10 สัปดาห์แห่งการ 'คิดใหม่ทำใหม่'
ความปราชัยที่กูดิสัน ปาร์ค วันนั้นทำให้ อาร์เซน่อล ไม่ชนะในลีก 7 นัดติดต่อกันและเป็นการแพ้ถึง 5 นัด อันดับในตารางรูดต่ำลงไปที่ 16 ห่างโซนตกชั้นเพียง 4 คะแนน
เป็นผลงานที่น่าผิดหวังอย่างมาก แฟนบอลปืนใหญ่หลายคนเริ่มติดแฮชแท็ก #ArtetaOut ว่อนสื่อโซเชียลเมื่อพูดถึงทีมรักของตัวเอง
แต่จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้สถานการณ์เริ่มกลับมาเข้าที่เข้าทางคือเกมบ็อกซิ่งเดย์ที่เปิดรังเอมิเรตส์ สเตเดี้ยม ไล่อัด เชลซี 3-1
อาร์เซน่อล โชว์ฟอร์มได้เฉียบขาดที่สุดอีกนัดในฤดูกาลและเกือบเป็นเกมที่สมบูรณ์แบบสุดๆ หากไม่ปล่อยให้ เชลซี ได้ประตูตีไข่แตกปลอบใจในช่วงท้ายเกม
นอกจากผลงานที่ดีสุดในรอบ 2 เดือนหรือนับตั้งแต่บุกชนะ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด 1-0 ที่โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด แล้ว การเริ่ม "คิดใหม่ ทำใหม่" ของ อาร์เตต้า คืออีกจุดสำคัญ
วันนั้น อาร์เตต้า เลือกส่ง 3 ดาวรุ่ง บูคาโย่ ซาก้า, กาเบรียล มาร์ติเนลลี่ และ เอมิล สมิธ โรว์ ลงตัวจริงร่วมกันเป็นครั้งแรก และสำหรับ สมิธ โรว์ ก็เป็นการออกสตาร์ทเกมลีกครั้งแรกในชีวิตด้วย
ทั้งสามมีส่วนอย่างมากในชัยชนะของทีมเพราะเล่นกันด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ ขยันวิ่งไล่บอลทั้งรุกและรับ ที่สำคัญคือแสดงให้เห็นถึง "พาสชั่น" ในการเล่นที่ทีมขาดหายไปในช่วงหลัง
ก่อนเลือกฝากความหวังไว้กับก๊วนดาวรุ่ง อาร์เตต้า เคยให้โอกาส นิโกล่าส์ เปเป้ และ วิลเลี่ยน เป็นตัวหลักในการสร้างสรรค์เกมมาโดยตลอด ช่วงหลังมี โจ วิลล็อค เข้ามาเพิ่มอีกราย แต่ทั้งหมดก็ไม่สามารถทำผลงานได้อย่างที่ควรจะเป็นโดยเฉพาะ วิลเลี่ยน
ปีกจอมเก๋าบราซิเลี่ยนเริ่มต้นดีทำ 2 แอสซิสต์ในเกมเปิดสนามที่บุกชนะ ฟูแล่ม 3-0 แต่จากนั้นก็แทบไม่มีบทบาทใดๆ ในเกมรุกเลยทั้งที่ได้โอกาสต่อเนื่อง และเริ่มถูกคำถามว่าอาจเป็นการเสริมทัพที่ผิดพลาดของ อาร์เซน่อล แม้ได้ตัวมาฟรีหลังหมดสัญญากับ เชลซี ก็ตาม
สมิธ โรว์ กับ ซาก้า หัวใจสำคํญในเกมรุกตอนนี้
เกมเปิดรังขย่ม เชลซี ที่มีแกนหลักเกมรุกอยู่ที่ดาวรุ่งอายุไม่เกิน 20 ปี กลายเป็น "มิติใหม่" ของทีม เช่นเดียวกับเกมรับที่ส่ง ปาโบล มารี ที่เล่นเกมลีกนัดแรกของฤดูกาลในวันนั้นด้วยหลังเพิ่งหายเจ็บกลับมาและได้เคาะสนิมในบอลถ้วยไป 2 นัด
