:::     :::

'ดีแคลน ไรซ์' จิ๊กซอว์ร้อยล้านปอนด์ของปืนใหญ่ (1)

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
หากไม่มีอะไรผิดพลาด ดีแคลน ไรซ์ จะกลายเป็นผู้เล่นใหม่ของ อาร์เซน่อล อย่างเป็นทางการด้วยค่าตัวสูงสุดในประวัติศาสตร์ของสโมสร

ดีแคลน ไรซ์ ตกเป็นเป้าหมายอันดับหนึ่งในการเสริมทัพของปืนใหญ่ประจำตลาดซัมเมอร์นี้ และเป็นผู้เล่นที่ มิเกล อาร์เตต้า กาหัวเอาไว้ด้วยความตั้งใจอย่างแรงกล้าว่าต้องดึงร่วมทีมให้ได้

ความพยายามยื่นข้อเสนอหลายต่อหลายครั้งเหมือนจะไม่เป็นผล แถมมี แมนเชสเตอร์ ซิตี้ กระโดดร่วงวงประมูลด้วย 

แต่ท้ายที่สุด อาร์เซน่อล ยอมกัดฟันทุ่มข้อเสนอรอบสามถึงหลัก 100 ล้านปอนด์พ่วงโบนัสอีก 5 ล้านปอนด์ซึ่งเป็นจำนวนมากพอที่ เวสต์แฮม ต้องผงกหัวยอมรับ ขณะเดียวกันก็เป็นตัวเลขที่ แมนฯ ซิตี้ มองว่าสูงเกินไป และถอนตัวไม่เอาด้วย 

แม้ยังมีรายละเอียดอีกเล็กน้อยในเรื่องการแบ่งจ่ายเงินที่ต้องตกลงกันให้ได้ แต่หลายฝ่ายก็เชื่อว่าน่าจะหาจุดลงตัวพบกันครึ่งทางได้สำเร็จ ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการเซ็นสัญญาย้ายทีมอย่างเป็นทางการ

อาร์เซน่อล กับการซื้อนักเตะหนึ่งคนในราคา 100+5 ล้านปอนด์ ไม่เพียงแต่เป็นสถิติใหม่สโมสรเท่านั้น แต่ยังเป็นการแสดงเห็นความทะเยอะทะยานในการเสริมทัพ 

ย้อนในตลาดหน้าหนาวเดือนมกราคมที่ผ่านมา อาร์เซน่อล พยายามดึง มิไคโล มูดริค และ มอยเซส ไกเซโด้ มาร่วมทีม แต่พอถูกโก่งราคามากเกินไปก็ตัดสินใจถอนตัวไปใช้แผนสองดึง เลอันโดร ทรอสซาร์ และ จอร์จินโญ่ มาแทน


แต่สำหรับรายของ ไรซ์ ที่พา เวสต์แฮม คว้าแชมป์ยูโรปา คอนเฟอเรนซ์ ลีกในฤดูกาลที่แล้ว อาร์เซน่อล สู้สุดตัวและยอมทุ่มเงินเกินกว่าที่ประเมินราคาเอาไว้เป็นอย่างมาก 

ปืนใหญ่พลาดแชมป์พรีเมียร์ลีกอย่างน่าเสียดายในฤดูกาลที่แล้ว การคว้า ดีแคลน ไรซ์ ให้ได้จึงเป็นการเพิ่มความแข็งแกร่งให้ทีมมากยิ่งขึ้น และเป็นการดึงผู้เล่นคุณภาพระดับสูงที่พิสูจน์ตัวเองในพรีเมียร์ลีกหลายปีมาร่วมทีมซึ่งน่าจะเยียวยาความรู้สึกเจ็บปวดของแฟนบอลที่ผิดหวังกับตำแหน่งแชมป์ได้ไม่มากก็น้อย

ที่สำคัญ การเสริมทัพครั้งนี้ยังเป็นการส่งสัญญาณเตือนอย่างตรงไปตรงมาถึง แมนเชสเตอร์ ซิตี้ และทุกทีมในกลุ่มนำว่า อาร์เซน่อล พร้อมที่จะท้าทายและแย่งแชมป์อีกครั้งในฤดูกาลหน้า 

---

ดีแคลน ไรซ์ มีคุณภาพมากเพียงใด และจะเพิ่มความแข็งแกร่งให้ อาร์เซน่อล ได้อย่างไร อย่างแรกที่ควรพูดถึงก่อนคือ สภาพร่างกายและความต่อเนื่องในการลงสนาม 

ไมใช่แค่ฤดูกาลก่อนที่ อาร์เซน่อล ต้องอกหักเพราะผู้เล่นตัวหลักบาดเจ็บในช่วงเวลาสำคัญ แต่ในอดีต ปัญหาเดียวกันนี้ก็เคยขัดขวางไม่ให้ปืนใหญ่ไปถึงฝั่งฝันในหลายฤดูกาล 

