ภารกิจคนรวย
นับตั้งแต่ได้กลุ่มทุน "อาบูอาดี ยูไนเต็ด กรุ๊ป" ที่มี ชีค มานซูร์ บิน ซาเย็ด อัล-นาห์ยาน เป็นแม่ทัพ เข้ามาเทกโอเวอร์ในปี 2008 เรือใบสีฟ้าใช้เงินไปแล้ว 1.3 พันล้านปอนด์ หรือเกือบ 56,000 ล้านบาท
ถ้ารวมกับเงินที่ซื้อสโมสรมาจาก ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ของไทย อีก 150 ล้านปอนด์ ก็ทำให้กลุ่มทุนจากตะวันออกกลางทุ่มทุนไปแล้วถึง 1.45 พันล้านปอนด์
เป็นตัวเลขที่มหาศาลอย่างมาก
แต่ช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา แมนฯ ซิตี้ ก็เก็บเกี่ยวความสำเร็จทั้งแชมป์พรีเมียร์ลีก 3 สมัย, แชมป์เอฟเอ คัพ 1 สมัย และแชมป์ลีก คัพ อีก 3 สมัย
ถ้าถามว่า แชมป์ 7 รายการกับเงินที่เสียไปขนาดนี้ ถือว่าคุ้มแล้วหรือยัง ?
คำตอบก็คง "ไม่" เพราะเกียรติยศสูงสุดอย่างยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ก็ยังไม่เคยไปถึงแม้กระทั่งรอบชิงชนะเลิศ ช่วงปีแรกๆ ก็ตกรอบแบ่งกลุ่มเป็นว่าเล่น
ในช่วง 6 ปีแรก สโมสรมีผลประกอบการขาดทุนโดยตลอด รวมแล้ว 584 ล้านปอนด์ ไล่เรียงได้ดังนี้
ฤดูกาล 2008/09 ขาดทุน 93 ล้านปอนด์
ฤดูกาล 2009/10 ขาดทุน 121 ล้านปอนด์
ฤดูกาล 2010/11 ขาดทุน 197 ล้านปอนด์
ฤดูกาล 2011/12 ขาดทุน 98 ล้านปอนด์
ฤดูกาล 2012/13 ขาดทุน 52 ล้านปอนด์
ฤดูกาล 2013/14 ขาดทุน 23 ล้านปอนด์
เมื่อรายได้ไม่สอดคล้องกับรายได้ แมนฯ ซิตี้ จึงถูกค่อนขอดอย่างต่อเนื่องว่าดีแต่ใช้เงิน เป็นพวกคนรวยที่เอาแต่ละเลงฟ่อนธนบัตรอย่างไม่รู้จักคิด
แต่ ชีค มานซูร์ และทีมงานก็ก้มหน้าก้มตาทำงานของตัวเองต่อไปเพื่อพิสูจน์ความตั้งใจจริงด้วยการยกระดับทีมทั้งในและนอกสนาม
ไม่เพียงขยายเอติฮัด สเตเดี้ยม จนมีความจุถึง 55,097 ที่นั่ง แต่เขายังทุ่มเงินพัฒนาพื้นที่โดยรอบที่กว้างใหญ่ไพศาลเป็นคอมเพล็กซ์กีฬาที่ครบวงจรอย่างมาก
ทุกอย่างของแมนฯ ซิตี้ รวมกันอยู่ที่นี่ ขนาดสนามแข่งของทีมเยาวชนยังได้มาตรฐานและจุมากกว่าทีมหลายทีมในแชมเปี้ยนชิพด้วยซ้ำ
เช่นเดียวกับในสนามที่แมนฯ ซิตี้ เดินหน้าไม่หยุด และไม่เคยหยุดที่คำว่า "แชมป์"
คัลดูน อัล มูบารัค ประธานสโมสรบอกเอาไว้ชัดเจนว่า "การเดินทางของพวกเรายังไม่สิ้นสุด ยังมีเป้าหมายอีกหลายอย่างที่ต้องทำให้ได้ และต้องพยายามต่อไป"
แน่นอนว่า เป้าหมายสำคัญคือการเป็นแชมป์ยุโรปให้ได้ ทิศทางในหลายปีหลังเริ่มขยับเข้าใกล้โพเดี้ยมมากขึ้น พวกเขามีประสบการณ์และกระดูกที่กำลังขัดมันได้ที่
การที่ฤดูกาลนี้ แมนฯ ซิตี้ ถูกยกให้เป็นเต็งหนึ่งที่จะคว้าแชมป์ บ่งบอกถึงการได้รับยอมรับในศักยภาพของทีมที่พยายามสร้างมาหลายปี
