีกคน และก็ไม่ได้ใครเลย พวกเขาเคยพยายาม และก็ล้มเหลวกับการเซ็นสัญญา เออร์ลิ่ง ฮาแลนด์ รวมถึง เจดอน ซานโช่ โดยปฏิเสธที่จะจ่ายเงิน 108 ล้านปอนด์สำหรับแข้งรายหลัง
ดอนนี่ ฟาน เดอ เบ็ค ถูกซื้อมาจาก อาแจ็กซ์ 35 ล้านปอนด์ ซึ่งทีแรกเหมือนการเซ็นสัญญาที่ดี แต่มันก็ทำให้ โซลชา ต้องปวดหัวกับการเลือกคนลงเล่นในแดนกลาง
อาหมัด ดิยัลโล่ และ ฟากุนโด้ เปยิสตรี ยังคงเป็นเพียงอนาคต ขณะที่ อเล็กซ์ เตลลิส จะเข้ามาแย่งตำแหน่งกับ ลุค ชอว์
จากนั้น พวกเขาก็ลงเอยด้วยการคว้า เอดินสัน คาวานี่ กองหน้าตัวเก๋าในวันเส้นตาย
การทำธุรกิจของพวกเขาไม่ได้สร้างความมั่นใจ และสะท้อนให้เห็นถึงการเริ่มต้นซีซั่นที่ไม่ดี
มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำนายถึงอนาคตของ ยูไนเต็ด จากการเซ็นสัญญาเหล่านี้ และ โซลชา ก็ยังอยู่ในความกดดันอย่างมาก แม้จะเพิ่งพาทีมเอาชนะ เอฟเวอร์ตัน ได้ในเกมล่าสุด
นักเตะที่ถูกซื้อเข้ามาในยุค โซลชา : แฮร์รี่ แม็กไกวร์ (เลสเตอร์, 80 ล้านปอนด์), อารอน วาน-บิสซาก้า (คริสตัล พาเลซ, 50 ล้านปอนด์), แดเนียล เจมส์ (สวอนซี, 18 ล้านปอนด์), บรูโน่ แฟร์นันด์ส (สปอร์ติ้ง ลิสบอน, 67 ล้านปอนด์), โอเดียน อีกาโล่ (เซี่ยงไฮ้ เสิ่นหัว, ฟรี), ดอนนี่ ฟาน เดอ เบ็ค (อาแจ็กซ์, 39 ล้านปอนด์), อเล็กซ์ เตลลิส (ปอร์โต้, 13.5 ล้านปอนด์), ฟากุนโด้ เปยิสตรี (เปนญารอล, ฟรี), เอดินสัน คาวานี่ (ฟรี)
บวกกับสัญญาล่วงหน้าของ อาหมัด ดิยัลโล่ (อตาลันต้า, 18.9 ล้านปอนด์) ที่จะเข้ามาในเดือนมกราคม
ใครประสบความสำเร็จมากที่สุด?
1,074 ล้านปอนด์ถูกใช้ไปกับนักเตะ 37 คนตลอด 7 ปี และคุณอาจจะนับได้เพียงโหลนึงเท่านั้นก็ได้กระมังที่เรียกว่าประสบความสำเร็จในถิ่นโอลด์ แทร็ฟฟอร์ด
ไม่มีใครจาก 4 คนนี้เลยที่ทำให้ใกล้เคียงกับ เฟอร์กูสัน สำหรับการทำธุรกิจ ซึ่งแต่ละคนก็ล้วนมีข้อผิดพลาดราคาแพงอย่างมากกับทีม
ระหว่าง ฟาน กัล กับ มูรินโญ่ อาจประสบความสำเร็จในตลาดนักเตะไม่มากนัก แต่พวกเขาก็รังสรรค์ถ้วยรางวัลให้กับทีม
ทั้งคู่ได้รับอนุญาตให้ใช้เงินหลายล้านปอนด์เพื่อปั้น ยูไนเต็ด ในแบบของตัวเอง แต่นักเตะอย่าง เดอปาย ถึง ดิ มาเรีย ถึง มคิทาร์ยาน ถึง อเล็กซิส ล้วนเป็นความผิดครั้งใหญ่
คุณสามารถบอกได้ว่าโดยรวมแล้วการทำธุรกิจของ โซลชา เมื่อฤดูกาลที่แล้วนั้นประสบความสำเร็จมากที่สุดนับจากปี 2013 โดยมี แม็กไกวร์, วาน-บิสซาก้า และ แฟร์นันด์ส เป็นตัวชูโรง
แต่ซัมเมอร์ทีเพิ่งผ่านพ้นไป คือฝันร้ายอย่างแท้จริง แน่นอนว่ามันไม่ใช่ความผิดของ โซลชา แค่คนเดียว แต่ วู้ดเวิร์ด ต้องมีส่วนร่วมด้วย และแม้จะมีการใช้เงินไปร่วม 1 พันล้านปอนด์แล้ว แต่ ผีแดง ก็ยังดูห่างไกลจากถ้วยรางวัลเหลือเกิน
พาสต้า
คอลัมน์กีฬาบทความกีฬาต่างๆโดยนักวิเคราะห์ GURUชั้นนำของไทย มีให้ท่านได้เสพทุกวันที่เว็บไซต์ TH SPORT