จากเรือใบสู่สาลิกา...ตลาดแรกซื้อใครบ้าง?
ทัพ "สาลิกาดง" เริ่มต้นยุคใหม่ภายใต้การบริหารงานของ พับลิค อินเวสต์เมนต์ ฟันด์ (พีไอเอฟ) กลุ่มทุนจากซาอุดิอาระเบีย หลังจาก ไมค์ แอชลี่ย์ ยอมขายสโมสรด้วยมูลค่าราว 300 ล้านปอนด์และเป็นอันสิ้นสุดอำนาจตลอด 14 ปีหลังสุดในถิ่นเซนต์ เจมส์ ปาร์ค
หลังกลายเป็นโคตรมหาเศรษฐีในพริบตา นิวคาสเซิ่ล จึงพร้อมทุ่มทุนเสริมทัพเพื่อยกระดับทีมให้ก้าวสู่แถวหน้าของวงการฟุตบอลเต็มตัว
นั่นทำให้ตลาดรอบต่อไปในหน้าหนาวเดือนมกราคมที่จะถึงนี้จะเป็นตลาดนักเตะที่ทุกสายตาจับจ้องไปที่ นิวคาสเซิ่ล ว่าจะได้แข้งดังคนใดมาร่วมทีมหลังเริ่มตกเป็นข่าวกับหลายต่อหลายคน
ในอดีตที่ผ่านมา เชลซี และ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ลืมตาอ้าปากได้เต็มตัวหลังได้เจ้าของทีมคนใหม่เข้ามาบริหารงานและอัดเม็ดเงินก้อนโตต่อเนื่องเพื่อสร้างความสำเร็จและทำให้กลายเป็นสโมสรระดับท็อปอย่างที่เป็นในทุกวันนี้
เปรียบเทียบระหว่าง เชลซี และ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในยุคแรกๆ ที่มีเจ้าของทีมรายใหม่ สถานะของ นิวคาสเซิ่ล ในตอนนี้คล้ายคลึงกับ "เรือใบสีฟ้า" มากกว่าตรงที่เป็นทีมในโซนครึ่งล่างของตารางที่มีเป้าหมายเบื้องต้นคือการหนีตกชั้นให้ได้
แมนฯ ซิตี้ ในยุคเริ่มตกถังข้าวสารต้องไล่ตั้งแต่ช่วงที่ ทักษิณ ชินวัตร เข้าซื้อทีมในปี 2007 ด้วยมูลค่าเพียง 23 ล้านปอนด์ ก่อนขายต่อให้ให้ อาบู ดาบี ยูไนเต็ด กรุ๊ป ฟอร์ ดีเวล็อปเมนต์ แอนด์ อินเวสต์เมนด์ กลุ่มนักลงทุนจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในราคาถึง 150 ล้านปอนด์
ทักษิณ ชินวัตร ส่งไม้ต่อให้ คัลดูน อัล มูบารัค (ขวา)
ในปีที่อดีตนายกรัฐมนตรีชาวไทยเข้าบริหารสโมสร แมนฯ ซิตี้ ได้แข้งใหม่หลายคนย้ายร่วมทีมโดยเฉพาะในวันสุดท้ายของซัมเมอร์ 2008 ที่คว้าตัว โรบินโญ่ กองหน้าทีมชาติบราซิลของ เรอัล มาดริด มาร่วมทีมและเป็นวันเดียวกันที่ขายสโมสรต่อให้กลุ่มนักลงทุนจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
กลุ่มทุนจากยูเออีนำโดย ชีค มานซูร์ บิน ซาเย็ด อัล นาห์ยาน มาพร้อมเม็ดเงินมหาศาล และให้ คัลดูน อัล มูบารัค ทำหน้าที่ประธานบริหาร ก่อนรับตำแหน่งประธานสโมสรในเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบัน
