ส.บอลโต้กลับบังยีเรื่องบอกเลิกสัญญาสยามสปอร์ต
สมาคมฯ ชี้แจงสาเหตุบอกเลิกสัญญาผู้บริหารสิทธิประโยชน์ และยังไม่เกิดความเสียหายจากการถูกฟ้องร้อง
ตามที่ ปรากฏข่าวจากการแถลงของ นายวรวีร์ มะกูดี อดีตนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กรณี การบริหารงานของสภากรรมการชุดปัจจุบัน ทำให้สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ เกิดความเสียหายถูกศาลพิพากษาให้สมาคมจ่ายค่าเสียหาย 50 ล้านบาท และดอกเบี้ยอีกร้อยละ 7.5 ต่อปี ให้แก่บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด ( มหาชน ) ตามความทราบแล้วนั้น
สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ขอชี้แจงให้ทราบว่า
คดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด
สมาคมได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
พร้อมคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว (ตามเอกสารประกอบ 1)
และศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับเป็นอุทธรณ์แล้ว สมาคมยังไม่ได้จ่ายเงิน
จึงยังไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดกระทำการใดอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่สมาคม
ทั้งนี้ สภากรรมการ มีความจำเป็นต้องให้สมาคมบอกเลิกสัญญาเนื่องจากไม่สามารถลงมติได้ว่าสมาคมจะยึดถือสัญญาฉบับใด เพราะพบว่าสัญญาที่ทำไว้ในสมัยของนายวรวีร์ มะกูดี มีสัญญา “แต่งตั้งผู้บริหารสิทธิประโยชน์ฟุตบอลลีกอาชีพ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์” 2 ฉบับลงวันที่เดียวกัน (วันที่ 8 กุมพาพันธ์ 2556) ฉบับหนึ่งให้ผลตอบแทน 5 เปอร์เซ็นต์ (ตามเอกสารประกอบ 2) แต่อีกฉบับหนึ่งให้ผลตอบแทน 50 เปอร์เซ็นต์ (ตามเอกสารประกอบ 3)
ส่วนฉบับที่ 3 หลังจากสมาคมถูกฟ้องคดีดังกล่าวจึง ได้รับสัญญาฉบับลงวันที่ 1 กันยายน 2558 จากโจทก์ (ตามเอกสารประกอบ 4) สัญญามีลักษณะนำสิทธิประโยชน์ของสมาคมไปเป็นทุนโดยรายได้ทั้งหมดที่เกิดจากการบริหารสิทธิประโยชน์หักด้วยค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้น หากมีกำไรจะแบ่งกันคนละครึ่ง หากขาดทุนสมาคมจะไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ เลย การลงทุนลักษณะดังกล่าวเปรียบประดุจการลงทุนในห้างหุ้นส่วน สุ่มเสี่ยงต่อการทำให้สมาคมเกิดความเสียหายถึงขั้นล้มละลายได้
นอกจากนั้นสัญญานี้มีลักษณะเป็นการมอบการบริหารจัดการทั้งปวงเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของสมาคมให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคู่สัญญาอีกฝ่ายแต่ผู้เดียว การที่สภากรรมการบอกเลิกสัญญาจึงได้พบความเป็นจริงดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการปกปักษ์รักษาสมาคมไว้อย่างทันท่วงที สามารถรักษาผลประโยชน์อันเกิดจากสิทธิประโยชน์ของสมาคมไว้เพื่อนำมาพัฒนากีฬาฟุตบอลของชาติต่อไป
สภากรรมการ เข้ามารับตำแหน่ง ไม่ปรากฏหลักฐานการรับค่าตอบแทนสิทธิประโยชน์ ประกอบกับสัญญานี้กำหนดผลตอบแทนเพียง 5 หรือ 50 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ทั้งยังยกอำนาจในการบริหารจัดการสมาคมให้กับบริษัทดังกล่าวทั้งหมด ทำให้สภากรรมการไม่สามารถกำหนดทิศทาง หรือนโยบายในการบริหารจัดการสมาคมได้ และสัญญาดังกล่าวไม่เป็นธรรม ที่ให้สมาคมได้รับค่าตอบแทนสิทธิประโยชน์ 5 หรือ 50 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น
นอกจากนี้ ในระหว่างการสืบพยานในคดีดังกล่าว สมาคมยังพบหลักฐานการโอนเงินระหว่าง บริษัท คู่สัญญากับอดีตนายกสมาคม เอกสารการสั่งจ่ายระบุให้กับสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ รายการ ค่าดำเนินการ TPL 2013 ลงวันที่ 25 เมษายน 2556 จำนวนเงิน 7 ล้านบาท แต่เงินดังกล่าวถูกโอนเข้าบัญชีส่วนตัวของอดีตนายกสมาคมฯ ซึ่งนำมาสู่การที่ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวรวีร์ มะกูดี อดีตนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ที่ศาลแขวงปทุมวัน หมายเลขคดีดำที่ อ.4/2562 ในข้อหาหรือฐานความผิดร่วมกันยักยอกทรัพย์