ดังนั้นการได้ผู้เล่นที่สภาพร่างกายสมบูรณ์ และแทบไม่มีปัญหาบาดเจ็บมาร่วมทีมจึงกลายเป็นอีกคุณสมบัติที่มีความสำคัญไม่แพ้จุดเด่นอื่นเหมือนกับที่มีสำนวนว่า "the best ability is availability"..."ความสามารถที่ดีสุดก็คือความพร้อมที่สุด"

นับตั้งแต่ขึ้นชุดใหญ่เต็มตัวให้ เวสต์แฮม ในฤดูกาล 2017/18 ที่ได้ลงตัวจริงพรีเมียร์ลีก 15 นัด อีก 5 ฤดูกาลถัดมา ไรซ์ ลงเล่นเกิน 80 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนนาทีทั้งหมดในแต่ละฤดูกาล 


สถิติการลงเล่นในพรีเมียร์ลีกของ ดีแคลน ไรซ์

ในฤดูกาล 2019/20 ที่โควิดระบาดจนต้องหยุดการแข่งขันระหว่างฤดูกาล ทุกคนและทุกสโมสรล้วนได้รับผลกระทบถ้วนหน้า ทว่า ไรซ์ กลับเป็นเพียงไม่กี่คนที่ลงเล่นในพรีเมียร์ลีกครบ "ทุกนาที" ไม่มีพลาดเลย 

ตลอด 5 ฤดูกาลหลังสุด ไรซ์ พลาดลงสนามเพราะอาการบาดเจ็บเพียง "ครั้งเดียว" ซึ่งเกิดขึ้นในเดือนเมษายนปี 2021 ที่เจ็บจากการเล่นให้ทีมชาติอังกฤษจนต้องพักไป 4 สัปดาห์ 

นับตั้งแต่ฤดูกาล 2017/18 เป็นต้นมา ไรซ์ ลงเล่นพรีเมียร์ลีกรวม 15,753 นาที มากสุดอันดับสองของผู้เล่นเอาต์ฟิลด์ทั้งหมดเป็นรองเพียง เจมส์ ทาร์คอฟสกี้ คนเดียวที่ลงเล่นมากกว่า (16,274 นาที)  

ไรซ์ ลงสนามให้ เวสต์แฮม ไปแล้วทั้งหมด 245 นัด เป็นการเล่นพรีเมียร์ลีก 204 นัด (ตัวจริง 190 นัด) และลงเล่นให้ทีมชาติอังกกฤษ 43 นัดนับตั้งแต่ประเดิมติดธงในปี 2019 

เห็นได้ชัดว่าสภาพร่างกายของ ไรซ์ แข็งแกร่งมากทำให้ยืนระยะได้อย่างต่อเนื่องทั้งที่ตามตำแหน่งกองกลางแล้วต้องปะทะคู่แข่งบ่อยครั้ง และเสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บได้ง่าย

แม้ะไม่มีอะไรรับประกันว่า ไรซ์ จะแข็งแกร่งเหมือนเดิมแน่นอนหลังย้ายมา อาร์เซน่อล แต่นั่นก็คือเรื่องอนาคตที่อะไรก็เกิดขึ้นได้ และยังไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลในตอนนี้ 

ทีนี้มาว่ากันถึงคุณสมบัติแรกของกองกลางทีมชาติอังกฤษที่ต้องวิเคราะเจาะลึกนั่นคือเรื่อง "เกมรับ" 

มีความเป็นไปได้สูงที่ ดีแคลน ไรซ์ จะเข้ามามาเล่นในตำแหน่ง "โฮลดิ้งมิดฟิลด์" ซึ่งเป็นแกนหลักสำคัญตรงกลางสนามแบบที่ โธมัส ปาร์เตย์ เล่นในฤดูกาลที่แล้ว ทว่ามีโอกาสย้ายออกไปในซัมเมอร์นี้ 


ไรซ์ ตัดบอลได้มากสุดในลีกฤดูกาลที่แล้ว

ในฤดูกาลล่าสุด ไรซ์ มีสถิติตัดบอล (Interceptions) มากสุดในพรีเมียร์ลีกที่ 63 ครั้ง รองลงมาคือ มอยเซส ไกเซโด้ (ไบรท์ตัน), ชีค ดูกูเร่ (คริสตัล พาเลซ) และ อีดริสซ่า กาน่า เกย์ (เอฟเวอร์ตัน) ที่ 56 ครั้งเท่ากัน

ส่วนการเข้าแท็กเกิ้ล ไรซ์ อยู่เพียงอันดับ 9 ที่จำนวน 79 ครั้ง ขณะที่อันดับหนึ่งคือ ชูเอา ปาลินญ่า ของ ฟูแล่ม 147 ครั้ง ตามด้วย มอยเซส ไกเซโด้ 100 ครั้ง