วันนี้เราไปย้อนอดีตดูกันว่าในตลาดหน้าหนาวปี 2009 ที่ แมนฯ ซิตี้ ภายใต้เจ้าของทีมปัจจุบัน ได้ลุยตลาดครั้งแรกหลังเทกโอเวอร์ พวกเขาได้ใครมาร่วมทีมบ้างและสามารถช่วยทีมได้มากแค่ไหน ก่อนที่อีก 13 ปีถัดมาจะถึงคิวของ นิวคาสเซิ่ล กับการลุยตลาดครั้งแรกในยุคเจ้าของทีมคนใหม่...ที่โคตรรวย
∎∎∎
เวย์น บริดจ์ (10 ล้านปอนด์จาก เชลซี)
แบ็กซ้ายดีกรีทีมชาติอังกฤษ ย้ายจาก เชลซี มาร่วมทีม แมนฯ ซิตี้ ด้วยสัญญา 4 ปีครึ่ง หลังจากเริ่มเสียตำแหน่งให้ แอชลี่ย์ โคล ในถิ่นสแตมฟอร์ด บริดจ์
บริดจ์ กลายเป็นตัวหลักในตำแหน่งแบ็กซ้ายของทีมทันทีก่อนลงเล่นไป 22 นัดในครึ่งหลังของฤดูกาล 2008/09 และได้ลงอีก 28 นัดในฤดูกาลต่อมา
ทว่าต้นฤดูกาล 2010/11 โรแบร์โต้ มันชินี่ ก็ไปดึง อเล็กซานดาร์ โคลารอฟ มาจาก ลาซิโอ และปีต่อมาก็มี กาแอล กลิชี่ จาก อาร์เซน่อล เป็นอีกคู่แข่งในตำแหน่งเดียวกัน
บริดจ์ จึงถูกปล่อยยืมตัวไปเล่นให้ เวสต์แฮม, ซันเดอร์แลนด์ และ ไบรท์ตัน ก่อนย้ายขาดด้วยการเซ็นสัญญา 1 ปีย้ายไปร่วมทีม ไบรท์ตัน และแขวนสตั๊ดหลังจบฤดูกาล 2013/14
เคร็ก เบลลามี่ (14 ล้านปอนด์จาก เวสต์แฮม)
เบลลามี่ ถูกดึงเข้ามาเป็นกำลังเสริมในเกมรุกช่วงกลางฤดูกาล เคร็ก เบลลามี่ เปิดตัวได้เยี่ยมด้วยกรทำประตูชัยในเกมประเดิมสนามพาทีมชนะ นิวคาสเซิ่ล 2-1
อย่างไรก็ตาม แข้งความเร็วสูงกลับเจอปัญหาบาดเจ็บเล่นงานทำให้ได้ลงสนามเพียง 8 นัดในช่วง 4 เดือนแรกกับทีมก่อนจบฤดูกาล
ฤดูกาลต่อมาที่เป็นฤดูกาลเต็มๆ กับ แมนฯ ซิตี้ เบลลามี่ มีบทบาทในทีมอย่างมากกับช่วงรอยต่อยุคของ มาร์ค ฮิวจ์ส ถึง โรแบร์โต้ มันชินี่ โดยยิงได้ 11 ประตูจาก 40 นัดในทุกรายการ
ทว่าด้วยปัญหามีปากเสียงกับ มันชินี่ บ่อยครั้งทำให้ถูกปล่อยไปเล่นให้ คาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ ด้วยสัญญายืมตัวในฤดูกาล 2010/11 ก่อนย้ายขาดไปอยู่กับ ลิเวอร์พูล ในอีก 12 เดือนถัดมา
เคร็ก เบลลามี่ (ซ้าย) และ ไนเจล เดอ ย็อง (ขวา)
ไนเจล เดอ ย็อง (16 ล้านปอนด์จาก ฮัมบูร์ก)
ไนเจล เดอ ย็อง เป็นหนึ่งในกองกลางตัวรับสไตล์ดุดันที่หลายทีมต้องการตัวก่อนเป็น แมนฯ ซิตี้ ดึงมาร่วมทีมได้สำเร็จ