จากนั้นเป็นต้นมา ผลงานของทีมปืนใหญ่ดีขึ้นตามลำดับ มีสะดุดบ้างในบางนัดแต่ภาพรวมดีกว่า 14 นัดแรกก่อนบ็อกซิ่งเดย์ชัดเจน
ใน 14 นัดแรก อาร์เซน่อล ชนะได้เพียง 4 นัด และแพ้ไปถึง 8 นัด ยิงได้ 12 ประตู เสีย 18 ประตู เก็บได้เพียง 14 คะแนนเท่านั้น
หากไม่นับ 4 นัดแรกที่เริ่มต้นดีชนะ 3 นัด อีก 10 นัดถัดมาชนะได้เพียงนัดเดียวในเกมบุกโค่นผีแดงนั่นเอง
แต่ 12 นัดหลังสุดในลีกหรือราว 10 สัปดาห์แห่งการเปลี่ยนแปลง มิเกล อาร์เตต้า พาทีมชนะได้ 7 นัดและแพ้ 3 นัด ยิงได้ 22 ประตู เสีย 9 ประตู และเก็บเพิ่มได้ 23 คะแนน
ผลงานดีขึ้นชัดเจนทั้งเกมรุก เกมรับ และคะแนนที่ทำได้ รวมไปถึงอันดับที่ดีดตัวกลับขึ้นมาอยู่กลางตาราง ห่างจากโซนตกชั้น 14 คะแนน และตามพื้นที่ท็อปโฟร์ 10 คะแนน
นอกจากนี้ หลายคนที่ได้โอกาสต่อเนื่องในช่วงนี้ก็ล้วนทำผลงานได้ดีโดยเฉพาะบรรดาวรุ่ง
เอมิล สมิธ โรว์ กลายเป็นหัวใจสำคัญของทีมไปแล้วจากการลงตัวจริง 11 จาก 12 นัดหลังสุด ส่วนอีกนัดที่เป็นสำรองคือเกมพบ แมนฯ ซิตี้ ซึ่ง อาร์เตต้า ตั้งใจพักตัวหลักบางคนเอาไว้เพื่อเตรียมลงเล่นนัดสองกับ เบนฟิก้า ในยูโรปา ลีก
สมิธ โรว์ ทำไป 4 แอสซิสต์ในช่วงนี้ซึ่งมากกว่าทุกคนในทีมและเพิ่งถูก วิลเลี่ยน ทาบ 4 แอสซิสต์เท่ากันในนัดล่าสุดกับ เลสเตอร์ ซิตี้ ทั้งที่ปีกบราซิเลียนนับ 2 แอสซิสต์แรกตั้งแต่เกมเปิดสนาม
ส่วน บูคาโย่ ซาก้า ได้ลงเล่นสม่ำเสมออยู่ก่อนแล้วตั้งแต่ยุคของ อูไน เอเมรี่ ก็ยิ่งทำผลงานดีขึ้นกว่าเดิมเมื่อได้เล่นร่วมกับ สมิธ โรว์ ที่เติบโตขึ้นมาจากทีมเยาวชนเหมือนกัน
ในช่วง 12 นัดหลังการเปลี่ยนแปลง ซาก้า ลงตัวจริง 10 นัด พลาดลงเล่น 1 นัดเพราะบาดเจ็บ และอีกนัดเป็นสำรองซึ่งคือเกมล่าสุดที่ อาร์เตต้า ให้ตัวหลักได้พักหลังเสร็จภารกิจเกมยุโรป
10 นัดที่ลงเล่น ซาก้า ช่วยทีมชนะ 6 นัดซึ่งใน 6 นัดนี้ ซาก้า ยิงประตูหรือแอสซิสต์ให้ทีมได้ทุกนัด (ยิง 1 ประตูชนะ เชลซี 3-1, แอสซิสต์ประตูชัยชนะ ไบรท์ตัน 1-0, ยิง 1 ประตูชนะ เวสต์บรอมวิช 4-0, ยิง 1 ประตูชนะ นิวคาสเซิ่ล 3-0, ยิง 1 ประตูและแอสซิสต์อีก 1 ชนะ เซาธ์แฮมป์ตัน 3-1, และยิง 1 ประตูชนะ ลีดส์ ยูไนเต็ด 4-2)
จากที่ทำได้ดีอยู่แล้วก็เลยเปล่งประกายมากกว่าเดิมจนคว้ารางวัลผู้เล่นยอดเยี่ยมของสโมสรประจำเดือนธันวาคม และมกราคม แถมติดโผลุ้นรางวัลเดือนกุมภาพันธ์ร่วมกับแคนดิเดตอื่นทั้ง ปิแอร์-เอเมอริค โอบาเมย็อง, นิโกล่าส์ เปเป้ และ กรานิต ชาคา
อีกหลายคนในทีมล้วนมีผลงานที่ดีและช่วยทีมได้เช่นกันไม่ว่าจะเป็น กรานิต ชาคา ที่ลงเล่นครบทุกนาทีในลีก 12 นัดหลังสุด, อเล็กซองด์ ลากาแซ็ตต์, ปิแอร์-เอเมอริค โอบาเมย็อง, คีแรน เทียร์นีย์, แบรนด์ เลโน่, ปาโบล มารี รวมถึงผู้มาใหม่อย่าง มาร์ติน โอเดการ์ด ที่เข้ามาเสริมความหลากหลายในเกมรุกได้พอสมควร
ในบอลถ้วยอาจตกรอบเอฟเอ คัพ แต่ก็เข้ารอบ 16 ทีมสุดท้ายยูโรปาลีก ได้สำเร็จซึ่งดีกว่าฤดูกาลก่อนที่ตกรอบ 32 ทีมสุดท้าย แถมจะได้โอกาสแก้มือ โอลิมเปียกอส ที่เคยทำแสบบุกมาเขี่ยตกรอบคาบ้านในปีก่อน
หากเทียบกับทีมอื่นในช่วงเวลา 12 นัดหลังสุดที่ อาร์เซน่อล เก็บได้ 23 คะแนน มีเพียง แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่โกยคะแนนได้มากกว่าเพราะอยู่ในช่วงติดเครื่องไล่บดขยี้คู่แข่ง 21 นัดติดทุกรายการ (นังถึงจบนัดล่าสุดที่ชนะ วูล์ฟส์ 4-1) และ เวสต์แฮม ที่ดีมากเช่นกันในช่วงนี้ที่เก็บได้ถึง 24 คะแนน
23 คะแนนที่ อาร์เตต้า และลูกทีมทำได้นับจากบ็อกซิ่งเดย์ถือว่ามากกว่าอีกหลายที่อันดับดีกว่าตอนนี้ทั้ง แมนฯ ยูไนเต็ด, เชลซี, เลสเตอร์, สเปอร์ส, เอฟเวอร์ตัน รวมไปถึง ลิเวอร์พูล ทีมแชมป์เก่าที่ทำแต้มหล่นเป็นว่าเล่นในฤดูกาลนี้
ไล่ขย่มจิ้งจอกในนัดล่าสุด
ในส่วนของระบบการเล่น อาร์เตต้า ยึดแท็ก 4-2-3-1 ต่อเนื่อง ต่างจากช่วงแรกที่สลับไปมาหลายระบบ บางนัดเล่นแบ็กโฟร์ บางนัดเล่นระบบ 3 เซนเตอร์แบ็ก และไม่มีไลน์อัปชุดที่ดีสุดที่แฟนบอลสามารถคาดรายชื่อได้ตรงกัน 8-9 ตำแหน่งเหมือนตอนนี้
เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ช่วงแรก อาร์เซน่อล ออกทะเลไปไกลจนต้องมาเหนื่อยไล่เก็บคะแนนทำอันดับ
แต่หากรักษาผลงานแบบนี้ได้ใน 12 นัดสุดท้ายของฤดูกาล และลดข้อผิดพลาดง่ายๆ ในเกมรับที่บางครั้งก็เสียประตูแบบไม่น่าเสีย โอกาสจบในพื้นที่ยุโรปยังถือว่าเป็นไปได้มาก
ส่วนจะไปสูงระดับพื้นที่แชมเปี้ยนส์ ลีก หรือไม่ ก็อาจไม่ได้พึ่งพาแค่ตัวเองเท่านั้น แต่คงต้องลุ้นให้คู่แข่งสะดุดด้วย
คอลัมน์กีฬาบทความกีฬาต่างๆโดยนักวิเคราะห์ GURUชั้นนำของไทย มีให้ท่านได้เสพทุกวันที่เว็บไซต์ TH SPORT