:::     :::

บทเรียนจากโคเปนเฮเก้น

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
อาการหัวใจหยุดเต้นกะทันหันจนหมดสติฟุบคาสนามของ คริสเตียน เอริคเซ่น จอมทัพทีมชาติเดนมาร์ก กลายเป็นเหตุการณ์สุดช็อกสำหรับแฟนบอลทั่วโลกที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดในขณะที่กำลังเพลิดเพลินและมีความสุขไปกับการแข่งขันในสนาม

ศึกยูโร 2020 รอบแบ่งกลุ่ม กลุ่ม บี ระหว่าง เดนมาร์ก กับ ฟินแลนด์ เมื่อวันเสาร์ที่ 12 มิถุนายน หรือวันที่ 2 ของการแข่งขัน เกิดเหตุการณ์ช็อกขึ้นเมื่อ คริสเตียน เอริคเซ่น เกิดหมดสติล้มฟุบคาสนามในนาทีที่ 43 ทำให้ทีมแพทย์ต้องรีบมาช่วยปฐมพยาบาลอยู่พักใหญ่ก่อนนำตัวส่งโรงพยาบาล 

มิดฟิลด์จาก อินเตอร์ มิลาน เริ่มได้สติหลังได้รับการ "CPR" ขณะที่ถูกนำตัวออกจากสนาม ก่อนมีการยืนยันในเวลาต่อมาว่าปลอดภัยเป็นที่เรียบร้อย สามารพูดคุยและสื่อสารกับคนรอบข้างได้ แต่ยังคงพักรักษาตัวในโรงพยาบาลต่อไปเพื่อเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด 

เหตุการณ์ที่สนาม ปาร์คเก้น สเตเดี้ยม ในกรุงโคเปนเฮเก้น ประเทศเดนมาร์ก บ้านเกิดของ คริสเตียน เอริคเซ่น สามารถบทเรียนให้กับชีวิตของเราได้อย่างมากมาย ดังนี้ 

1. ชีวิตสำคัญที่สุด

ในวินาทีที่ คริสเตียน เอริคเซ่น ฟุบลงนอนแน่นิ่งใกล้ริมสนาม ทุกคนแทบหยุดหายใจชั่วขณะพร้อมกับสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น และเมื่อเห็นปฏิกิริยาของนักเตะและผู้ตัดสินที่กวักมือเรียกแพทย์สนามให้รีบเข้าดูอาการก็เริ่มมั่นใจว่าไม่ใช่อาการบาดเจ็บจากการปะทะกันในสนามแน่นอน

ผู้ตัดสิน แอนโธนี่ เทย์เลอร์ จากอังกฤษ ตัดสินใจได้รวดเร็วและถูกต้องที่เป่าหยุดเกมตั้งแต่ 5 วินาทีแรก เขารู้โดยสัญชาตญาณและข้อปฏิบัติต่างๆ ในการทำงานเป็นผู้ตัดสินว่าเหตุการณ์ตรงหน้าเป็นเรื่องฉุกเฉินที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของคน

ทีมแพทย์และพยายามใช้เวลาอยู่นานหลายนาทีในการช่วยชีวิตของ เอริคเซ่น ก่อนนำตัวส่งโรงพยาบาลซึ่งในเวลานั้น นักเตะทั้งสองทีม แฟนบอล และทุกคนที่เห็นเหตุการณ์ไม่สนใจแล้วว่าการแข่งขันจะเป็นอย่างไร ต้องใช้เวลานานแค่ไหนถึงจะกลับมาแข่งต่อกันได้เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือช่วยชีวิตของ คริสเตียน เอริคเซ่น ให้ได้ก่อน อย่างอื่นเป็นเรื่องรองทั้งหมด 

แฟนบอลฟินแลนด์ ลืมคำว่า "คู่แข่ง" ไว้ชั่วคราว พวกเขาโยนธงชาติของตัวเองลงให้เจ้าหน้าที่นำไปใช้ขึงเพื่อบังการมองเห็นจากรอบข้างในขณะที่แพทย์สนามกำลังปฐมพยาบาล เอริคเซ่น เช่นเดียวกับเพื่อนร่วมทีมโคนมที่ยืนตั้งกำแพงล้อมรอบไม่ให้กล้องถ่ายภาพได้ สิ่งนี้คือการปกป้องสิทธิ์พื้นฐานของผู้ป่วยซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากในประเทศที่พัฒนาแล้ว  

ขณะเดียวกัน แฟนบอลฟินแลนด์ก็ร่วมส่งกำลังใจด้วยการตะโกนเรียกชื่อ "คริสเตียน" ขณะที่แฟนบอลเดนมาร์กก็ขานรับว่า "เอริคเซ่น" ทุกคนในสนามรวมกันเป็นหนึ่งเพื่ออยู่เคียงข้าง คริสเตียน เอริคเซ่น 

ในเวลาต่อมาที่กลับมาแข่งต่อกันได้หลังได้รับการยืนยันว่า เอริคเซ่น ปลอดภัยแล้ว แม้ เดนมาร์ก จะเป็นฝ่ายพ่ายต่อ ฟินแลนด์ 0-1 แต่ความรู้สึกของแฟนบอลโคนมและอีกหลายล้านคนทั่วโลกก็คงเหมือนกับพาดหัวข่าวของสื่อในประเทศที่ว่า 

"Denmark lost. But life won."