เขากลายเป็นแกนหลักในแดนกลางของทัพเรือใบทันทีด้วยการลงสนาไป 16 นัดในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของฤดูกาล 2008/09 พาทีมจบอันดับ 10 ของตาราง
กองกลางทีมชาติฮอลแลนด์ลงเล่นให้ทีมทั้งหมด 137 นัด ก่อนย้ายไป เอซี มิลาน ในปี 2012
เขาคืออีกหนึ่งแข้งสำคัญที่มีส่วนบุกเบิกสร้างความสำเร็จในยุคแรกของทีมที่ได้แชมป์เอฟเอ คัพ ปี 2011 ซึ่งเป็นแชมป์แรกของสโมสรนับตั้งแต่ปี 1975 รวมถึงแชมป์พรีเมียร์ลีกสุดดราม่าในฤดูกาล 2011/12 ที่เป็นแชมป์ลีกสมัยแรกของสโมสรในรอบ 44 ปี
เชย์ กิฟเว่น (5.9 ล้านปอนด์จาก นิวคาสเซิ่ล)
แมนฯ ซิตี้ มี โจ ฮาร์ท ที่กำลังเริ่มสร้างชื่อเป็นมือหนึ่งอยู่แล้วตอนนั้น แต่ก็ดึง เชย์ กิฟเว่น ในวัย 32 ปีเข้ามาเสริมประสบการณ์
นายทวารทีมชาติไอร์แลนด์ สามารถเก็บคลีนชีตและได้ตำแหน่งแมน ออฟ เดอะ แมตช์ ในนัดแรกที่ลงเฝ้าเสาพาทีมชนะ มิดเดิ้ลสโบรซ์ 1-0 โดยได้ลงสนามทั้งหมด 21 นัดในฤดูกาลนั้น
ฤดูกาลต่อมา โจ ฮาร์ท ถูกปล่อยไปเก็บประสบการณ์กับ เบอร์มิงแฮม ทำให้ กิฟเว่น ยึดตำแหน่งมือหนึ่งเต็มตัวและได้เฝ้าเสาทั้งหมด 44 นัด
แม้ทำผลงานได้ดี แต่ฤดูกาล 2010/11 โรแบร์โต้ มันชินี่ ก็เลือกให้ โจ ฮาร์ท เป็นมือหนึ่งของทีมทำให้ กิฟเว่น ไม่ได้ลงเล่นในลีกเลยตลอดฤดูกาลดังกล่าว และสุดท้ายย้ายออกไปร่วมทีม แอสตัน วิลล่า ในปี 2011
4 แข้งใหม่ในตลาดรอบแรกของ แมนฯ ซิตี้ ยุคอาบูดาบี รวมถึงอีกหลายคนที่ย้ายมาตั้งแต่ยุคทักษิณ พาทีมจบอันดับ 10 ของตาราง ยังไม่พุ่งทะยานอย่างที่ต้องการมากนักทำให้ตลาดรอบต่อมาคือซัมเมอร์ 2009 พวกเขาจัดหนักมากขึ้นด้วยผู้เล่นอย่าง คาร์ลอส เตเวซ, เอ็มมานูเอล อเดบายอร์, โคโล่ ตูเร่, โจลีออน เลสค็อตต์, แกเร็ธ แบร์รี่, โรเก้ ซานตา ครูซ และ ซิลวินโญ่ จนอันดับพุ่งขึ้นมาจบที่ 5 ของตาราง ได้ไปเล่นฟุตบอลถ้วยยุโรปสมใจ
จากนั้้น แมนฯ ซิตี้ ภายใต้การนำของ คัลดูน อัล มูบารัค ก็เดินหน้าเต็มตัวด้วยตำแหน่งแชมป์พรีเมียร์ลีก 5 สมัย, แชมป์เอฟเอ คัพ 2 สมัย, แชมป์ลีก คัพ 6 สมัย และคอมมิวนิตี้ ชิลด์ 3 สมัย
ขาดก็เพียงตำแหน่งแชมป์ยุโรปที่เป็นเป้าหมายสูงสุดและทำได้เพียงแค่ "รองแชมป์" ในฤดูกาลล่าสุดหลังผ่านเข้าชิงชนะเลิศเป็นครั้งแรก
คอลัมน์กีฬาบทความกีฬาต่างๆโดยนักวิเคราะห์ GURUชั้นนำของไทย มีให้ท่านได้เสพทุกวันที่เว็บไซต์ TH SPORT