นายกสมาคมฯ เป็นประธานประชุมคณะทำงานวางแผนสร้างศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติ หลังลงพื้นที่สำรวจที่สมุทรปราการ
วันที่ 25 ตุลาคม 2566 เวลา 11.30 น. ณ ห้องประชุมชั้น 2 House of Thai Football พล.ต.อ.ดร.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมฯ เป็นประธานการประชุมคณะทำงานการก่อสร้างศูนย์ฝึกกีฬาฟุตบอลแห่งชาติ ครบวงจร หลังลงสำรวจพื้นที่ที่จะใช้ในการก่อสร้างศูนย์ฝึก ที่จังหวัดสมุทรปราการ
ด้วย สมาพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ได้ให้การสนับสนุนด้านงบประมาณ และกรมพลศึกษาได้อนุญาตให้สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ใช้พื้นที่เพื่อก่อสร้างศูนย์ฝึกกีฬาฟุตบอลแห่งชาติ ครบวงจร เพื่อส่งเสริมพัฒนาและสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ของนักฟุตบอลทีมชาติไทย ทั้งชายและหญิง ฟุตซอล ฟุตบอลชายหาด ทุกรุ่นอายุ
สำหรับการประชุมครั้งนี้ นำโดย พล.ต.อ.ดร.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมฯ พร้อมด้วย นายยุทธนา หยิมการุณ อุปนายกสมาคมฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการการก่อสร้างศูนย์ฝึกฯ, นาย ธนะศักดิ์ สุระประเสริฐ อุปนายกสมาคมฯ และ เจ้าหน้าที่สมาคมฯ ที่เกี่ยวข้อง
ภายหลังการประชุม ยุทธนา หยิมการุณ ประธานคณะกรรมการการก่อสร้างศูนย์ฝึกฯ เปิดเผยว่า "วันนี้ก็เป็นการประชุมรับมอบนโยบายจากพล.ต.อ.ดร.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมฯ หลัจากที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วคณะทำงาน รวมถึง กรมพลศึกษา ได้มีโอกาสไปลงสำรวจพื้นที่สำหรับการก่อสร้างศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติ ซึ่งหลังจากที่ได้เห็นพื้นที่แล้ว เราก็ต้องลงมือเดินหน้าต่อทันที ในการวางแผน เพื่อให้ ศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติ แห่งนี้ เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุดตามเป้าหมายที่เราวางเอาไว้คือ 2 ปี"
"โดยการประชุมครั้งนี้ก็คือการวางกรอบและแบ่งงานกันอย่างชัดเจน ซึ่งสมาคมเองได้แต่งตั้งบุคลากรแต่ละฝ่ายเข้ามาทำหน้าที่ในแต่ละด้านเพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การประสานงานกับองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภายในประเทศและฟีฟ่า วันนี้ก็ได้มอบหมายหน้าที่ต่างๆ ให้ทุกคนเดินหน้าต่อไปทันที"
"ผมในฐานะประธานของคณะทำงาน ก็พร้อมพูดคุยและติดตาม เรื่องต่างๆ เพื่อให้ทุกอย่างดำเนินการไปอย่างราบรื่น และเป็นรูปธรรมภายใน 2 ปี สำหรับศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติแห่งนี้ เราไม่ได้มองถึงแค่การให้ทีมชาติทุกชุดใช้งานเท่านั้น แต่ยังมีภาคส่วนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาฟุตบอลระดับรากหญ้า, การพัฒนาผู้ฝึกสอน รวมถึงการพัฒนาผู้ตัดสิน ที่ต้องดำเนินการไปควบคู่กันไป เราก็ต้องมองถึงตรงนี้ เพราะผมเชื่อว่าหากเรามีรากฐานที่มั่นคงอย่างการมีศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติ มันก็จะช่วยให้เรามีความแข็งแกร่งในระดับสูงเพื่อต่อยอดไปสู่ฟุตบอลระดับสูงต่อไป"
โดย โครงสร้างหลักๆ ของศูนย์ฝึกฟุตบอล จะประกอบด้วย 1. อาคารสำนักงานและที่พักสำหรับนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ 2. สนามฟุตบอลหลัก 1 สนาม ใช้สำหรับการอุ่นเครื่อง 3.สนามซ้อม ไม่น้อยกว่า 4-6 สนาม 4.ทางเข้า-ออก และพื้นที่สาธารณะ 5. สนามฟุตซอลในร่มและกลางแจ้ง 6. สนามฟุตบอลชายหาด 7. ศูนย์พัฒนาศักยภาพ (ทางเลือก) 8.การรักษาพยาบาลและฟื้นฟูร่างกาย และ 9.ที่จอดรถ
สำหรับ โครงการก่อสร้างศูนย์ฝึกกีฬาฟุตบอลแห่งชาติ ครบวงจร จะใช้งบประมาณในการก่อสร้างจากฟีฟ่า ตามโครงการ FIFA Forward 3.0 โดย กรมพลศึกษา อนุญาตให้สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ใช้พื้นที่ในการสร้างและดำเนินกิจกรรม เป็นระยะเวลา 30 ปี โดยไม่เสียค่าตอบแทน เพื่อส่งเสริมและพัฒนากีฬาฟุตบอลของชาติ ตั้งแต่ระดับพื้นฐาน (GrassRoots)ไปจนถึงการยกระดับทีมฟุตบอลทีมชาติไทย ทั้งชายและหญิงทุกรุ่นอายุ ตลอดจนบุคลากรฟุตบอลในทุกๆ มิติรวมถึงเพื่อประโยชน์ทางราชการ และประโยชน์ แก่ประชาชนในโอกาสต่างๆ