ที่สำนักงานบริษัท ไทยลีก จำกัด อาคารจิตต์อุทัย ชั้น 14 ถนนรามคำแหง บางกะปิ กรุงเทพฯ มร.เคียฟ ซาเมธ ประธานสหพันธ์ฟุตบอลอาเซียน พร้อมด้วย วินส์ตัน ลี เลขาธิการ เข้าเยี่ยมชมเพื่อศึกษาการใช้ระบบปฏิบัติการ VAR (Video Assistant Referee) ของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ โดยมี นาย พาทิศ ศุภะพงษ์ เลขาธิการสมาคม, นาย อดิศักดิ์ เบ็ญจศิริวรรณ อุปนายกสมาคมฯ ฝ่ายพัฒนาฟุตซอลและฟุตบอลชายหาด และ นาย ธนศักดิ์ สุระประเสริฐ สภากรรมการ ให้การต้อนรับ
ประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกและประเทศเดียวในภูมิภาคอาเซียน ที่นำเทคโนโลยี VAR (Video Assistant Referee) มาใช้งานในการแข่งขันฟุตบอลลีกภายในประเทศ
สำหรับ สหพันธ์ฟุตบอลอาเซียน มีนโยบายที่จะนำ VAR ไปใช้ในการช่วยเหลือผู้ตัดสิน ในการทำหน้าที่ในการแข่งขันฟุตบอลในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะในการแข่งขันฟุตบอล AFF Suzuki Cup 2022 ที่จะมีขึ้นในช่วงปลายปีนี้
โดย นายพาทิศ ศุภะพงษ์ เลขาธิการสมาคมฯ เปิดเผยว่า “สมาคมฯ มีความยินดีที่ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลให้กับ AFF ในวันนี้ หลังจากที่เขาสนใจนำ VAR มาใช้ในรายการระดับภูมิภาค”
“โดยเฉพาะรูปแบบการแข่งขันที่เป็นเอกลักษณ์อย่างซูซูกิคัพ นั้น เป็นระบบเหย้าและเยือน ความพร้อมของทุกๆ สนามเหย้าจึงเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งเทคโนโลยี และบุคลากร ที่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการตรวจและอบรมขอใบอนุญาตจากฟีฟ่า ซึ่งใช้เวลาพอสมควร โดยในฟุตบอลไทยเองก็สามารถทำได้เพียงระดับไทยลีก 1 ต่างกับฟุตบอลถ้วยไม่ใช่ทุกสนามเหย้าสามารถมี VAR ได้ ก็ต้องนำมาใช้ในรอบรองและชิงชนะเลิศแทนเพราะจัดในสนามกลาง หรือแม้กระทั่งฟุตบอลระดับทวีปอย่าง AFC ก็นำ VAR มาใช้ในรอบท้ายๆเช่นกัน เพราะจำนวนบุคลากรที่ยังมีจำกัด”
ด้าน นายฉัตริน มงคลศิริ รักษาการหัวหน้าฝ่ายพัฒนาผู้ตัดสินสมาคมฯ เปิดเผยว่า "ผมในฐานะตัวแทนของฝ่ายพัฒนาผู้ตัดสิน สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ให้การต้อนรับ เคียฟ ซาเมธ ประธานสหพันธ์ฟุตบอลอาเซียน และ วินส์ตัน ลี เลขาธิการ ที่เดินทางมาประเทศไทยในครั้งนี้"
"แน่นอนว่า ทางสมาคมฯ พร้อมที่จะให้คำแนะนำและช่วยเหลือ AFF อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะรายละเอียดของการจัดการอบรมของการพัฒนาผู้ตัดสิน รวมไปถึงขั้นตอนการนำ VAR ไปใช้ในการแข่งขัน"
"สำหรับ ประเทศไทย ณ ตอนนี้มีผู้ตัดสินที่ทำหน้าที่ VAR จำนวน 47 คน โดยแบ่งเป็น ผู้ตัดสิน จำนวน 23 คน และ ผู้ช่วยผู้ตัดสิน AVAR อีกจำนวน 24 คน นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ควบคุมเครื่อง (RO) อีกจำนวน 12 คน ที่สามารถทำหน้าที่ได้ในตอนนี้ ทุกคนต้องผ่านการฝึกอบรมและมีใบอนุญาตจาก คณะกรรมการสมาคมฟุตบอลระหว่างประเทศ หรือ ไอเอฟเอบี (IFAB) (International Football Association Board) และ ฟีฟ่า"
"วันนี้ทาง AFF ได้ปรึกษาในเรื่องของขั้นตอนการใช้อุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงขึ้นตอนการพัฒนาบุคลากรทั้งหมด อย่างในส่วนของอุปกรณ์ เราก็ต้องประสานงานกับบริษัทที่ให้บริการระบบ VAR และ ฟีฟ่า เพื่อขออนุมัติในการใช้อุปกรณ์ ที่ถูกต้องตามที่ฟีฟ่ากำหนดไว้"
"ในส่วนของบุคลากรเอง เราใช้เวลา 1 ปี เต็ม ในการอบรมผู้ตัดสินและได้ไลเซนส์ จากไอเอฟเอบี (IFAB) และฟีฟ่า จึงสามารถทำหน้าที่ในห้อง VAR ได้ ซึ่งเราต้องอบรม ทั้ง ภาคทฤษฏี รวมถึง ภาคปฏิบัติ มีการจำลองและการทดลองปฏิบัติหน้าที่จริง เพื่อให้ทุกคนสามารถทำหน้าที่ได้ ไม่ว่าจะผู้ตัดสินในสนาม หรือ ผู้ตัดสินในห้อง VAR เป็นต้น"