สถิติที่ค่อนข้างห่างกันระหว่าง ไรซ์ กับ ปาลินญ่า ดิ แอธเลติก สื่อดังอธิบายเหตุผลสำคัญคือสไตล์การเล่นของ เวสต์แฮม ยุค เดวิด มอยส์ ที่ไม่ได้เน้นให้ลูกทีมต้องวิ่งเข้าปะทะทันทีในเวลาที่ไม่ได้ครองบอล 

การเล่นของ ไรซ์ จะเป็นสไตล์รอจังหวะและเวลาที่เหมาะสม ไม่พรวดเข้าจังหวะแรกที่อาจเสียฟาวล์ได้ง่าย เขาเลือกเล่นในสถานการณ์ที่มองว่าถูกต้องที่สุด นั่นทำให้มีสถิติเสียฟาวล์เพียง 0.6 ครั้งต่อนัด ซึ่งรั้งอันดับ 193 ของลีกในฤดูกาลล่าสุด

ตรงนี้สอดคล้องกับสถิติการแทกเกิ้ลที่แท้จริง (True tackles) ที่ 4.2 ครั้งต่อการสัมผัสบอล 1,000 ครั้งของคู่แข่ง ซึ่งอยู่อันดับ 62 จากผู้เล่นในตำแหน่งกองกลาง 69 คนในพรีเมียร์ลีก

จำนวนครั้งในการแท็กเกิ้ลจริงจังของ ไรซ์ อยู่อันดับท้ายๆ ในบรรดากองกลางด้วยกัน แต่เปอร์เซ็นต์ชนะกลับมากสุดที่ 70 เปอร์เซ็นต์ 

วิธีการเล่นเกมรับของ ไรซ์ เพื่อหยุดเกมรุกคู่แข่งมีตัวอย่างชัดเจนในเกมที่ เวสต์แฮม พบ เบรนท์ฟอร์ด จากสถานการณ์ที่ผู้เล่นผึ้งน้อยกำลังจะได้โต้กลับ


ไรซ์ สามารถวิ่งเข้าแท็กเกิ้ล ไบรอัน เอ็มเบรโม่ ได้ตั้งแต่แดนของ เบรนท์ฟอร์ด แต่เขาเลือกวิ่งชะลอเล็กน้อยเพราะประเมินว่าถ้าเข้าชนทีแรกแล้วพลาดจะทำให้ทีมเสียเปรียบทันทีจากการที่เพื่อนร่วมทีมจะเหลือเพียง 2 คน และต้องรับมือกับคู่แข่ง 3 คน

กองกลางทีมชาติอังกฤษเลือกวิ่งประคองระยะหนึ่งพร้อมบีบให้ เอ็มเบรโม่ ต้องเลี้ยงไปในพื้นที่มีผู้เล่นเวสต์แฮมอีก 2 คนวิ่งขวางหน้าอยู่และสามารถคอยซ้อนได้ดีกว่าหากปล่อยให้ เอ็มเบรโม่ ได้โยกขึ้นอีกทาง (ทางขวา) และเมื่อได้จังหวะ ไรซ์ ก็พุ่งแหย่เท้าขวางได้อย่างแม่นยำ สามารถเอาบอลกลับมาครองและเปลี่ยนจากรับเป็นรุกได้ทันที 

เป็นการเล่นที่เหมือนง่าย แต่แสดงให้เห็นถึงความฉลาดในการอ่านเกม และเลือกจังหวะเวลาในการเข้าแย่งบอลได้ถูกต้อง 

จุดที่น่าสนใจคือ ดีแคลน ไรซ์ อาจต้องเข้าตัดบอลหรือแท็กเกิ้ลในจังหวะแรกบ่อยขึ้นกับการย้ายมาเล่นให้ อาร์เซน่อล ซึ่งเป็นทีมที่เน้นครองบอลและบุกใส่คู่แข่งมากกว่า เวสต์แฮม 

ไรซ์ ไม่สามารถรอจังหวะได้นานแบบเดิมเพราะจะเป็นการเปิดโอกาสให้คู่แข่งได้พาบอลเข้าในแดนของทีมมากขึ้น แต่เพื่อนร่วมทีมหลายคนอาจยังค้างอยู่ในแดนคู่แข่ง ดังนั้นถ้าตัดได้ก็ต้องตัด และรีบเล่นตั้งแต่จังหวะแรกที่มีโอกาส มันเหมือนกับการเล่นเพรสซิ่งสูงตั้งแต่แดนบน 

ไรซ์ ทำได้ดีเพียงใดกับการไล่บอลและตัดเกมตั้งแต่แดนคู่แข่ง คำตอบคือ "ได้" ไม่มีปัญหาเลย

