ไทยลีก จัดประชุมร่วมกับสโมสรไทยลีก 3 เพื่อแจ้งมาตรการแข่งขันแบบปิด ในรายการออมสิน ลีก เนชั่นนัล แชมเปี้ยนชิพ (แชมเปี้ยนส์ลีกเดิม) หลังจากได้รับอนุมัติจากศบค. ซึ่งจะมีการจับสลากแบ่งสาย ในวันที่ 28 มกราคม และจะเริ่มในวันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ โดยกำหนดการแข่งขันแต่ละนัด จะมีการแจ้งให้ทราบอีกครั้ง
ณ ห้องประชุม บริษัท ไทยลีก จำกัด ได้จัดประชุมสโมสรไทยลีก 3 ขึ้น โดยมี วรงค์ ทิวทัศน์ เลขานุการฝ่ายจัดการแข่งขัน บริษัท ไทยลีก จำกัด เป็นประธาน พร้อมด้วยตัวแทนสโมสรสมาชิก และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม โดยในการประชุมมีสาระสำคัญดังนี้
1. กำหนดการแข่งขัน
1.1. 4 สโมสรจากไทยลีก 3 ได้แก่ เมืองเลย ยูไนเต็ด, อุดร ยูไนเต็ด, สงขลา เอฟซี และ เมืองกาญจน์ ยูไนเต็ด จะเริ่มกลับมาแข่งขัน ด้วยรายการ ช้าง เอฟเอ คัพ รอบ 16 ทีมสุดท้าย วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564
1.2. ไทยลีก 3 จะเริ่มแข่งขันรอบออมสิน ลีก เนชั่นนัล แชมเปี้ยนชิพ ในวันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ 2564 และสิ้นสุดรอบแบ่งกลุ่ม วันที่ 6-7 มีนาคม 2564
1.3. ส่วนรอบชิงชนะเลิศ และชิงอันดับ 3 จะเริ่มแข่งนัดแรกวันที่ 13-14 มีนาคม 2564 และนัดที่ 2 วันที่ 20-21 มีนาคม 2564
1.4. ในเบื้องต้น ศบค. ยังไม่อนุญาตให้จัดการแข่งขัน สำหรับสโมสรที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 5 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด และสมุทรสาคร ด้วยเหตุนี้ สโมสรที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว จำเป็นต้องหาสนามแข่งขันสนามกลางไว้เป็นการสำรอง จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงจากทางภาครัฐ
2. มาตราการตรวจหาเชื้อโควิด-19
2.1. นักกีฬาและเจ้าหน้าที่ ต้องผ่านการตรวจเชื้อโควิด-19 ทุกเดือน และต้องทราบผลก่อนการแข่งขันเริ่มต้น รวมถึงใช้แอพพลิเคชัน หมอชนะ หากพบผู้ติดเชื้อ ให้แจ้งหน่วยงานสาธารณสุขที่รับผิดชอบและดำเนินการควบคุมโรค
2.2 จากการที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีบุคลากรไม่เพียงพอต่อการตรวจเชื้อนักกีฬา หลังจากเกิดการระบาดระลอกใหม่ เนื่องจากต้องตรวจให้แก่บุคคลทั่วไปด้วยเช่นกัน จึงขอความร่วมมือให้สโมสรติดต่อโรงพยาบาลในพื้นที่ หรือหาเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ที่มีความรู้ความสามารถ เพื่อเก็บตัวอย่าง ในการตรวจแบบ RT-PCR
2.3. โดยสโมสร สามารถรับชุดตรวจ ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์ประจำภูมิภาค และให้โรงพยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่สโมสรทำการประสาน มาเก็บตัวอย่าง ก่อนจะส่งให้ศูนย์วิทยาศาสตร์ประจำภูมิภาค ทำการตรวจต่อไป
2.4. หากมีสโมสรที่ผ่านเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายของการแข่งขันช้าง เอฟเอ คัพ จะมีการตรวจเชื้ออีกครั้งในเดือนมีนาคม
3. ข้อปฏิบัติในการแข่งขัน
3.1. ไทยลีก และสโมสรส่งรายชื่อนักกีฬา และเจ้าหน้าที่ ที่จะทำการแข่งขัน ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อส่งต่อกระทรวงมหาดไทย และประสานต่อไปยังจังหวัด ในการขออนุญาตให้มีการแข่งขัน และเอกสารรับรองการเดินทางข้ามจังหวัด
3.2. ผู้จัดการแข่งขัน จัดการแข่งขันตามคู่มือจัดการแข่งขันฟุตบอลแบบปิด จัดจุดคัดกรอง รวมถึงมีการเว้นระยะห่างในชัดเจน โดยไทยลีก จะขอให้มีการดูแลมาตรการให้เข้มข้นขึ้น และให้มีการใช้แอพพลิเคชั่น ไทยชนะ และ สปิริต
3.3. ลดจำนวนผู้เกี่ยวข้องที่อยู่ในสนามไม่เกิน 150-180 คน โดยแบ่งจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรม ออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ นักกีฬา, พนักงานจัดกิจกรรม, สื่อและถ่ายทอดสด และ VIP
4. การเดินทางและที่พัก
4.1. จำกัดการเดินทางเฉพาะจุดหมายที่จำเป็น และลดการเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง/ชุมชน
4.2. สำหรับการเดินทางโดยรถบัสส่วนตัว ในจังหวัดที่ระยะทางไม่ไกลมาก ให้เดินทางจากจุด A (ภูมิลำเนา) ไปถึงจุด B (สนามแข่งขัน / โรงแรม / สนามฝึกซ้อม) เป็นหมู่คณะ ทั้งไปและกลับ
4.3. หากต้องเดินทางโดยเครื่องบิน ให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด หลีกเลี่ยงการรับประทานในระหว่างโดยสาร หรืออยู่ในสนามบิน รักษาระยะห่างกับบุคคลอื่นๆ นอกเหนือหมู่คณะของตนเอง
4.4. สโมสรเจ้าบ้าน จะอำนวยความสะดวก ในการประสานงาน จัดหาโรงแรมภายในจังหวัด ให้แก่ทีมเยือนได้เลือก อย่างน้อย 2 โรงแรม โดยโรงแรมจะต้องสามารถแยกสัดส่วน ระหว่างแขกทั่วไป และทีมเยือนได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ ทีมเยือนจะต้องงดใช้พื้นที่ส่วนกลางของโรงแรม ในทุกกรณี
5. มาตรการป้องกันตัวเอง
5.1. ศบค. เข้าใจว่าการทำบับเบิลแบบเต็มรูปแบบกับฟุตบอลลีก สามารถทำได้ยาก จึงอนุญาตให้นักกีฬาและเจ้าหน้าที่ทีมสามารถพักในที่พักของตนเองได้หลังจากแข่งขันเสร็จ แต่หากมีสโมสรใดสามารถทำการกักตัวทีมเป็นหมู่คณะ ก็สามารถทำได้ เพื่อป้องกันการรับเชื้อจากปัจจัยภายนอก
5.2. สำหรับนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ให้หลีกเลี่ยงไปพื้นที่เสี่ยง หรือสถานที่ที่มีการรวมตัวกันของคนหมู่มาก สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือทำความสะอาด รักษาระยะห่าง และให้เฝ้าระวังอาการ ตรวจวัดอุณหภูมิอย่างสม่ำเสมอ โดยอาจพิจารณาการแยกกลุ่มซ้อม (Small Side Training) เพื่อแยกระดับความเสี่ยงในทีม