หลายสิ่งหลายอย่างที่ลงทุนไป เริ่มผลิดอกออกผล รวมถึงการวางแผนการเงินที่ละเอียดมากขึ้น
ชีค มานซูร์ บิน ซาเย็ด อัล-นาห์ยาน ทุ่มเทอย่างหนักให้เรือใบสีฟ้า
2-3 ปีหลัง เรือใบสีฟ้ายังถลุงเงินเป็นว่าเล่นในตลาดนักเตะ เช่นเดียวกับอัดฉีดค่าเหนื่อยแข้งหลักหลายคนทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่าที่ต่อสัญญาออกไป
แต่สโมสรก็มีรายได้มากขึ้น
สนามที่จุเกินครึ่งแสนส่งผลต่อรายได้ตั๋วเข้าชมที่มากขึ้น สินค้าของที่ระลึกก็ขายดีกว่าเดิมเพราะทีมประสบความสำเร็จและเป็นที่รู้จักมากกว่าเดิม พวกเขารู้จักการทำการตลาด และเอาใจแฟนคลับอย่างเต็มที่ ไหนจะค่าลิขสิทธิ์ทั้งจากพรีเมียร์ลีกและยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ที่เข้ารอบลึกๆ ก็โกยเงินเข้าสโมสรเป็นว่าเล่นเช่นกัน
ถ้าเทียบกับเพื่อนร่วมเมืองสีแดงอย่างแมนฯ ยูไนเต็ด พวกเขายังดูเป็นรองหลายขุมในการหาเงินนอกสนาม แต่อย่างน้อย แมนฯ ซิตี้ ก็เริ่มเป็นงานมากขึ้น คนไหนดี คนไหนเก่งต่างดึงเข้ามาทำงานทั้งหมด
นั่นทำให้ 4 ปีหลังสุด ผลประกอบการสโมสรมี "กำไร" โดยตลอด
ฤดูกาล 2014/15 กำไร 11 ล้านปอนด์
ฤดูกาล 2015/16 กำไร 20 ล้านปอนด์
ฤดูกาล 2016/17 กำไร 1 ล้านปอนด์
ฤดูกาล 2017/18 กำไร 10.4 ล้านปอนด์
อาจไม่มากในแง่ตัวเลขถ้าเทียบกับช่วง 6 ปีแรกที่ขาดทุนเฉลี่ยปีละเกือบร้อยล้าน แต่ก็บ่งบอกถึงแนวโน้มที่ดี และเป็นผลลัพท์ที่ทำให้ทุกคนพึงพอใจหลังทำงานหนักกันต่อเนื่อง
ฤดูกาลล่าสุดยังเป็นฤดูกาลแรกที่ทีมสามารถหารายได้ทะลุ 500 ล้านปอนด์ ก่อนหักรายจ่ายแล้วเหลือที่ 10.4 ล้านปอนด์
ในสนาม แมนฯ ซิตี้ ยังต้องพิสูจน์ตัวเองทั้งภารกิจป้องกันแชมป์พรีเมียร์ลีกซึ่งเกือบทศวรรษที่ผ่านมา ไม่เคยมีสโมสรใดทำได้เลย และเวทียุโรปที่ต้องปลดล็อกคว้าแชมป์สมัยแรกให้ได้
นอกสนาม ทีมก็รักษาผลประกอบการเป็นบวกได้อีกปี และวางแผนในการเพิ่มมูลค่าสโมสรให้อยู่ในระดับแถวหน้าของโลกอย่างแท้จริง
เมื่อความสำเร็จในสนามมาต่อเนื่อง ความสำเร็จนอกสนามจะตามมาเอง ทุกอย่างเกื้อกูลซึ่งกันและกัน
10 ปี อาจเหมือนยาวนาน แต่เอาจริงๆ เพิ่งเป็นการเริ่มต้น
มีเงินเป็นข้อดีอยู่แล้ว แต่หากไม่รู้จักวางแผนทั้งระยะสั้นและระยะยาว เงินที่ใช้ไปก็สูญเปล่าอย่างไร้ค่าได้
แมนฯ ซิตี้ รู้ดีว่าภารกิจของพวกเขาต้องทำอะไรบ้างเพื่อลบภาพ ทีมคนรวยที่เอาแต่ใช้เงินให้ได้
คอลัมน์กีฬาบทความกีฬาต่างๆโดยนักวิเคราะห์ GURUชั้นนำของไทย มีให้ท่านได้เสพทุกวันที่เว็บไซต์ TH SPORT