ตัวอย่างไม่ใช่เกมอื่นใดแต่เป็นเกมที่ เวสต์แฮม ไล่ตีเสมอ อาร์เซน่อล 2-2 ในท้ายฤดูกาลซึ่งเป็นหนึ่งในเกมที่ปืนใหญ่ทำคะแนนตกหล่นจนถูก แมนฯ ซิตี้ แซงคว้าแชมป์ได้ในที่สุด 


ฉกบอลจาก ปาร์เตย์ ก่อนนำไปสู่จุดโทษ

กองกลางกัปตันทีมขุนค้อนเล่นได้เด่นมากในเกมดังกล่าวที่สามารถเก็บบอลกลับมาครองได้ถึง 11 ครั้ง และเป็นการเข้าแท็กเกิ้ลและตัดบอลรวม 8 ครั้ง มากที่สุดในสนามทั้งสองสถิติ และหนึ่งในนั้นเป็นที่มาของประตูตีไข่แตกที่ปลุกความหวังของทีมจนตามตีเสมอได้

ตั้งแต่เริ่มเกมจะเห็นได้ว่า ไรซ์ อ่านเกมของ อาร์เซน่อล ตลอด และปรี่เข้าหา โธมัส ปาร์เตย์ บริเวณหน้าเขตโทษตั้งแต่วินาทีแรกๆ เขาทำบ่อยครั้งจนสามารถฉกบอลจาก ปาร์เตย์ ได้แล้วพาบอลจี้เข้าเขตโทษก่อนจ่ายให้ ลูคัส ปาเกต้า เรียกฟาวล์กลายเป็นจุดโทษประตู 2-1 

ตลอดฤดูกาลที่แล้ว ดีแคลน ไรซ์ เอาบอลกลับมาครอง (Possession won) ได้มากถึง 334 ครั้ง มากสุดในพรีเมียร์ลีก และเหนือกว่า โรดรี้ ที่ทำได้ 301 ครั้ง 


ย้อนไปในฤดูกาล 2017/18 ไรซ์ แย่งบอลกลับมาครองได้เพียง 4.6 ครั้งต่อนัด ก่อนขยับขึ้นเป็น 8.6 ครั้งต่อนัดในฤดูกาลต่อมา และสถิติ 334 ครั้งในฤดูกาลล่าสุดก็คิดเป็น 9.2 ครั้งต่อนัด เรียกได้ว่ายิ่งมีประสบการณ์ก็ยิ่งช่ำชองมากขึ้น 

นอกจากนี้ ไรซ์ ถูกคู่แข่งเลี้ยงผ่านเพียงแค่ 20 ครั้งในฤดูกาลที่แล้ว หรือเฉลี่ยเพียง 0.6 ครั้งต่อ 90 นาที เป็นสถิติน้อยสุดในลีก และเหนือกว่า ไกเซโด้ (0.8 ครั้ง), โรดรี้ และ บรูโน่ กิมาไรส์ (0.9 ครั้งเท่ากัน), ปาร์เตย์ (1.0), กาน่า เกย์ (1.1), ฟาบินโญ่ (1.3), ชูเอา ปาลินญ่า (2.0) และ กาเซมีโร่ (2.1)

การดวลตัวต่อตัวกับคู่แข่ง (duel) ของบรรดากองกลางที่ดวลตัวต่อตัวอย่างน้อย 200 ครั้งขึ้นไป ไรซ์ มีสถิติชนะ 58.6 เปอร์เซ็นต์ และมีเพียง แจ็ค กรีลิช, กาน่า เกย์, ปาลินญ่า และ ปาร์เตย์ ที่ดีกว่า 

เห็นได้ชัดเลยว่า ไรซ์ ไม่ใช่ผู้เล่นที่ใครจะพาบอลผ่านได้ง่ายๆ เขาเชี่ยวชาญอย่างมากในการตัดบอลและเอาบอลกลับมาครอง แถมเสียฟาวล์น้อยครั้งด้วย 

นี่คือจุดเด่นในเรื่องเกมรับที่ มิเกล อาร์เตต้า มองว่าการทุ่มทุนมโหฬารในครั้งนี้ของ อาร์เซน่อล เป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อทำให้ทีมแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

แต่กับการเล่นให้ อาร์เซน่อล ที่เน้นเกมรุกเป็นหลัก ดีแคลน ไรซ์ จะทำได้ดีเพียงใด รวมถึงบทบาทความเป็นผู้นำที่มีประโยชน์แน่นอนต่อทีมพลังหนุ่มของปืนใหญ่ โปรดรอติดตามต่อในตอนที่ 2  



คอลัมน์กีฬาบทความกีฬาต่างๆโดยนักวิเคราะห์ GURUชั้นนำของไทย มีให้ท่านได้เสพทุกวันที่เว็บไซต์ TH SPORT

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด