ส.บอลเตรียมแผนสองหาก กกท.ปรับปรุงสนามแข่งยู-23ไม่ทัน
พล.ต.อ. ดร. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เปิดเผยว่าทางสมาคมฯ ได้เตรียมแผนสำรอง ในกรณีที่ ทางการกีฬาแห่งประเทศไทย ไม่สามารถปรับปรุง สนามแข่งขันได้ทันตามกำหนด ก่อนการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี รอบสุดท้าย
โดยนายกสมาคมฯ ได้กล่าวถึงประเด็นนี้หลังจากผู้สื่อข่าวสอบถาม ว่า"สองวันก่อน ผมได้รับหนังสือยืนยันจากทาง การกีฬาแห่งประเทศไทย ว่า สนามสมโภช 700 ปี จังหวัดเชียงใหม่ ทางการกีฬาแห่งประเทศไทย ไม่สามารถปรับปรุง ซ่อมแซมได้ตามกำหนด เนื่องจากติดขัดเรื่องการจัดซื้อ จัดจ้าง ก็น่าเสียดาย ที่ไม่มีการจัดการแข่งขันที่เชียงใหม่ แต่เราก็มีสนามอื่นๆ ที่รองรับ"
"สุดท้าย ต้องรอดูว่า ในวันที่ 20-24 กันยายนนี้ ทางเอเอฟซี จะส่งเจ้าหน้าที่ มาตรวจความพร้อม ความคืบหน้า ของการเตรียมความพร้อม ทุกๆ สนาม ที่เรามีข้อเสนอ หรือ ได้ยื่นไป ทั้งสนาม ราชมังคลากีฬาสถาน, สนามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สนามติณสูลานนท์ ถ้าสนามที่เชียงใหม่ไม่สามารถจัดการแข่งขัน เราก็ต้องมองไปที่สนามของสโมสรใด สโมสรหนึ่ง หรือ หลายๆสโมสร เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับการแข่งขันรายการนี้"
"เพราะถ้าเราไม่สามารถเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะเรื่องสนามตามมาตรฐานของ AFC เราก็จะเสียสิทธิ์ในการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันรายการนี้ทันที มันก็เป็นหน้าตาของประเทศ นอกจากนี้ทีมชาติไทย จะเสียสิทธิ์ในการแข่งขันในฐานะเจ้าภาพด้วยทันที"
"จริงๆ แล้ว แรกเริ่ม สมาคมฯ เจตนาที่จะใช้สนามของสโมสรทั้ง 4 สนาม อาทิ สนามของบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด, บีจี ปทุม ยูไนเต็ด, เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด รวมถึง ราชบุรี มิตรผล เอฟซี และ สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด แต่ ทางการกีฬาแห่งประเทศไทย มีความปรารถนาดี อยากจะปรับปรุงสนามของรัฐ คือสนามราชมังคลากีฬาสถาน, สนามเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จังหวัดนครราชสีมา และ สนามสมโภช 700 ปี จังหวัดเชียงใหม่ รวมถึง สนาม ติณสูลานนท์ จังหวัด สงขลา ให้อยู่ในมาตรฐานของ เอเอฟซี ทางสมาคมฯ จึงได้มอบสิทธิ์ในการเตรียมสนามให้กับ การกีฬาแห่งประเทศไทย เมื่อ กกท. มีข้อขัดข้องก็น่าเสียดาย เราก็ต้องร่วมมือเพื่อผ่านอุปสรรคนี้ไปให้ได้ อย่างไรก็ตาม เราก็จะไม่ปล่อยให้การจัดฟุตบอลรายการนี้ หลุดมือไป"
"ตอนนี้เราต้องได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการจาก การกีฬาแห่งประเทศไทย ว่าท่านยังสามารถ ปรับปรุง ซ่อมแซม หรือ เตรียมการสนามราชมังคลากีฬาสถาน หรือ ส่งมอบสนาม ได้ทันภายในวันที่ 24 ธันวาคม ถ้าท่านมั่นใจ เราก็ต้องเชื่อใจ แต่ถ้าท่านไม่มั่นใจ ท่านต้องรีบบอกเรา เราจะได้ไปที่แผนต่อๆไป ในการใช้สนามของสโมสร เพราะสนามของทุกสโมสรใช่ว่าจะผ่านมาตรฐานของ เอเอฟซี ถึงแม้บางสนามจะเคยใช้สำหรับในการแข่งขันฟุตบอล เอเอฟซี แชมเปียนส์ลีก แต่มาตรฐานมันแตกต่างจาก การจัดการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี รอบสุดท้าย เพราะการแข่งขันฟุตบอลสโมสรชิงแชมป์เอเชีย ใช้ห้องแต่งตัวนักกีฬาแค่สองห้อง ซึ่งทุกสโมสรก็มีแค่สองห้อง แต่ในระดับทีมชาติ ต้องมีห้องแต่งตัว 4 ห้อง เพราะในหนึ่งวัน จะมีการแข่งขันต่อเนื่องอย่างน้อย 2 แมตช์ ไฟส่องสว่างต้องมากกว่า 800 Lux ซึ่งหลายสโมสรยังต้องปรับปรุง ตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องให้เวลา แต่ถ้าชัดเจนแล้ว เราก็พร้อมที่จะใช้แผนสอง ก็ต้องได้รับความเห็นชอบจาก เอเอฟซี ว่าสนามไหนมีความน่าจะเป็นในการปรับปรุงในระยะเวลาอันสั้น"
โดยหลังจากนี้ ฝ่ายจัดการแข่งขัน จากสหพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย (AFC) จะเดินทางมาตรวจความคืบหน้าของสนามอีกครั้งในช่วงปลายเดือนกันยายนนี้ เพื่อเตรียมลงนามความพร้อม รวมถึงการจับสลากแบ่งสายการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี รอบสุดท้าย