"เดนมาร์กพ่าย แต่ชนะในชีวิต"

ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่า "ชีวิต" อีกแล้ว 


2. การปฐมพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ 

การปฐมพยาบาลของทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่ทุกคนในภารกิจไม่คาดคิดนี้ได้รับคำชมอย่างมากว่ารวดเร็วและมีประสิทธิภาพ 

ทุกคนวิ่งถึงตัว เอริคเซ่น ที่อยู่อีกฝั่งของสนามในเวลาราว 20 วินาที ทำให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างทันท่วงที เหตุการณ์แบบนี้ ทุกวินาที่ล้วนหมายถึงชีวิต หากเจ้าหน้าที่ไม่เตรียมความพร้อมตลอดเวลา สิ่งที่เกิดขึ้นอาจกลายเป็นเรื่องเศร้า

ดร. มอร์เทน โบเซ่น แพทย์ประจำทีมชาติเดนมาร์ก ได้เล่าถึงเหตุการณ์นี้ว่า เอริคเซ่น มีอาการหัวใจหยุดเต้นระหว่างเกม และยืนยันว่า "เขาจากไปแล้ว" 

"มันชัดเจนว่าเขาไม่ได้สติแล้ว ตอนที่ผมไปถึงตัวเขา เขายังหายใจอยู่ผมยังพอสัมผัสได้ถึงชีพจรแต่มันก็เกิดการเปลี่ยนแปลงในทันที เราจึงต้องเริ่มทำ CPR ให้กับเขา"

"ด้วยความช่วยเหลือที่รวดเร็วจากทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่ทุกคนที่เหลือที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เรากู้ชีวิตเขากลับมาได้ เราได้เขากลับคืนมาหลังจากกระตุ้นหัวใจไปหนึ่งครั้ง เขาพูดกับผมได้ก่อนถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล"

เดนมาร์ก ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีความรู้ในเรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้นรวมไปถึงการทำ CPR ที่เป็นการช่วยเหลือผู้ที่หยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้นให้กลับมาหายใจ เป็นอย่างดีเพราะรัฐบาลให้ความสำคัญและบรรจุเป็นหลักสูตรการเรียนให้กับเด็กตั้งแต่ระดับประถม พวกเขาใส่ใจถึงขนาดที่ว่าคนที่สอบใบขับขี่จะต้องทำ CPR เป็นด้วย

ดังนั้นในระดับคุณหมอและเจ้าหน้าที่ทางด้านนี้จึงมีความเชี่ยวชาญในการทำ CPR ในระดับสูง สามารถรับมือและตัดสินใจกับเหตุการณ์ตรงหน้าได้อย่างถูกต้อง และนำมาซึ่ง "หนึ่งชีวิต" ที่รอดกลับมาได้อีกครั้ง 

นอกจากนี้การที่สนาม ปาร์คเก้น สเตเดี้ยม ในกรุงโคเปนเฮเก้น อยู่ห่างจากโรงพยาบาลริกโชสปิทาเล็ต (Rigshospitalet) เพียง 500 เมตรก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการรับช่วงต่อดูแลรักษาเพราะหาก คริสเตียน เอริคเซ่น ยังไม่ได้สติตอนออกจากสนาม การไปถึงโรงพยาบาลที่มีเครื่องไม้เครื่องมือครบครันในเวลารวดเร็วเป็นสิ่งเป็นอย่างยิ่ง 

ต่อจากนี้ ความใกล้-ไกลของโรงพยาบาล จะกลายเป็นสิ่งที่นำมาพิจารณามากยิ่งขึ้นสำหรับการจัดแข่งขันกีฬาและเลือกสนามแข่งขัน


3. ภาวะผู้นำวัดกันที่การรับมือในสถานการณ์ไม่คาดคิด

หนึ่งในคนที่ถูกกล่าวถึงในภารกิจยื้อชีวิต คริสเตียน เอริคเซ่น คือ ซิมง เคียร์ เซนเตอร์ฮาล์ฟกัปตันทีมที่แสดงความเป็นผู้นำออกมาได้อย่างน่ายกย่อง เขาคือคนที่ช่วยแก้ไขสถานการณ์ที่เหมือนเลวร้ายสุดๆ ไม่ให้แย่ไปมากกว่าเดิม 

กัปตันทีมจาก เอซี มิลาน คือคนแรกๆ ที่รีบวิ่งเข้าไปดูอาการ เอริคเซ่น ก่อนประคองร่างกายจัดท่าทางการนอนของเพื่อนร่วมทีมให้สามารถหายใจได้สะดวกที่สุด ไม่ให้ลิ้นเข้าอุดทางเดินหายใจ   

จากนั้น เคียร์ สั่งให้เพื่อนร่วมทีมยืนตั้งกำแพงล้อมรอบตัว เอริคเซ่น เพื่อบังไม่ให้กล้องถ่ายภาพได้เพราะในวินาทีนั้น หลายคนอยู่ในอาการตกใจและไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร 

นอกจากนี้ แนวรับประสบการณ์สูงรวมถึง แคสเปอร์ ชไมเคิ่ล ยังได้เดินไปปลอบใจ ซาบริน่า เยนเซ่น ภรรยาของ เอริคเซ่น ที่กำลังร้องไห้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพราะไม่รู้ว่าอาการของสามีตัวเองเป็นอย่างไร 

ทุกการกระทำในเหตุการณ์ครั้งนี้ของ ซิมง เคียร์ เป็นมากกว่ากัปตันทีมฟุตบอล แต่สะท้อนถึงการมีภาวะผู้นำเต็มเปี่ยม มีสติครบถ้วน สามารถรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดคิดได้สุดยอด 

ไม่ว่า ยูโร 2020 หนนี้จะปิดฉากอย่างไร แต่สำหรับแฟนบอลทั่วโลกแล้ว ซิมง เคียร์ ได้กลายเป็นพระเอกเรียบร้อย  



4. มองย้อนกลับมาประเทศไทยกับการ "ช่วยชีวิตคน"

มีคำถามเกิดขึ้นทันทีหลังเหตุการณ์ของ คริสเตียน เอริคเซ่น คือ หากการแข่งขันจัดขึ้นในประเทศไทยจะสามารถรับมือกับเหตุการณ์นี้ได้ดีเพียงใดนั่นเพราะความรู้ความชำนาญในการทำ CPR หรือกระทั่งการปฐมพยาบาลในบ้านเรามีน้อยมาก 

ถ้าเป็นรายการใหญ่ที่จัดขึ้นร่วมกับองค์กรนานาชาติที่มีความเป็นมืออาชีพ มีมาตรฐานจัดการแข่งขันก็น่าจะไม่มีปัญหามากนัก 

แต่เมื่อได้รู้ข้อเท็จจริงว่า เดนมาร์ก และอีกหลายประเทศในโลก มีหลักสูตรการสอนทำ CPR ตั้งแต่ระดับประถม ก็อดตั้งคำถามกับประเทศเราไม่ได้ว่าทำไมไม่มีการเรียนการสอนแบบนี้ให้กับเด็กๆ อย่างจริงจัง 

การทำ CPR การปฐมพยาบาล รวมไปถึงการสอนทักษะการใช้ชีวิตต่างๆ ที่จำเป็นและนำมาใช้ในชีวิตจริงๆ มีน้อยมาก การเรียนการสอนในบ้านเรายังให้ความสำคัญกับการท่องจำในสิ่งที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรเลยในชีวิต

การที่ประชาชนคนทั่วไปสามารถทำ CPR ด้วยการปั๊มหัวใจได้สามารถช่วยเหลือคนที่ประสบเหตุการณ์นี้ได้ไม่มากก็น้อยเพราะในชีวิตจริง เราไม่ได้อยู่ใกล้มือหมอตลอด ยิ่งเป็นต่างจังหวะในชนบทห่างไกล ยิ่งอยู่ห่างจากโรงพยาบาลและสถานีอนามัย

มีสถิติระบุว่า แต่ละปีคนไทยเสียชีวิตจากภาวะหัวใจเต้นเฉียบพลันประมาณ 54,000 คน หรือ เฉลี่ย 6 คนต่อชั่วโมงซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก 

ขณะที่ในสหรัฐฯ และญี่ปุ่นที่คนส่วนใหญ่รู้จักขั้นตอนการทำ CPR และช่วยชีวิตภายในเวลา 4 นาที จะเพิ่มโอกาสรอดได้ถึง 27 เปอร์เซ็นต์ และหากมีเครื่องมือ AED แบบที่แพทย์ใช้กับ คริสเตียน เอริคเซ่น ก็เพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์

ไม่ใช่เรื่องผิดที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่รู้จักการทำ CPR และการปฐมพยาบาลที่จำเป็นเพราะการเรียนการสอนในบ้านเราไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ 

หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าสิ่งนี้สะท้อนถึงวิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศไปพร้อมๆ กันด้วย 


คอลัมน์กีฬาบทความกีฬาต่างๆโดยนักวิเคราะห์ GURUชั้นนำของไทย มีให้ท่านได้เสพทุกวันที่เว็บไซต์ TH SPORT

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด